รู้จัก Land Bridge ใต้บริบทแห่งการขนส่งสินค้าในอดีต

วีคนี้จึงมาขอมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับ Land Bridge กันสักหน่อยว่ามีความเป็นมาอย่างไรบ้าง...

Land Bridge หรือแปลเป็นไทยว่า ‘สะพานแผ่นดิน’ เดิมเป็นคำศัพท์ทางชีวภูมิศาสตร์ หมายถึง พื้นที่ที่เป็น ‘คอคอด’ ซึ่งเชื่อมแผ่นดินขนาดใหญ่เข้าด้วยกัน และใช้เป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของสัตว์ต่าง ๆ เช่น พื้นที่ประเทศปานามาที่เชื่อมระหว่างทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปอเมริกาใต้

ต่อมาเริ่มมีการใช้คำนี้ในทางคมนาคม คือ เส้นทางทางบก เพื่อใช้เชื่อมโยงระหว่างทะเลหรือมหาสมุทร แทนการใช้การขนส่งทางทะเล

ในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น มักจะใช้กับการขนส่งทางบกในระยะทางที่ไม่ไกล เนื่องจากระบบการขนส่งทางบกยังไม่พัฒนา สภาพเป็นทางเกวียนหรือเส้นทางธรรมชาติเป็นหลัก ส่งผลให้ใช้เวลาเดินทางนานและขนส่งได้น้อย เพราะข้อจำกัดของสภาพถนนและยานพาหนะ ทำให้ต้นทุนการขนส่งทางบก สูงกว่าการขนส่งทางทะเลที่ระยะทางไกลกว่า

เมื่อมีการพัฒนาระบบรถไฟหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งทางบกลดต่ำลง เพราะสามารถขนสินค้าได้ครั้งละจำนวนมากและทำความเร็วได้ดีกว่าเดิม เส้นทาง Land Bridge จึงมีระยะทางยาวขึ้น

ในช่วงปี 1880 มีโครงการแรกที่ถือได้ว่าเป็น Land Bridge สมัยใหม่ที่ใช้การขนส่งระบบราง คือ เส้นทาง Canadian Pacific Railway ที่เชื่อมโยงสองฝั่งของประเทศแคนาดา เนื่องจากช่วงนั้นมีการนำเข้าสินค้าราคาสูง เช่น ผ้าไหม เครื่องเทศ ชา จากเอเชียไปยังยุโรป โดยวิธีเดิมคือการขนส่งทางเรืออ้อมทวีปแอฟริกาหรืออ้อมทวีปอเมริกาใต้

แต่การใช้เส้นทางนี้ ช่วยร่นระยะทางด้วยการขนส่งข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วขึ้นฝั่งทางตะวันตกของแคนาดาและขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อไปยังท่าเรือทางตะวันออกของประเทศ แล้วขนส่งสินค้าทางเรือต่อไปยังยุโรป

อย่างไรก็ตามเส้นทางขนส่งสินค้านี้ ได้รับความนิยมอยู่ประมาณ 40 ปี ก็กลับไปใช้การขนส่งทางทะเล เพราะมีการขุดคลองสุเอชและคลองปานามาที่ช่วยลดระยะเวลาในการเดินเรือ แต่เมื่อคลองสุเอชและคลองปานามา มีข้อจำกัดทางการใช้งานและปัญหาทางการเมือง การขนส่งสินค้าทาง Land Bridge ของอเมริกาเหนือ ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นได้ว่า การเลือกเส้นทางการขนส่งสินค้ามีปัจจัยประกอบหลายด้าน ทั้งในด้านเทคโนโลยีการขนส่ง ความสามารถของคู่แข่ง หรือรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีระยะเวลาคืนทุนหลายสิบปี จึงควรพิจารณาให้รอบคอบเพราะเหตุการณ์ในอนาคตอาจไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้


ที่มา:

https://transportgeography.org/contents/applications/transcontinental-bridges

https://www.britannica.com/science/land-bridge