โลกคู่ขนานของ ‘ละคร’ และ ‘ชีวิตจริง’

ละครโทรทัศน์ คือ ความบันเทิงในรูปแบบหนึ่งที่อยู่คู่กับจอแก้วมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคแอนะล็อกมาจนถึงการออกอากาศระบบดิจิทัล หลังจากที่มีช่องโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้คนดูมีทางเลือกในการรับชมละครเพิ่มมากขึ้น และข้อที่ยังยืนยันได้ว่าละครโทรทัศน์ยังเป็นรายการที่ได้รับความนิยม ก็จากการจัดเรตติงของเนลสัน ที่พบว่า ละครโทรทัศน์ ยังคงเป็นรายการที่มีผู้รับชมสูงสุดของแต่ละสถานี และเป็นจุดขายของแต่ละสถานีในการช่วงชิงพื้นที่เรตติงหลังข่าวภาคค่ำ

โดยความคาดหวังของละครโทรทัศน์ในมุมคนดู ก็มีหลายเหตุผล เช่น เพื่อความเพลิดเพลิน ให้ความบันเทิงกับคนดู หรือเพื่อหลักหนีจากโลกความจริงไปสู่โลกจินตนาการ เราอาจจะเป็นนางเอกนิยายในชีวิตจริงไม่ได้แต่เราเป็นได้ในโลกละคร

นอกจากนี้บางครั้งละครก็ถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม ให้แง่คิด และเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และละครก็จะถูกตรวจสอบจากคนดูได้เช่นกันหากพบว่าเนื้อหามีความไม่เหมาะสม เช่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีกระแสแบนละครเมียจำเป็น ทางช่อง 3 ที่ถูกพุ่งเป้าไปที่บทละครที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ทำให้เกิด hashtag #แบนเมียจำเป็น #ข่มขืนผ่านจอพอกันที ซึ่งขึ้นเทรนด์อันดับ 1 และ 2 ของทวิตเตอร์ประเทศไทยในช่วงเวลานั้น

ประเด็นเนื้อหาที่ถูกพูดถึง เช่น การใส่ฉากข่มขืนในละคร พระเอกรังเกียจนางเอกที่ถูกขืนใจ แม้กระแสในโลกโซเชียลจะถูกตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมของเรื่องราว แต่ดูเหมือนว่าเรตติงตอนจบจะสวนทางกับกระแสสังคม ที่สามารถโกยเรตติงไปได้ทั่วประเทศถึง 4.7 ขณะที่ยอดชมทางออนไลน์ ก็กวาดยอดวิวรวมกัน 2 แพลตฟอร์มไปได้กว่า 500,000 วิว (TrueID, 3+)

หากเรามองว่าละคร สามารถเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่สามารถเป็นเครื่องมือในการสอนหรือกล่อมเกลาสังคมได้ การมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกฉาย อาจจะทำให้เกิดการเลียนแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในโลกความจริงที่คู่ขนานมากับโลกของละคร ผ่านการเลียนแบบตามหลักจิตวิทยา ที่มีทั้งรูปแบบของการเลียนแบบภายใน (Identification) ที่อาจจะเป็นสิ่งที่สังเกตได้ยากและต้องใช้เวลา และการเลียนแบบภายนอก (Imitation) ซึ่งการเลียนแบบภายนอกเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างง่ายและชัดเจน เช่น เด็กที่ดูเซเลอร์มูนแล้วทำท่าแปลงร่างตาม

หรือแม้แต่การเลียนแบบงานในสื่อมวลชน ที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายจากการเรียนรู้ร่วมไปกับเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เราอาจจะรู้ว่าการขับรถยนต์ขับยังไงจากการดูละคร ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงของเราอาจจะไม่เคยขับรถยนต์มาก่อน เรียกว่า Observation Learning หรือถ้าละครได้นำเสนอบทลงโทษของคนที่ทำผิด ผู้ที่รับชมอาจจะรู้สึกคล้ายกับว่าตนเองได้รับบทลงโทษไปด้วย และจะไม่กล้าทำตามที่นักแสดงทำ เรียกว่า Inhibitory Effect ซึ่งก็มีงานวิจัยมากมายที่ออกมาสนับสนุนแนวคิดเหล่านี้พอสมควร

ดังนั้น แม้ว่าละครอยู่ในจอแก้ว ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าละครที่ถ่ายทอดออกมาเป็นการแสดงที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ก็เป็นสื่อที่อาจจะส่งผลและมีอิทธิพลต่อคนดู จึงต้องถูกคาดหวังตามมาว่าจะสามารถให้คติหรือสอนคนดูได้เช่นกัน


ที่มา:

Bandura, A., (1997). Social Learning Theory. America: New Jersey.

กาญจนา แก้วเทพ. (2556). สื่อสารมวลชน : ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โพรดักส์

Instagram : @klink.official

https://www.thairath.co.th/entertain/news/2029213