เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการต่อต้านการผูกขาด ภายใต้รัฐบาลจีน มีมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยเรื่องระเบียบการค้าใหม่ ที่ป้องกันการผูกขาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยย้ำว่าจะใช้กฎหมายนี้ในทุก ๆ อุตสาหกรรม

แม้จะไม่มีการเอ่ยตรงๆ แต่ก็เชื่อได้ว่าเป็นการสกัดกลุ่มธุรกิจ e-Commerce ในกลุ่ม Big Tech ของจีนโดยเฉพาะ เพราะกำลังเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในจีน หากมองในแง่มุมของการครอบครองข้อมูลฐานลูกค้าหลายล้านรายทั่วประเทศ

โดยร่างกฎหมายฉบับใหม่ มีกฏข้อห้ามในการตั้งราคาขายในกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจมีผลต่อการทำโปรโมชั่นเพื่อทุ่มตลาด รวมถึงการผูกขาดให้ใช้เฉพาะช่องทางการชำระเงินของบางบริษัท ที่กีดกันบริการคู่แข่ง และการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้าเพื่อความได้เปรียบทางตลาด

สำหรับธุรกิจที่จะโดนผลกระทบเต็มๆ จากร่างกฎหมายต่อต้านการผู้ขาดฉบับล่าสุด จะมีตั้งแต่เว็บ Alibaba, Taobao, Tmall, JD.com รวมถึงแอปพลิเคชันในให้บริการทางการเงินอย่าง AliPay, WeChat หรือแม้แต่เว็บไซต์โซเชียลมีเดีย และผู้ให้บริการส่งอาหาร เรียกรถแท็กซี่ ที่จะไม่มีข้อยกเว้น

ทั้งนี้ สำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐ ได้ไห้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายใหม่จะป้องกันกลยุทธ์เพื่อผูกขาดตลาดของบริษัทใหญ่ผ่านแพลตฟอร์มทางธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจนจากรัฐบาลจีนในการใช้กฎหมายใหม่ น่าจะเน้นไปที่การจำกัดการใช้กลยุทธ์ด้านราคา หรือเทคโนโลยีในการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือใช้ระบบอัลกอริธึมในการควบคุมตลาด ซึ่งตอนนี้อยู่ในมือบริษัทที่มีดิจิตัลแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ อย่าง Alibaba และ Tencent ซึ่งบริษัทเหล่านี้กำลังเป็นบริษัทเงินทุนสุดทรงอิทธิพลอย่างมากในเศรษฐกิจของจีน และนี่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่อาจมองข้ามได้

รัฐบาลจีนส่งสัญญาณชัดเจนในเรื่องนี้ ตั้งแต่ที่ ‘แจ็ค หม่า’ ประกาศตั้งบริษัท Ant Group เสนอนวัตกรรมผู้ให้บริการด้านการเงินแบบใหม่ โดยใช้ฐานลูกค้า Alibaba ในการพิจารณาสินเชื่อ แทนการกู้ในระบบธนาคารรัฐ ที่แจ็ค หม่า เคยวิจารณ์ว่าเป็นระบบที่ล้าหลังไม่ต่างจากโรงรับจำนำ

การกำเนิดของ Ant Group สร้างความฮือฮาในวงการการเงินทั้งใน และต่างประเทศเป็นอย่างมาก และคาดการณ์ว่าราคา IPO ของ Ant Group จะสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่แล้วทางรัฐบาลจีนก็ออกคำสั่งด่วน สกัดการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ Ant Group ตามมาด้วยข่าวการร่างกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาดใหม่ และเข้าสอบสวนเครือบริษัท Alibaba ว่าเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายการผูกขาดหรือไม่

เมื่อเดินหน้าแล้ว รัฐบาลจีนก็ไม่หยุดแค่ Alibaba แต่จัดระเบียบกับผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทั้งหมด ด้วยกฎหมายเดียวกัน เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม

แต่ทั้งนี้ การเข้าถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ก็เริ่มเป็นสร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลหลายประเทศ ที่จำเป็นต้องเข้ามาจัดการก่อนสายเกินไป

ดังอย่างเช่น รัฐบาลกลางสหรัฐได้ยื่นฟ้องบริษัท Big Tech ยักษ์ใหญ่ ทั้ง Google และ Facebook ในข้อหาผิดกฎหมายผูกขาดด้านการตลาด ที่ตอนนี้กำลังพิจารณาในชั้นศาล

และรัฐบาลออสเตรเลีย ตัดสินใจผ่านกฎหมายคุ้มครองสื่อในประเทศ ยื่นฟ้องทั้ง Facebook และ Google ต้องจ่ายค่าคอนเท้นท์ให้แก่สำนักข่าวท้องถิ่นของออสเตรเลียเมื่อมีการอ้างอิงเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม ที่ทำให้ Google ออกมาขู่ระงับการใช้งานในออสเตรเลีย และกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังจับตาว่า บริษัท Big Tech อาจมีอิทธิพลเหนือกว่ารัฐบาลทั่วโลกแล้วในขณะนี้

ส่วนรัฐบาลกลางของสหภาพยุโรปได้เคยยื่นฟ้องร้องคดีการผู้ขาดตลาดกับ Google ให้จ่ายค่าปรับไม่น้อยกว่า 9.5 พันล้านเหรียญมาแล้วตั้งแต่ปี 2017

เรื่องการผูกขาดตลาดในโลกดิจิทัลที่เกือบจะไร้พรมแดนเพื่อครอบครอง Big Data อาจเป็นเรื่องที่จริงจังกว่าที่เราคิดก็ได้


อ้างอิง:

https://www.globaltimes.cn/page/202102/1215210.shtml

https://www.usnews.com/news/world/articles/2021-02-07/china-issues-new-anti-monopoly-rules-targeting-its-tech-giants

https://www.cnbc.com/2021/02/08/asia-markets-shares-of-china-tech-giants-alibaba-tencent-coronavirus-currencies-oil.html