'โฆษกเพื่อไทย' ย้ำรัฐจริงใจแก้ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้า อย่าหวังแค่เอื้อประโยชน์นายทุน ชี้ค่าเดินทางแพงหูฉี่ ซ้ำเติมคนไทย ทั้งที่ใช้ภาษีประชาชนสร้าง

ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเตรียมปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ 104 บาท ในวันที่ 16 ก.พ.นี้ ถือเป็นค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่สูงสุดเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในกลุ่มประเทศเอเชียที่พัฒนาแล้ว โดยก่อนที่จะปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็นอัตราใหม่ พบว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงหลายเท่า

โดยคนกรุงเทพฯ ได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละกว่า 300 บาท หากคิดเป็นรายชั่วโมง จะอยู่ที่ 37.50 บาท ต้องจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 16 - 70 บาท ขณะที่สิงคโปร์ มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 250 บาทต่อชั่วโมง แต่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแทบไม่ต่างจากไทย อยู่ที่ 17 - 60 บาท ส่วนเกาหลีใต้ ค่าเเรงอยู่ที่ 221 บาทต่อชั่วโมง ค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่ที่ 37 - 96 บาท

โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในสมัยพรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคเพื่อไทย ได้เสนอโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมของกรุงเทพฯด้วยรถไฟฟ้า ได้วางแผนและกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ 15 บาท และ 20 บาทตลอดสาย บนพื้นฐานการคิดค่าเฉลี่ย โดยนำกำไรในเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นมาชดเชยส่วนต่างในเส้นทางที่ขาดทุน ส่วนการลงทุนรัฐบาลร่วมลงทุนและอุดหนุนส่วนต่างราคา

เพื่อให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บริการสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าที่รวดเร็วและลดมลพิษ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน แต่นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีหลักคิดที่ตรงข้าม กลับมุ่งเน้นการให้สัมปทานเอกชนโดยเปิดประมูล เอื้อสัญญาให้บางบริษัทจนประชาชนผู้เสียภาษีตั้งคำถามว่าเอื้อกลุ่มทุนในหลายกรณีหรือไม่ เพราะรัฐไม่ได้มองว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องพัฒนาให้กรุงเทพฯเป็นเมืองแห่งอนาคต แต่มองกรุงเทพฯเป็นเค้กพร้อมแบ่งสรรปันส่วนกันหรือไม่ ทั้งหมดเป็นการซ้ำเติมทุกข์ให้กับคนไทยที่กำลังหมดหนทางต่อสู้กับชีวิตภายใต้ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งสองระลอก

“ปีนี้ถือเป็นปีแห่งการแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ตาม ประเทศที่เคยเติบโตต่ำกว่าเรา ตอนนี้ทิ้งห่างไปไกลไม่เห็นฝุ่น ในขณะที่ผู้นำไทยยังได้แต่สงสัยว่าทำไมเวียดนามโตกว่าไทย ส่วนคนไทยสงสัยมากกว่าว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกฯอยู่” ผศ.ดร.อรุณี กล่าว


ที่มา: พรรคเพื่อไทย