แม้เสียงจะแผ่วเบาลง แต่อุดมการณ์ยังคงเดิม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยกสุดท้ายในชีวิต จาก 'ม็อบรุ่นพี่' ผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน และเมื่อถึงวันเผด็จศึก ต้องไม่มีคำว่า...ถอย!!

นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ ‘ตู่ ศรัทธาธรรม’ เปิดใจกับ The States Times ถึงบทบาทการเมืองในช่วงหลังที่อาจจะดูเงียบไป แต่ทิศทางบนเส้นทางการเมืองไทยของเขายังคงตื่นอยู่ตลอดว่า...

“ที่หายๆ ไป โดยเฉพาะกับช่วงที่มีการชุมนุมของม็อบคณะราษฎร์ ไม่ได้แสดงว่ายุติบทบาทการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผมยังเหมือนเดิม เพียงแต่ถ้าให้เปรียบเหมือนกับนักร้อง ก็คือนักร้องที่ยังร้องเนื้อเดิมได้ แค่คีย์เสียงมันเบาลง คมน้อยลงตามวัยและยุคสมัย ฉะนั้นช่วงเวลานี้ คือ การให้เกียรติกับน้องๆ ที่ปลุกปั้นยุคแห่งการต่อสู้ด้วยตัวของพวกเขาเอง”

อย่างไรก็ตาม จตุพร ก็ยังไม่หยุดการต่อสู้เพื่อ ‘ประชาธิปไตย’ เพียงแต่หากจะต้องออกมาอีกครั้ง ก็ต้องออกมาแบบ ‘ครั้งเดียว’ แล้วต้องเป็นครั้งเดียวที่มีคุณค่า สมกับเป็นการสู้ที่ตั้งใจว่าจะเป็น ‘ครั้งสุดท้าย’

“ตั้งแต่วัยเด็ก จนหนุ่ม และบัดนี้ ผมงัดกับรัฐบาลหลายยุค มองเห็นและเข้าใจเกมการเมืองแบบเด่นชัด ชีวิตเจอถูกถอนประกันง่าย แล้วก็ถูกจับไปขังง่ายพอๆ กัน ผมจึงอยากใช้ครั้งเดียวต่อจากนี้ให้คุ้มค่าที่สุด คนบอกผมไม่ขยับ นั่นเพราะผมต้องเลือกเวลาที่ดีที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

“แน่นอนว่าช่วงเวลาที่จะออกมาต่อสู้อีกครั้ง คือ วันที่รัฐบาลตัดสินใจฆ่าประชาชน และใช้มาตรการปราบปรามหนัก วันนั้นก็จะถึงคิวผมที่จะก้าวออกมา เหมือนกับช่วงสมัยพฤษภาทมิฬปี 35 และ ช่วงเมษายนปี 53 ผมจะออกมาสู้ร่วมกับประชาชนผู้รักประชาธิปไตย”

นายจตุพร เล่าต่ออีกว่า วันนั้นอาจจะมาถึงในไม่ช้า เพราะเส้นทางของรัฐบาลในตอนนี้เริ่มตีบตัน และมองว่าอีกไม่นานรัฐบาลจะต้องพังด้วยปัญหาร่วมของประชาชน นั่นก็คือ ‘ปัญหาปากท้อง’

“อย่าลืมว่าเรื่องเดียวกันที่จะกำหนดประชาชนให้ประชาชนทุกคนพร้อมใจกันออกสู้ คือ เรื่องปากท้อง ตอนนี้เราเจอโรคระบาดโหยหิวในชีวิตมนุษย์ และกำลังระบาดไปสู่ความหิวโหยของมนุษย์

“ความหิวของมนุษย์จะทำให้คนโกรธ และรัฐจะเอาไม่อยู่ ยิ่งรัฐไม่ซึมซับบทเรียนจากรอบแรก ทั้งสนามมวยในรอบแรก และตอนนี้ก็มาจากบ่อนระยอง รวมถึงแรงงานพม่าเล็ดลอดเข้ามา จนระบาดกันทั้งแผ่นดิน มันเหมือนกับคนที่เจ็บแล้วไม่จำ เป็นความบกพร่องของรัฐ ที่ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรง คนกลัวอดตายมากกว่ากลัวโรคภัย แล้วถ้ารัฐยังบริหารประเทศแบบนี้ต่อไป เดี๋ยวก็จะพัง”

อย่างไรก็ตาม นายจตุพร ก็ได้แนะนำรัฐบาลว่า ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นเรื่องของคนยุคใหม่ รัฐบาลควรจะต้องเปิดใจรับฟังเสียงของคนยุคนี้ ที่จะก้าวขึ้นมาแทนคนยุคเก่า

“ผมอยากให้รัฐบาลมองเด็กๆ เป็น ‘อนาคตของชาติ อย่ามองเด็กเป็นศัตรู’ เพราะยุคนี้คือยุคของเขา ผมยอมรับว่าการเลือกวิถีทางของยุคหนึ่งอาจถูก แต่ก้าวข้ามไปอีกยุคหนึ่งอาจไม่ถูก ยุคแต่ละยุคมีพัฒนาการเป็นของใหม่ อย่าง ‘แฟลชม็อบ’ ในยุคนี้ตามมุมมองของผม เป็นความงดงามทางประชาธิปไตย ผมเห็นการเคลื่อนไหวและสนใจของนักศึกษายุคนี้มากกว่าตอน ตุลา 2516 และยุคพฤษภา 35 หรือยุค นปช.53

“ยิ่งไปกว่านั้น ก็ไม่ใช่แค่นักศึกษา แต่รวมไปถึงเด็กนักเรียนรุ่นลดหลั่นลงไปที่ออกมาร่วมแสดงออกทางการเมือง เหตุเพราะโลกมันแคบลงจากโซเชียลมีเดียที่ช่วยให้ทุกคนหาข้อมูลได้ ผู้คนได้ฟังปราศรัยพร้อมๆ กัน ไม่ต้องรอฟังสื่อกระแสหลักที่มีข้อจำกัดในการรายงานข่าว เทคโนโลยีทำให้ทุกคนเป็นสื่อกันได้หมด การรับรู้จึงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่าพันเท่า ทั้งฝ่ายม็อบ และฝ่ายรัฐ

“ดังนั้นการออกมาต่อสู้หรือเรียกร้องของคนรุ่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องฟัง และร่วมพูดคุยกัน เพราะประเทศใดไม่มีคนหนุ่มสาว ขึ้นมาลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ประเทศนั้นจะหาอนาคตไม่ได้ รัฐต้องใช้หูมากกว่าใช้อำนาจ ต้องรับฟังมากกว่าการใช้กฎหมาย หากใช้แค่อำนาจ หรือมองพวกเขาเป็นศัตรู บทสรุปจะจบไม่สวย

“บางเรื่องที่คุยกันได้ ก็คุยเรื่องนั้นก่อน เชื่อเหอะว่าคนเรามันไม่ได้คิดต่างกันได้ทุกเรื่องหรอก แต่จงไล่ความสำคัญไปจนเจอเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องมุ่งไปในทางเดียวกัน นั่นคือ ผลประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่คุยเรื่องของตัวเอง แต่อย่าให้ ‘ความแตกต่าง’ หรือความคิดเสนอต่าง กลายเป็นศัตรู อย่างผมเองชอบที่จะเห็นแตกต่าง บางทีก็พูดไม่เข้าหูคนบ้าง แต่เหล่านี้คือความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย

“ผมอยากให้รัฐบาลมองพวกเขาเป็นลูกเป็นหลาน ลองฟังสิ่งที่ไม่คุ้นเคยบ้าง แต่ทุกวันนี้เหมือนรัฐบาลจะไม่ฟังปัญหาของพวกเขา พอไม่ฟังก็แก้ด้วยอำนาจ เข้าจัดการ ซึ่งหากจัดการได้คนหนึ่งคน สิ่งที่ตามมา คือ อีกคนก็จะลุกขึ้นมาสู้ต่อ แล้วนั่นจะทำให้กลุ่มคนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขา ก็อาจจะออกมาอีกที การปราบปรามประชาชนเด็ก คือ การปลุกพ่อแม่ มันจะไม่มีวันจบ”

นายจตุพร ยังทิ้งท้ายอีกว่า “ข้อเรียกร้องบางเรื่องอาจจะไม่จบในรุ่นของผู้เรียกร้อง แต่อาจจะไปจบหรือสำเร็จกับอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งเป็นภารกิจของนักต่อสู้ และภารกิจทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นปัญหาของชาติที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ผมเชื่อว่ามันไม่มีวันจบง่ายๆ จะมีแต่ปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมาอีก พูดง่ายๆ คือ โลกไม่มีวันจบ ทุกอย่างเป็นวงล้อ การต่อสู้จึงเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับรัฐบาล ไม่มีทางที่จะจัดการปัญหาทุกอย่างได้จบในรัฐบาลเดียว เพราะไม่งั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลอีกต่อไป จงรับฟังทุกฝ่าย”