22 มกราคม พ.ศ. 2486 ครบรอบ 78 ปี ประเทศไทยใช้คำว่า’สวัสดี’ เป็นการทักทายครั้งแรก
ไปไหนมาไหน เจอใคร คนไทยต้องยกมือไหว้ กล่าวคำว่า ‘สวัสดี’ ซึ่งคำ ๆ นี้ มีขึ้นมากว่า 78 ปีแล้ว โดยวันนี้เมื่อในอดีต ถือเป็นวันแรกในการประกาศให้คนไทย ใช้คำทักทายเวลาเจอกันว่า ‘สวัสดี’
และผู้ที่ออกประกาศนี้ก็คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้คนไทยยุคนั้นมีความเป็นชาตินิยม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนชื่อ ‘สยาม’ มาเป็นประเทศ ‘ไทย’ หรือเปลี่ยนเนื้อร้องเพลงชาติไทยแต่เดิมมาเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบัน รวมไปถึงการประกาศให้คำว่า ‘สวัสดี’ เป็นคำทักทายในโอกาสแรกที่ได้พบกัน
การประกาศนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 โดยเป็นกรมโฆษณาการ (ชื่อเดิมของกรมประชาสัมพันธ์) ที่เป็นหน่วยงานออกประกาศข่าวนี้
กล่าวถึงคำว่า สวัสดี เป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า ‘สุ’ แปลว่า ดี งาม หรือ ง่าย และคำว่า ‘อสฺติ’ เป็นคำกิริยาแปลว่า มี แผลงคำว่า ‘สุ’ เป็น ‘สว’ (สฺวะ) ได้โดยเอา ‘อุ’ เป็น ‘โอ’ เอา ‘โอ’ เป็น ‘สฺว’ ตามหลักไวยากรณ์ แล้วสนธิกับคำว่า ‘อสฺติ’ กลายเป็น ‘สวสฺติ’ อ่านว่า สะ-วัด-ติ แปลว่า ‘ขอความดีความงามจงมี (แก่ท่าน)’
โดยผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า ‘สวัสดี’ ในช่วงแรก คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้ปรับเสียงของคำว่า ‘สวสฺติ’ ให้ง่ายต่อการออกเสียงของคนไทย จากคำสระเสียงสั้น (รัสสระ) ซึ่งเป็นคำตาย มาเป็นคำสระเสียงยาว (ทีฆสระ) ซึ่งเป็นคำเป็น ทำให้ฟังไพเราะ รื่นหูกว่า จึงกลายเป็น ‘สวัสดี’ ใช้เป็นคำทักทายที่ไพเราะและสื่อความหมายดี ๆ ต่อกันของคนไทยตลอดมา