กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการปรับตัวและจำหน่ายสินค้า GI ได้อย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นเน้นจัดทำแผนขยายตลาดสินค้า GI สู่ช่องทางออนไลน์ โดยหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมกับจุดเด่นของตัวสินค้า

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยแผนส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในปี 2564 มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย เร่งสร้างการรับรู้และขายสินค้า GI ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมดัน GI ไทยรุกตลาดอาเซียน โดยเตรียมจัดทำคำขอข้าวไทย 2 รายการเพื่อยื่นจดทะเบียนในอินโดนีเซีย และจัดโปรโมทสินค้า GI ไทย ในเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ในปี 2564 ได้มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าส่งเสริมการคุ้มครอง GI ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมีการดำเนินงานในประเทศร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยรายการใหม่ๆ อีกอย่างน้อย 18 รายการ จากเดิมที่ขึ้นทะเบียนไปแล้ว 134 รายการ และในส่วนของการขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศ ได้คัดเลือกสินค้าไทยที่มีศักยภาพจำนวน 2 สินค้า ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง มาจัดทำคำขอยื่นจดทะเบียน GI ในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อยกระดับสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานสากลและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับเกษตรกรผู้ผลิต คาดจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับสินค้า GI ให้สูงขึ้น หลังจากที่ผ่านมาสินค้าภายใต้ระบบการคุ้มครอง GI ไทยสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดโดยรวมได้กว่า 36,000 ล้านบาท”

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 การส่งเสริมการค้าออนไลน์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวและจำหน่ายสินค้า GI ได้อย่างต่อเนื่อง กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดทำแผนขยายตลาดสินค้า GI สู่ช่องทางออนไลน์ โดยหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมกับจุดเด่นของตัวสินค้า จัดอบรมเทคนิคจำเป็นในการขายสินค้าออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการ GI และเตรียมจัดทำแคมเปญส่งเสริมการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อาทิ Facebook เพจกรมทรัพย์สินทรัพย์สินทางปัญญา เพจ GI Thailand เว็บไซต์ shop@24 ฯลฯ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ผ่าน Influencer และจัดโปรโมทสินค้า GI ไทยผ่านเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น www.thailandtravel.or.jp เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพสินค้า GI ไทย ให้เป็นที่รู้จักและสร้างการรับรู้ถึงเอกลักษณ์ความแตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์อื่น”

ทั้งนี้ นอกจากการส่งเสริมการจดทะเบียน GI ทั้งในและต่างประเทศแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ยังให้ความสำคัญกับการจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าจะได้รับสินค้า GI ที่มีคุณภาพและมาจากแหล่งผลิตที่แท้จริง โดยประชาชนสามารถเข้าไปเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้า GI ต่างๆ ได้ทาง Facebook เพจ GI Thailand เพื่อร่วมสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ประกอบการ GI ให้สามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

สำหรับ ‘สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์’ (Geographical Indications) หรือ GI นั้น เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆ ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ