ธปท. แจง ‘ชาวเน็ต’ เคลียร์ชัดธนบัตรที่ระลึก 100 & 1,000 ‘ปลอมยาก’ ขอปชช.มั่นใจ แม้ไม่มีกลุ่มดาวยูไรอัน แต่ให้สัมผัส - ยกส่อง – พลิกเอียง ส่วน 1,000 บาท แยกง่าย หลังตัวธนบัตรยาวกว่า1.2 ซม.

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปล่อยธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ชนิด 1,000 บาท และ 100 บาท ออกมา และ ‘สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย’ (อ้างอิง หนังสือข่าว ธปท.ฉบับที่ 82/2563 ) 

แต่ดูเหมือนจะเป็นประเด็นเมื่อมี ‘ชาวเน็ต’ ตั้งข้อสังเกตว่า ธนบัตรชนิด 100 บาท ที่ปล่อยออกมานั้น ‘ไม่มีกลุ่มดาวยูไรอัน’ หรือ EURion constellation ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนนำธนบัตรไปถ่ายเอกสารสี (ซีรอกซ์) และนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายได้ 

งานนี้ชาวเน็ตจึงให้ความเห็นว่า จะกลายเป็นช่องว่างในการปลอมแปลงธนบัตรหรือไม่ เพราะธนบัตรชนิด 100 บาทที่ออกมานั้น ได้หมุนอยู่ในระบบกว่า 20 ล้านฉบับ เป็นเงินกว่า 2 พันล้านบาทเลยทีเดียว

เมื่อเกิดประเด็นนี้ทาง ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกมาชี้แจงว่า ธนบัตรดังกล่าว มีลักษณะการต่อต้านการปลอมแปลงตามมาตรฐานขั้นสูงในระดับเดียวกับธนบัตรหมุนเวียนตามปกติ เช่นเดียวกันกับธนบัตรที่ระลึกในอดีต ประชาชนจึงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยต่อการถูกปลอมแปลงและสามารถนำไปใช้จ่ายหมุนเวียนได้ตามปกติเช่นเดียวกับธนบัตรทุกรุ่น

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้มีการนำมาใช้วันแรก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 และมีการตั้งคำถามจากชาวเน็ต ว่ามีการป้องกันการปลอมแปลงธนบัตรหรือไม่ ทาง ธปท. จึงได้ชี้ถึง  5 จุดสังเกตของธนบัตรที่ระลึกฯ ชนิดราคา 100 ได้แก่ 1.ตัวเลขแจ้งชนิดราคา 2.ธนบัตรเป็นสีเหลืองทอง 3.ตราพระราชพิธีฯ 4.ตัวเลขแจ้งชนิดราคาในดอกไม้ และ 5.ภาพด้านหลัง  

นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถตรวจสอบธนบัตรด้วย 3 วิธีง่ายๆ คือ สัมผัส - ยกส่อง - พลิกเอียง ซึ่งมีจุดสังเกตที่สำคัญ เช่น ความนูนของการพิมพ์บอกชนิดราคาที่มุมธนบัตรและคำว่ารัฐบาลไทย ลายน้ำ แถบสีที่มีภาพเคลื่อนไหว และหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ 

ในส่วนของปัญหาที่ประชาชนมีความสับสนในการใช้ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท ที่มีความคล้ายกับธนบัตรราคา 1,000 บาท สามารถสังเกตได้ ด้วยขนาดของธนบัตรหมุนเวียน 1,000 บาท จะมีขนาดความยาวกว่าใบละ 100 ที่ 1.2 เซนติเมตร โดยธนบัตรทั้ง 2 แบบ มีตัวเลขบอกชนิดราคาที่มุมธนบัตรด้านล่างอย่างชัดเจน