ดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังมากเกินไป ส่งผลร้ายอย่างไร?

"อีกขวดน่า!" มีใครเคยพูดกับตัวเองทำนองนี้ ขณะยืนอยู่หน้าตู้แช่เครื่องดื่มบำรุงกำลังบ้างไหม?

แถมสุดท้ายก็ตัดสินใจเปิดตู้คว้ามา 1 ขวดจนได้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง วันนี้ทั้งวัน ซัดเครื่องดื่มบำรุงกำลังไปแล้ว 3 ขวด!!!

จากที่เคยได้ยินโฆษณาทางทีวีที่บอกว่า "ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด" แต่ในชีวิตจริง คือดื่มไปเรื่อย โดยเฉพาะเมื่อไรที่รู้สึกเพลีย ง่วง ซึมเซา ไม่กระปรี้กระเปร่า ก็ต้องมายืนอยู่หน้าตู้แช่แบบนี้ทุกทีไป

หน้าที่หลักของ "เครื่องดื่มบำรุงกำลัง" นั้น ทำให้สมองตื่นตัว เพิ่มพลังงาน เนื่องจากมีน้ำตาล และผสมสารคาเฟอีน ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของสมอง แต่อะไรที่กิน หรือเสพมากจนเกินไป ก็มักจะตามมาด้วยผลข้างเคียง เหมือนดังเช่น ‘คาเฟอีน’ ที่เมื่อได้รับมากจนเกินไป ผลลัพธ์ที่ออกมา ก็ดูจะไม่เป็นมิตรต่อร่างกายสักเท่าไรเลย

ร่างกายเราสามารถรับคาเฟอีนได้แค่ไหน

โดยเฉลี่ยในผู้ใหญ่ ไม่ควรรับประทานคาเฟอีนเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเครื่องบำรุงกำลังมักจะผสมคาเฟอีนต่อขวดอยู่ที่ 80 มิลลิกรัม (เทียบเท่ากาแฟ 1 แก้ว) แต่จากผลการศึกษาของหน่วยงานกุมารเวชแห่งสหรัฐฯ American Academy of Pediatrics (APP) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขปริมาณคาเฟอีนที่เห็นบนฉลากข้างขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลังนั้น มันเป็นเรื่องยากมากที่จะพิสูจน์ได้ว่า มีปริมาณคาเฟอีนจริง ๆ อยู่เท่าไรกันแน่

 

 

หากได้รับคาเฟอีนมากไป...จะมีผลเสียอย่างไร

การดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังมากเกินกว่าปริมาณที่แนะนำ หรือมากกว่า 2 ขวดขึ้นไป อาจทำให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนมากเกิน จนมีผลข้างเคียงคือ ทำให้เกิดภาวะคาเฟอีนเป็นพิษ อาการในระดับเบาที่มักจะเกิดขึ้น คือ รู้สึกวิงเวียน คลื่นไส้ กระหายน้ำ ปวดหัว นอนไม่กลับ หงุดหงิดง่าย อาการเหล่านี้สามารถเป็นแล้วหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่หากได้รับคาเฟอีนมากเกินขนาดหนัก อาจถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ เช่น หายใจลำบาก อาเจียน เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กล้ามเนื้อกระตุก รวมทั้งมีอาการชัก

 

 

คาเฟอีนกับผลร้ายในวัยรุ่น

หน่วยงานกุมารเวชแห่งสหรัฐฯ หรือ APP ยังมีรายงานถึงผลข้างเคียงที่ได้รับจากการดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังมากเกินไป โดยเฉพาะในเด็กหรือวัยรุ่น อาจทำให้เกิดการเสพติดคาเฟอีนขึ้นได้ มากไปกว่านั้น การได้รับคาเฟอีนอยู่ตลอดเวลา มีผลทำให้หัวใจเต้นเร็ว และเต้นผิดจังหวะ มีผลต่อความดันโลหิตที่สูงขึ้น รวมทั้งความเข้มของเลือดที่มากขึ้น ไม่นับรวมภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เนื่องจากในเครื่องดื่มบำรุงกำลังมีน้ำตาลผสมอยู่ในปริมาณมากเช่นกัน

 

ทั้งนี้ปริมาณของคาเฟอีนที่เหมาะสำหรับวัยรุ่น คือไม่ควรเกินวันละ 100 มิลลิกรัม แต่หากเลี่ยงได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงดีกว่า เพราะไม่ส่งผลดีใดๆ ในระยะยาว เอาเป็นว่า ถ้าง่วง เพลีย ซึมเซา หรือต้องใช้พลังงานอ่านหนังสือ หรือต้องทำงาน ลองปรับพฤติกรรมตัวเองดูดีกว่า หากอ่านหนังสือดึกๆ ไม่ไหว ก็สู้เข้านอนเร็ว แล้วรีบตื่นมาอ่านช่วงเช้า ๆ เผลอๆ หัวสมองจะแจ่มใส่กว่าเป็นไหน ๆ ส่วนคนที่ต้องทำงาน มีอาการง่วงเหงาหาวนอน ลองหาชาอุ่น ๆ จิบเบา ๆ ให้ร่างกายตื่นตัว เอาจริง ๆ ดื่มน้ำเปล่าก็ช่วยได้นะ ทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น

เก็บเครื่องดื่มบำรุงกำลังเอาไว้เป็น "ตัวช่วยสุดท้าย" ถนอมร่างกายตัวเองกันใว้ยาวๆ ดีกว่านะ


อ้างอิง:

https://www.thelist.com/164290/what-happens-when-you-drink-too-many-energy-drinks/

https://hellokhunmor.com

https://www.pobpad.com