"ชุดนักเรียน" เสรีภาพบนตัวหนู ๆ
หลาย ๆ คนที่เรียนในประเทศไทยเรา คงผ่านการใส่ชุดนักเรียนกันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหน และชุดนักเรียนนี่แหละ ที่มักจะถูกบ่งบอกให้เห็นถึงสถานะว่าเขาเหล่านั้นเป็น "นักเรียน" จริง ๆ
แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน อะไร ๆ ก็เปลี่ยนเด็กรุ่นใหม่มองว่าการใส่ชุดนักเรียนไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรไปกว่าการเรียนรู้ และมองว่าการใส่ชุดนักเรียนดูจะเหมือนเป็นการตีกรอบให้กับพวกเขาเสียมากกว่า
วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 กลุ่ม "ภาคีนักเรียนKKC" ได้ชักชวนให้นักเรียนแต่งไปรเวทไปโรงเรียน พร้อมทั้งตั้งคำถามเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนที่พวกเขาสวมใส่ว่า...
หากใส่ชุดไปรเวทไปแล้ว ครูจะไม่ให้เข้าเรียน เพียงเพราะไม่ได้ใส่เครื่องแบบ? ถ้าหากเป็นเช่นนั้นสุดท้ายแล้วนักเรียนทั้งหลายไปเรียนเพื่ออะไรกันหากสิ่งที่ครูและผู้ใหญ่ให้ความสนใจมากกว่าการเรียนคือเครื่องแบบนักเรียน?
และถ้าหากนักเรียนไม่มีเงินมากพอจะซื้อชุดนักเรียน = ไม่มีสิทธิเข้าเรียนหรอ?
ยิ่งไปกว่านั้นประเด็นที่น่าสนใจมาก ๆ คือ หากใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่?
จากการตั้งคำถามเหล่านี้ The States Times ก็เลยไปหาคำตอบ จากมุมมองของนักเรียนหลาย ๆ แห่ง ทั้งที่อยู่โรงเรียนที่เปิดโอกาสให้แต่งชุดไปรเวทไปเรียน และไม่ได้ให้ใส่ชุดไปรเวท
ผลปรากฎว่า ส่วนใหญ่มองว่าการใส่ชุดไปรเวทไปเรียนไม่ใช่เรื่องผิด หรือจะทำให้ตั้งใจและเรียนรู้ได้น้อยลง และก็ไม่เห็นด้วยกับการบอยคอตของผู้ใหญ่ที่พยายามมองว่าการไม่ใส่ชุดนักเรียนเป็นเรื่องที่ผิด
แน่นอนว่า ในมุมของผู้ใหญ่อาจจะมีเหตุผลที่ว่า ชุดนักเรียนมีไว้เพื่อความเป็นระเบียบ ทำให้เกิดการแยกแยะได้ และช่วยป้องกันปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ
แต่พวกเขาก็มองว่า ชุดนักเรียนก็เป็นเหรียญที่มีสองด้านด้านหนึ่งอาจจะเหมือนที่ผู้ใหญ่ว่ามา แต่อีกด้านหนึ่งนั้นชุดนักเรียนกลายเป็นเครื่องแบบที่ริดรอนเสรีภาพในการแต่งตัวของเหล่านักเรียนไปซะเฉย ๆ
เมื่อต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตัวเองไม่ว่าจะมุมเด็กหรือมุมผู้ใหญ่ แต่ดูเหมือนหนึ่งในคำตอบของคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ชัด ๆ นั่นก็คือ...ชุดนักเรียนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่? หลายคนก็ยังแอบเกาหัว!!