ผิดที่ ถูกเวลา

กรณีศึกษา​ โกยซีนการเมือง​ ผ่านเวที​ Cat Expo7

ต่อให้อุณหภูมิการเมืองบ้านเราจะร้อนแรงเหมือนแดดเผาแค่ไหน แต่คนไทยก็ใช่จะต้องกลัว​ เพราะวิธีดับเรื่องร้อน ๆ​ มันมีอยู่เยอะแยะ

เมื่อไม่กี่วันมานี้​ก็เพิ่งจะมีงานเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นผ่ากลางสมรภูมิการเมืองแบบคู่ขนาน​ ในชื่องาน 'Cat Expo7'​ ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 - วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ที่สวนสนุกวันเดอร์เวิลด์ (รามอินทรา กม.10) เพื่อที่ดับร้อนของคนที่อยากฉีกหนีจากโลกการเมืองสักพัก

แต่ไหงคนที่เข้าไปงาน​ Cat Expo7 ถึงแอบบ่นว่างานนี้โคตรร้อนกว่าเดิม แต่ร้อนที่ว่านี่คือ​ 'อารมณ์ร้อน'​

ก็จะไม่ให้ร้อนได้ไง!! งานก็ไม่ใช่งานฟรี​ คนอยากไปดูคอนเสิร์ตดีๆ​ เพื่อหนีการเมือง​ ก็ดั๊นนน... มาเจอดราม่าการเมืองบนเวทีดนตรีอีก​ เฮ้ย!! มันผิดที่

เรื่องมีอยู่ว่าช่วงเวลาของศิลปินวง​ T_047 ได้อัญเชิญแกนนำราษฎรขึ้นมาบนเวทีคอนเสิร์ตไม่ว่าจะเป็น รุ้ง, ไผ่ ดาวดิน, แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ พร้อมแกนนำคนอื่นๆ

ทั้งหมดได้มีส่วนร่วมร้องเพลงกับศิลปิน T_047 ซึ่งจริงๆ​ ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไร​ และจบลงด้วยดีไร้ความรุนแรงใดๆ นอกจากการชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคณะราษฎรทิ้งท้าย

แต่เรื่องที่น่าสนใจไม่ได้อยู่ที่การขึ้นมาร่วมร้องเพลงของแกนนำเหล่านี้ แต่มันอยู่ที่ความเหมาะสมของการกระทำที่เกิดขึ้น

เพราะถึงแม้แกนนำม็อบจะไม่ได้มาปราศรัยเต็มรูปแบบ​ แต่นี่ก็ไม่ใช่เวที​ 'ฉกฉวย'​ ซีน​ ที่หวังว่าจะมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้คนที่กำลังเมามันกับสิ่งที่เรียกว่า​ 'ดนตรี'​ เคลิ้มตาม

แน่นอนว่าโดยภาพรวมของงาน​ ก็มีศิลปินหลายท่านที่แสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองในแบบของตนผ่านทางเสื้อผ้า คำพูด หรือวัตถุ แบบตรงและอ้อม

แต่นั่นก็ไม่ได้ไร้มารยาทดั่งเช่นศิลปิน T_047 ที่ชวนแกนนำม็อบขึ้นมาร่วมร้องเพลง

นี่ถือเป็นเรื่องของมารยาททางสังคม​ล้วน​ เพราะเชื่อว่าผู้กระทำย่อมรู้อยู่แล้วว่า “ผิดที่” ผิดเวลา​ แต่มันดัน “ถูกเวลา” เป๊ะ ๆ

ต่อให้ทั้งคอนเสิร์ตเป็นแฟนคลีบม็อบทั้งหมด​ ก็เชื่อเถอะว่า​ บางส่วนก็คงมิได้เห็นด้วย​ เพราะงานดนตรีควรเป็นที่ของทุกคนที่มีความชื่นชอบในเสียงเพลง และไม่ควรนำความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมาเป็นประเด็น​ โดยใช้พื้นที่งานในการแสดงออก แล้วทำให้ผิดไปจากจุดมุ่งหมายที่เจ้าของงานตั้งใจที่จะจัดเทศกาลดนตรีนี้ขึ้น

การแสดงออกทางการเมืองมีมากมายหลายวิธี และก็เถียงไม่ได้ว่า “ดนตรี” นี่แหละก็เป็นอีกทางที่ใช้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ แต่ความสร้างสรรค์นั้น ก็ควรต้องอยู่บนพื้นฐานของ “กาลเทศะ” ด้วย

แยกแยะเรื่องแค่นี้ยังไม่ได้​ แล้วในอนาคตใครจะกล้าให้มาแยกแยะงานใหญ่ยิ่งกว่า​ หากประเทศไทยต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ​ ล่ะ​