บทสัมภาษณ์ รายการ Click on Clever EP.15
พิพิชชญะ ศรีดำ (น้องสไปรท์) นักเรียน Year 9 โรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่ หาดใหญ่
เด็กไทยอายุน้อยที่สุด คว้าเหรียญทอง คณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IMO 2021)
อัจฉริยะอายุน้อย เหรียญทองคณิตศาสตร์ระดับโลก พรสวรรค์ ที่มาพร้อม พรแสวง ร่วมค้นหาเคล็ดลับความเก่ง!
Q: รู้สึกยังไงบ้างที่กลายเป็นเด็กไทยที่อายุน้อยที่สุด ที่คว้าเหรียญทอง คณิตศาสตร์โอลิมปิก เวทีระดับโลก
A: ก็รู้สึกภูมิใจที่ทำได้ตามที่ตั้งไว้ แต่ว่าส่วนนึงผมรู้สึกว่ามันก็เป็นโชคด้วย เพราะคะแนนผมก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก จริงๆ ทุกคนก็เก่งเท่าๆ กันครับ บางทีมันก็อยู่ที่ว่าข้อสอบที่เราเกร็งมากับที่ออกตรงกันหรือเปล่า
Q: เดินสายแข่งขันทางวิชาการตั้งแต่เด็ก เพราะความชอบ?
A: ตอนประมาณป.2 โรงเรียนได้มีโอกาสเชิญผมไปลองแข่งขันสนามหนึ่งของสสวท. ผมรู้สึกว่ามันก็สนุกดีเวลาที่ได้ทำโจทย์ ผมก็เดินสายนี้มาตั้งแต่ตอนนั้น
Q: ทำไมรู้สึกสนุกกับการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ เห็นเสน่ห์อะไร?
A: ผมรู้สึกว่าโจทย์มันแต่งยังไงก็ได้ พอมันพลิกแพลงอะไรนิดนึงแล้วมันดูน่าสนใจ บางทีน่าค้นหา คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่คำตอบแทบจะมีตายตัวเลย แต่ตัววิธีการที่จะได้มาซึ่งคำตอบนั้นบางทีมันก็ต้องใช้ไอเดียที่น่าสนใจ การที่จะได้มาซึ่งไอเดียนั้นก็เป็นขั้นตอนที่สนุก บางทียิ่งยากก็ยิ่งสนุก ผมก็งงตัวเองเหมือนกัน
Q: วิถีชีวิตของเด็กสายแข่งขันคณิตศาสตร์?
A: หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง นอนไป 8 เหลือ 16 ผมก็จะแบ่งเวลาออกมาเป็น 8 กับ 8 เอาไปพัฒนาตัวเองในรายวิชาคณิตศาสตร์ อีกส่วนจะเอาไปทำกิจกรรม ตั้งแต่เช้ามาผมก็จะเริ่มเรียนก่อน พอรู้สึกว่ามันเริ่มเครียดแล้ว ผมก็จะไปพัก อาจจะไปทานข้าวหรือเตะบอล จากนั้นก็มาพัฒนาต่อ สลับกันไปเรื่อยๆ ครับ บางทีมันก็ไม่ได้เป๊ะขนาดนั้น มียืดหยุ่นได้บ้าง
Q: การวางตารางชีวิตแบบนี้ได้มาจากไหน?
A: หลักๆ ก็ได้มาจากคุณพ่อครับ คุณพ่อชอบแบ่งตารางเวลาและเน้นย้ำเรื่องเวลาอยู่เสมอ เขาจะย้ำว่า ในหนึ่งวันแต่ละคนมีเวลาเท่ากัน เราก็ใช้เวลาให้มันคุ้มค่า หากเราแบ่งเวลาจะเป็นตัวช่วยให้เรามีวินัยและทำให้เรารู้ว่าเวลานี้ต้องทำอะไร เพื่อไม่หลุดออกจากลู่ทางไปครับ เพราะหากเราไม่มีตรงนี้ เราก็จะไม่รู้ว่าวันนี้เราได้แบ่งเวลาไปยังไงบ้าง บางทีอาจพัฒนาได้ไม่ครบ
Q: ได้ข่าวว่าชอบออกกำลังกาย การออกกำลังกายพัฒนาเราอย่างไรบ้าง?
A: ช่วงเย็นๆ ประมาณ 5-6 โมงก็มีเตะบอลหน้าบ้านครับ บางครั้งก็เล่นบาสกับครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนที่โรงเรียนก็ชวนกันไป แล้วก็ปั่นจักรยานครับ หลักๆ ก็มีเท่านี้
การออกกำลังกายทำให้เราผ่อนคลาย บางทีถ้าทำโจทย์คณิตศาสตร์เยอะๆ อาจจะมีความเครียด พอไปออกกำลังกายแล้วรู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้อาจจะช่วยให้เรามีไหวพริบมากขึ้นด้วย ซึ่งตรงนี้ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันเกี่ยวกันหรือเปล่า แต่บางทีที่เราเล่นบอลเล่นบาสมันก็ต้องใช้ไหวพริบ ซึ่งตรงนี้ก็จะมาช่วยในการฝึกแก้โจทย์ด้วย
Q: เมื่อต้องแข่งขัน รู้สึกเครียดและกดดันไหม? บริหารจัดการความกดดันอย่างไร?
A: จริงๆ ก็มีเครียดเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองจากการมองโจทย์คณิตศาสตร์ว่าน่าเบื่อ เครียด มองให้มันสนุก แล้วเอนจอยไปกับมัน จะช่วยลดความเครียดได้ระดับนึงครับ ผมชอบไปหาโจทย์ที่ท้าทายเอามาทำ บางทีก็คิดไม่ออก แต่ผมก็สอนตัวผมเอง รู้สึกว่าถ้าเกิดมันยิ่งยากก็ยิ่งท้าทาย ยิ่งสนุก
ถ้าเป็นในห้องสอบแล้วทำไม่ได้ผมก็เครียดอยู่ครับ แต่ถ้ามาฝึกทำแบบนี้ เวลามันมีเหลือเฟือ บางโจทย์ผมก็ใช้เวลา 2-3 วันในการคิดก็มี แต่ถ้ามันคิดไม่ออกแล้วจริงๆ ผมแนะนำว่าให้ดูเฉลยดีกว่า มันจะได้ไอเดียใหม่ๆ ไปทำโจทย์ข้ออื่นด้วย
Q: คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนอย่างไรบ้าง?
A : คุณพ่อคุณแม่ก็จะช่วยหาสนามสอบหรือบางทีก็จะช่วยหาข้อสอบที่น่าสนใจมาให้ผมลองทำ แล้วก็ช่วยไกด์แนวทางที่จะไปถึงจุดที่ผมต้องการ ผมรู้สึกว่าการที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกอะไรประมาณนี้ก็เป็นเกียรติที่น่าชื่นชม ผมก็เลยตั้งไว้
Q: คติประจำใจ “I would like to say every moment counts for you, so make the time that you spend for your dreams a very special moment, make sure that you do something that you’ll be happy with when you go back and look at yourself” – Jennie Kim I BLACKPINK บ่งบอกถึงความคิด ตัวตนของตัวเองอย่างไร?
A: สรุปง่ายๆ ก็คือ เราทำสิ่งที่เราต้องการ และจงระลึกไว้ว่า อย่าใช้เวลาให้มันสิ้นเปลือง เราใช้เวลากับสิ่งที่จะพัฒนาตัวเราให้ไปถึงจุดนั้น เพื่อที่ว่าในอนาคตเรามองกลับมาที่ตัวเราในวันนี้ เราจะไม่เสียดายทีหลังครับ
Q: นิยามความสุขที่เราได้เจอกับสิ่งที่รักอย่างคณิตศาสตร์
A: ความสุขมันก็เหมือนกับ เวลาผมทำโจทย์คณิตศาสตร์แล้วบางทีทำไม่ได้ มันก็ยิ่งท้าทาย เหมือนติดกับมันไปแล้ว เอาออกจากหัวไม่ได้ มันก็กลายเป็นความสุข
Q: คุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงไหมเวลาทำโจทย์หนักๆ ให้บาลานซ์ชีวิตด้านอื่นอย่างไรบ้าง?
A: จริงๆ ก็มีมาบอกให้บาลานซ์เรื่องการทำโจทย์และเรื่องการไปทำกิจกรรมอย่างอื่น บางทีเขาก็จับเวลาแล้วหาเวลาพาครอบครัวไปทำกิจกรรมด้วยกัน ตรงนี้ก็ช่วยพักผ่อนสมอง ทำให้ไม่เครียดมาก
Q: การเรียนในโรงเรียนอินเตอร์กับโรงเรียนไทยแตกต่างกันอย่างไร?
A: โรงเรียนอินเตอร์จะให้สิทธิในการเลือกมากกว่า ถ้าเราถนัดอันนี้ เขาก็จะส่งเสริมด้านนี้โดยเฉพาะ หรือถ้าเกิดเราไม่ถนัดด้านนี้ คุณครูก็จะเทคแคร์เราโดยเฉพาะ อาจจะมากกว่าเพื่อนคนอื่น ส่วนโรงเรียนไทยบางทีเด็กเยอะ เขาก็จะดูเป็นภาพรวมไป เช่น ทั้งห้องดูเกรดโดยรวมแล้วอ่อนวิชานี้ ก็จะไปส่งเสริมวิชานี้
Q: มีงานอดิเรกไหม
A: ส่วนใหญ่ก็ฟังเพลงครับ เวลาว่างๆ ผมก็หาเพลงในยูทูปฟัง ผมชอบฟังเพลงเกาหลีครับ ฟังไม่ออกผมก็เลยชอบฟัง รู้สึกมันน่าสนใจ ถ้าฟังออกเดี๋ยวเราจะมีความรู้สึกร่วมไปกับมัน พอฟังไม่ออกก็ไหลไปตามเนื้อ
Q: มีความฝันไหม ได้เหรียญทองโอลิมปิกวิชาการแล้ว หลังจากนี้จะยังคงอยู่ในเส้นทางการแข่งขันวิชาการต่อไปไหม?
A: ที่ผมคิดไว้ก็จะไปแข่งรายการนี้อีก 1 ปีครับ จากนั้นผมก็อาจจะลองใช้ชีวิตดูครับ หาประสบการณ์ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนี้ที่เล็งไว้อยากไปศึกษาต่อต่างประเทศ อย่างอเมริกา มหาลัยในฝันก็ Stanford MIT อยากไปเรียนด้านเทคโนโลยี รู้สึกว่ามันก้าวหน้าดี ที่ผมสนใจก็มี อีลอน มัสก์ กับ สตีฟ จอบส์ เขาพัฒนาเหมือนรับช่วงต่อจากเทคโนโลยีและพัฒนาให้มันไปได้ไกลกว่าเดิม ไม่ได้ย่ำอยู่กับที่
Q: มีบทความ เว็บไซต์ หรือหนังสืออะไรที่อยากแนะนำไหม?
A: หนังสือที่ผมชอบก็จะเป็น ซีรีย์ของเซเปียนส์ ผมว่ามันบอกกล่าวเกี่ยวกับตัวมนุษย์ได้ดีครับ บางทีเราอาจจะไปสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาพัฒนาเทคโนโลยีได้พอกับความต้องการ
Q: ฝากคำแนะนำสำหรับเพื่อนๆ น้องๆ ในการเตรียมตัวที่จะไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก
A: พูดถึงเรื่องการคิดก่อนแล้วกันนะครับ อันดับแรกคืออย่าไปกลัวโจทย์ ผมเห็นเด็กหลายคนเวลาเห็นโจทย์มาจากสนามนี้คิดว่ามันต้องยาก เราไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องนั้น เราแค่ทำมัน แล้วก็หวังว่ามันจะทำออก ให้เราตั้งเป้าไว้สูง เพราะการที่เราตั้งเป้าไว้ที่จุดนึงเนี่ย เราไม่มีทางไปเกินเพดานเป้านั้นแน่นอน อาจจะตกลงมานิดหน่อย ถ้าเกิดเราอยากได้เลเวล 3 ให้ตั้งเป้าไว้เลเวล 4 เลเวล 5 ไปเลยก็ได้
ใช้เวลาเตรียมตัวจริงๆ สองปีครับ ตามขั้นตอนปกติ แต่ถ้าเรามีการตกรอบ อาจจะต้องไปวนใหม่อีกปีนึง ซึ่งการที่จะป้องกันตรงนี้ได้ เราก็ต้องทำโจทย์เยอะพอสมควร เพื่อให้มีประสบการณ์ของโจทย์ที่หลากหลาย เวลาเจอโจทย์อะไรเราก็จะได้มีไอเดียที่จะนำไปประยุกต์ใช้ต่อครับ
Q: เวลาผิดหวัง ให้กำลังใจตัวเองอย่างไร?
A: ถ้าผมผิดหวัง ผมก็จะพยายามลืมเรื่องนั้นไปครับ เพราะถ้าเราไปจมอยู่กับตรงนั้น มันก็จะยิ่งเศร้า ผมก็อาจจะไปหากิจกรรมอย่างอื่นมาทำเพื่อปลอบใจตัวเอง อย่างเช่นเล่นกีฬา แล้วค่อยกลับมาทำโจทย์ใหม่ พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
.
.
VIDEO
.
VIDEO
.