Saturday, 12 October 2024
WEEKEND NEWS

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2567 : ทำไม? ต้องเวียนว่ายตายเกิด’

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ทำไม? ต้องเวียนว่ายตายเกิด’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

คำถาม: ทำไมจึงเกิดการเวียนว่าย ตาย เกิด และใครเป็นผู้บัญญัติเรื่องนี้?

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท) : ก็เหมือนกับกลางวันกลางคืน เป็นธรรมชาติ ไม่มีใครบัญญัติ

เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น เราก็สมมุติว่ากลางวัน แล้วใครไปทําให้พระอาทิตย์ขึ้น? ก็ไม่มีคนทํา พระอาทิตย์นั้นอยู่คงที่

ซึ่งนักดาราศาสตร์ค้นพบแล้วว่า ตัวหมุนมันคือโลก แต่เนื่องด้วยเราอยู่ในโลก มันใหญ่เรามองไม่เห็นเราก็นึกว่าพระอาทิตย์มันเคลื่อนมันขึ้นมันตก

ฉะนั้น จึงไม่มีใครสร้างกลางวัน ไม่มีการใครสร้างกลางคืนฉันใด การเวียนว่ายเราเกิดก็ฉันนั้นแหละ เป็นเรื่องธรรมชาติ

เป็นสิ่งที่มีมาอยู่แล้ว ซึ่งพระพุทธเจ้า ตรัสว่า มีเกิดขึ้น ดํารงอยู่ สูญสลายไป แต่พระพุทธเจ้า ท่านรู้เหตุรู้ผล และนํามาสอนพวกเรา ให้รู้ว่าการเกิด มันจะนํามาซึ่งความเจ็บ นํามาซึ่งความแก่ แล้วสุดท้ายนํามาซึ่งความตาย

ดังนั้น เมื่อความเจ็บ ความแก่ ความตาย เป็นทุกข์ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ท่านเลยสอนให้เราออกจากทุกข์ นี่คือเหตุใหญ่ของอริยสัจ 4 ประการ...

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2567 : ไม่มีเงิน ไม่มีเวลา แต่อยากได้บุญ

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ไม่มีเงิน ไม่มีเวลา แต่อยากได้บุญ’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

💛คำถาม: ไม่มีเงิน ไม่มีเวลา แต่สวดมนต์อยู่บ้านถือว่าทำบุญไหม แล้วจะได้บุญเท่าคนอื่น ๆ หรือไม่?

🔔พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): อยากให้ย้อนกลับไปดู ‘บุญกิริยาวัตถุ 10’ การทำบุญตักบาตร ก็เป็น 1 ใน 10 เช่นเดียวกับการสวดมนต์ ทำสมาธิ การรักษาศีล

เมื่อถามว่าจะได้บุญเท่าคนอื่น ๆ หรือไม่นั้น มองง่าย ๆ คือ จาก 10 ข้อ เราทำแค่ 2 ข้อ ก็แปลว่าเราสู้คนอื่น ๆ ที่ทำไป 8 ข้อไม่ได้ เป็นตรรกะง่าย ๆ หากทำเท่าคนอื่น ๆ ก็ได้เท่าเขา 

โดยทั่วไปที่พบเห็นคือ ญาติโยมมักจะทำแบบไม่ต่อเนื่อง สวดมนต์ไม่ต่อเนื่อง นั่งสมาธิไม่ต่อเนื่อง แต่อยากได้บุญต่อเนื่อง อยากได้ความดีต่อเนื่อง ก็ขอให้ปรับพฤติกรรมใหม่ อย่าไปลังเล อย่าไปสงสัย ทำอะไรได้ก็ทำเลย

💛คำถาม: แล้วแค่สวดมนต์อยู่บ้านได้บุญไหม?

🔔พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ใน ‘บุญกิริยาวัตถุ 10’ มีข้อที่กล่าวถึงการรักษาศีล ก็ไม่ต้องใช้เงิน ฟังธรรมก็ไม่ต้องใช้เงิน ฟังยูทูบ ฟังรายการธรรมะ มีโทรศัพท์ แต่เราไม่มีเงินก็ฟังได้ การแผ่ส่วนบุญให้เพื่อน ทำความเห็นให้ตรง ขวนขวาย ช่วยเหลือกิจการงาน ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ลองกลับไปดู ‘บุญกิริยาวัตถุ 10’ ได้เลย

ส่วนที่บอกว่าไม่มีเวลา ไม่จริง หลวงพ่อเชื่อว่ามีเวลาแน่นอน เราต้องมาจัดสรรปันเวลา แค่ 10 หรือ 20 ก็ได้แล้ว แค่ต้องจัดสรรเวลาให้ดี 

ส่วนเรื่องเงินทำบุญ ถ้ามีเงิน แต่มีน้อย ก็ใช้วิธีทำบุญด้วยการใช้เงินให้ลดลง อย่าให้ตัวเองลำบาก แล้วไปมุ่งสวดมนต์ให้มาก ๆ ความอ่อนน้อมถ่อมตนก็เป็นบุญในทุกวัน ทั้งต่อผู้ใหญ่ ผู้น้อย ต่อผู้ร่วมงาน แล้วก็ยินดีในบุญคนอื่น

หากเราสร้างบุญด้วยเหตุที่ถูกต้อง เดี๋ยวก็จะมีเงิน มีปัจจัยเข้ามาสนองเราเอง

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2567 : วัดใหญ่ วัดเล็ก เราควรทำบุญวัดไหน?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘วัดใหญ่ วัดเล็ก เราควรทำบุญวัดไหน?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

🔔คำถาม: คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าการทำบุญในวัดใหญ่ จะได้บุญเยอะ แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งออกมาค้าน และบอกว่า ทำบุญกับวัดป่า วัดเล็ก ๆ ได้บุญมากกว่า แท้จริงแล้วเรื่องนี้มีคำตอบอย่างไร?

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): พระพุทธเจ้าทรงให้หลักในการให้ไว้ดังนี้ (1) วัตถุทานดี: สิ่งที่จะให้ต้องมีคุณภาพและสะอาด ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่ต้องมีคุณค่า (2) เจตนาความตั้งใจ: ต้องมีเจตนาที่ดีในการให้ เช่น ตั้งใจเพื่ออนุเคราะห์หรือบูชา (3) ผู้รับ: ผู้ที่ได้รับต้องใช้สิ่งที่ได้รับไปในทางที่ดี ไม่ทิ้งหรือทำให้เสียหาย

ดังนั้นจะเป็นวัดใหญ่ วัดใหม่ วัดเก่า วัดป่า วัดบ้าน หรือวัดแบบใดก็ได้ทั้งนั้น 

แต่หากเจตนาไม่บริสุทธิ์ ของที่ทำก็ไม่ดี เมื่อผู้รับรับของไปแล้วก็ใช้แบบสุรุ่ยสุร่าย ก็เกิดความเสียหายทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นวัดแบบใด

ดังนั้น เมื่อใดที่มีคนมาบอกบุญเรา แล้วเราพินิจ พิจารณา ใคร่ครวญก่อน เป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ ไม่ใช่เรื่องบาป ยิ่งทุกวันนี้มีเครื่องมือในการสืบค้นอยู่แล้ว เราก็สามารถรู้ถึงบรรยากาศของที่นั่นด้วยว่าสะอาดสะอ้านมั้ยมีกิจกรรมอะไรบ้างที่เอื้อต่อชุมชน

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2567 : ‘คนรวย’ ทำบุญด้วยอะไร?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘คนรวยทำบุญด้วยอะไร?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

👍 คำถาม: ‘คนรวย’ ทำบุญด้วยอะไรถึงรวย?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): คำถามนี้จะตอบแบบลึก ๆ ฉะนั้นต้องเปิดใจให้กว้าง ในเรื่องของสมบัติ ความร่ำรวย พระพุทธเจ้าตรัสไว้ 4 แบบ ดังนี้

บุคคลแบบที่ 1 ในอดีตชาติ เวลาทำบุญ (คนไทยจะเข้าใจว่าเป็นการบริจาค เลี้ยงพระ ถวายอาหาร ใส่บาตร แต่จริง ๆ มีมากกว่านั้น) ถ้าทำบุญด้วย ‘ทรัพย์’ (วัตถุทาน) แต่ไม่ได้บอกกล่าวผู้ใด ทำกันเองภายในครอบครัว เกิดชาติต่อไปก็จะเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวย มีอันจะกิน มีทรัพย์พร้อม แต่จะไม่มีบริวารสมบัติ คือไม่มีพี่น้อง ไม่มีลูก รวยอยู่คนเดียว โดดเดี่ยว เพราะไม่ได้เชิญชวนใครมาทำบุญ

บุคคลแบบที่ 2 ในอดีตชาติ เป็นคนไม่ค่อยมีทรัพย์ หรือมีน้อย ทำบุญด้วยทรัพย์ที่น้อย แต่ชวนคนอื่นทำบุญเสมอ พอไปเกิดในอีกชาติอีกภพ ก็จะเกิดในครอบครัวปานกลาง ค่อนไปทางแย่ ไม่ค่อยมีทรัพย์สมบัติ มีแต่บริวารสมบัติมาก

บุคคลแบบที่ 3 เป็นคนที่ไม่ทำบุญ และไม่ชวนใครทำบุญ ร้ายไปกว่านั้นยังเหน็บแนมคนทำบุญอีก เมื่อไปเกิดในอีกชาติภพก็จะเป็นคนอนาถา เช่น ยากจน ถูกทิ้ง ไม่มีคนข้างกาย พี่น้องก็ไม่มี เรียกว่าไม่มีใครเอา

บุคคลแบบที่ 4 ทำบุญตามสมบัติที่ตนเองมี เชิญชวนผู้อื่นมาทำบุญ เคารพใคร รักใคร ก็เชิญชวนมาร่วมทำบุญ ทำด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ส่งผลให้เมื่อไปเกิดในชาติต่อไป ก็จะมีสมบัติ มีบริวารสมบัติ ตามสิ่งที่เขาทำมา 

ดังนั้นการที่คนไทยทำบุญ แล้วมีการเชิญชวนผู้อื่นมาทำบุญ ก็เปรียบเสมือนทำตามพุทธพจน์ข้อที่ 4 (บุคคลแบบที่ 4) เพราะการบอกบุญไม่ใช่การรบกวน ทั้งเขาและเรา 

มาถึงคำถามที่ว่าคนรวยทำบุญด้วยอะไร? เขาก็ทำตามอย่างใน 4 ข้อที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ยกตัวอย่างเช่น ชาวจีนโพ้นทะเลที่ล่องเรือมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยก่อนนี้ ตอนมาก็อาจจะไม่มีอะไรติดตัว ไม่มีสมบัติ แต่จริง ๆ เขามีสมบัตินะ นั่นคือ มือ เท้า ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีธรรมะติดตัวมา คือความกตัญญู ความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์สุจริต และถ้าให้เปรียบถึงอดีตชาติ คนกลุ่มนี้ก็อาจจะเป็นคนมีทรัพย์น้อย ทำบุญน้อย แต่มีกัลยาณมิตรดี คบเพื่อนดี ได้สวดมนต์ ภาวนา ทำสมาธิ มีสติ

ลองสังเกต เราจะเห็นว่าคนรวยจำนวนมาก มีปัญญาทุกคน ยังไม่เห็นคนรวยที่ไหนโง่เลย

ขอฝากข้อคิดอย่างหนึ่งคือ ‘อย่าคิดรวยทางลัด’ พึ่งโชค พึ่งดวง แบบนี้ไม่สนับสนุน

👍 คำถาม: แล้วคนที่ถูกหวย ลอตเตอรี่ ทำบุญอะไรมา? หรือเป็นเพราะความบังเอิญ?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ตัดเรื่องความบังเอิญทิ้งไป ไม่มีศาสนาไหนสอนเรื่องความบังเอิญ ความบังเอิญไม่มีอยู่จริง มีแต่เหตุทั้งนั้น

สมมติว่าถูกรางวัลที่ 1 แสดงว่าเขาต้องเคยได้ทำบุญไว้ในอดีต ได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้า พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง หรือได้ทำบุญกับพระอรหันต์ แต่เขาก็ทำบาปเหมือนกัน ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดมาในชาติที่ยากจน แต่วันหนึ่งที่ผลแห่งทานที่เคยทำมันถึงเวลาให้ผล เขาก็จะได้รับผลนั้น อย่าคิดว่าโชคดี ไม่ใช่เรื่องโชค แต่เป็นเรื่องของการกระทำและผลบุญที่สั่งสมไว้

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567 : เทพ เทวดา อยู่ที่ไหน?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘เทพ เทวดา อยู่ที่ไหน?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

คำถาม: การที่เราไหว้เทพต่าง ๆ ที่บ้าน แท้จริงแล้วเทพท่านประจำอยู่ที่ไหน?

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ท่านอยู่ในภพภูมิของท่าน เหมือนลม ที่อยู่ทุก ๆ ที่ เรานั่งอยู่ตรงนี้ก็มีลม มีออกซิเจน มีลมหายใจ เทพท่านก็อยู่แบบนี้แหละ อยู่ทุกที่ เราไหว้ท่าน ระลึกถึงท่าน ท่านก็ทราบได้ทันที ส่วนท่านจะช่วยหรือไม่ช่วยก็อยู่ที่บุญของเรา

คำถาม: มีบางคนไม่เชื่อเรื่องเทพเจ้า เทวดาเลย ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละคนมีเทพ เทวดาประจำตัวหรือไม่?

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): มีสิ ต่อให้ไม่เชื่อก็มี เพราะการมีเทวดาไม่ได้เกี่ยวกับเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่เขา (คนนั้น ๆ) ไม่ได้รับประโยชน์จากการมีเทวดา เป็นการมีที่แห้งแล้ง เป็นการมีแบบอาภัพ และหากคน ๆ นั้นไม่ได้พฤติตนดี เทพ เทวดาประจำตัวก็จะไม่มีพลัง 

ต้องเข้าใจด้วยว่า เทพ เทวดา อารักษ์ บางท่าก็เป็น ‘สัมมาทิฏฐิ’ บางท่านก็เป็น ‘มิจฉาทิฐิ’ (ในองค์เทพนั้น ๆ เทวดานั้น ๆ) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อโจรทำพิธีบวงสรวง เชิญมาเทพมา ท่านก็มา โจรขอให้ปลอดภัย ท่านก็ช่วย แปลว่าท่านก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นอย่างไร ถูกหรือผิด

หากพูดตรง ๆ เทพชอบให้คนไหว้ ถ้าคนไหว้ท่านก็ชอบหมด ผู้หญิงก็ชอบ ผู้ชายก็ชอบ แต่ถ้าไม่ไหว้ท่าน ท่านก็ไม่อยู่ อย่างศาลที่ร้างไป เพราะท่านไม่อยู่ ที่ใดที่ท่านอยู่มาก ก็จะมีผู้คนไปไหว้ ไปกราบมาก

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2567 : ทำบุญตอนนี้ ได้บุญตอนไหน?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ทำบุญตอนนี้ ได้บุญตอนไหน?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

คำถาม: ทำบุญชาตินี้ ทำไมต้องหวังผลชาติหน้า?

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ต้องเคลียร์และทำความเข้าใจก่อน ในเรื่องของการทำบุญ ทำบาป ทำเดี๋ยวนั้น มันได้เดี๋ยวนั้นเลยนะ ยกตัวอย่างเช่น หากเราตีหัวคน เป็นการทำบาป ตีเดี๋ยวนั้น ก็เกิดเรื่องเดี๋ยวนั้น หรือเรายิ้มให้เพื่อนเดี๋ยวนั้น เขาก็ยิ้มตอบ ก็เป็นบุญเดี๋ยวนั้น หรือเรากราบพระ เราไหว้พระ เรารักษาศีล ทำแล้วมันได้เลย มันไม่ได้รอเลย แต่ว่าผลที่มันจะเกิดขึ้น บางครั้งเกิดมากเดี๋ยวนั้น บางครั้งก็ต้องรอเวลาที่มันจะเกิด คือมันอยู่ที่ปริมาณ 

สมมติถ้าตีหัวคนธรรมดา ๆ ก็เป็นเรื่อง หากตีหัวพระสงฆ์ เรื่องก็จะใหญ่ขึ้น และหากไปตีหัวผู้มีอำนาจใหญ่โต เรื่องก็ยิ่งใหญ่โตขึ้นตามไปด้วย จะเห็นได้ว่า เป็นการตีเหมือนกัน แต่วัตถุที่เป็นเหตุให้เกิดขึ้นจะมีพลังต่างกัน

ส่วนเรื่องทำบุญ เช่น การใส่บาตร ใส่ส้ม 1 ผล ใส่แกง 1 ถุง ใส่ข้าวสุก 1 ถุง ใส่น้อย ๆ แต่ใส่ทุกวัน บุญก็สะสมทุกวัน หรืออย่างเช่นการเรียนหนังสือ เข้าชั้นอนุบาล ประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย ถามว่าตอนเรียนในมหาวิทยาลัย ความรู้สมัยอนุบาลติดตัวมาด้วยหรือไม่? แน่นอนว่าติดตัวมาด้วย เพราะเราอ่านออก เขียนหนังสือได้ นี่แหละเปรียบเสมือนการสะสมบุญ สะสมเรื่อย ๆ ต่อเนื่อง

ตราบใดที่เรายังทำบุญอยู่ ทำบุญสม่ำเสมอ เติมบุญอีกเรื่อย ๆ ทั้งบุญเก่า บุญใหม่ก็ส่งผลให้เกิดความสุข เกิดความสำเร็จ 

มีพระบาลีกำกับว่า ‘ยัง ยัง เทวาภิปัตเถนติ สัพพะเมเตนะ ลัพภะติ’ แปลว่า ‘บุคคลมนุษย์และเทวดา ปรารถนาผลเลิศ ผลประเสริฐอันใด ผลเลิศ ผลประเสริฐอันนั้น จะสำเร็จได้ด้วยบุญดังนี้’

ดังนั้นเมื่ออยากจะให้เกิดความสุข เกิดความสำเร็จ ก็พึงทำบุญ ไม่ต้องรอว่าจะไปรับผลชาติหน้า แต่จะได้รับผลชาตินี้

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2567 : การเกิดเป็นทุกข์ แล้วทำไมยังต้องเกิด?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘การเกิดเป็นทุกข์ ทำไมยังต้องเกิด?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

คำถาม: ถ้าการเกิดเป็นทุกข์ แล้วทําไมถึงยังให้มนุษย์เกิดอีก? แล้วอะไรจะการันตีว่าถ้าเดินตามทางพุทธศาสนา จะพบความสุขหรือนิพพาน ทั้งที่บางคนก็เกิดมาทุกข์บางคนก็เกิดมาสุข เพราะบางศาสนาหลักการมันง่ายกว่าศาสนาพุทธหรือเปล่า?

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): การเกิดหรือไม่เกิด เป็นเรื่องของเรานะ ไม่มีใครมาให้เกิดหรือไม่ให้เกิดนะ ไม่มีเทพหรือศาสดาองค์ใดมาอนุมัติให้เราเกิด เพียงแต่ว่าในคําสอนทางพุทธเจ้า สอนไว้ว่าถ้าไม่อยากเกิดก็ให้ปฏิบัติธรรมให้ได้บรรลุเป็นขั้น ๆ ไป แต่การจะบรรลุธรรมให้สิ้นภพสิ้นชาติ ก็ไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ ถ้าเรามานะและทำถึง

ยกตัวอย่าง การเรียนจบปริญญาตรี โท เอก มีคนเรียนจบมากมาย คนเรียนไม่จบก็มาก คำถามคือคนที่เรียนไม่จบ ทำไมถึงไม่เรียน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็มีเหตุ มีปัจจัยมากมายต่างกัน เช่น สุขภาพไม่ดี เงินทองไม่พอ เวลาไม่เอื้ออำนวย จึงไม่สามารถกำหนดให้ทุกคนเหมือนกันหมดไม่ได้

ฉะนั้น ตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เปรียบเสมือนพระองค์บอกทาง ส่วนการเดินไปถึงจุดหมายหรือไม่เป็นเรื่องของเรา บางคนอยากไปถึงไว ก็รีบเดิน บางคนไม่ได้อยากถึงไว ก็จะเดินช้า ๆ ดังนั้นไม่มีใครมาทําให้เราเกิด หรือไม่เกิด

ส่วนเรื่องที่บอกว่า ‘การเกิดเป็นทุกข์’ พระพุทธเจ้าตรัสสอนอย่างนี้ เพื่อให้เราหาทางออกจากทุกข์ เพราะว่าต้นธารแห่งความทุกข์ มีที่มาจากการเกิด การเจ็บป่วยก็มาจากการเกิด แก่ชราก็มาจากการเกิด หรือแม้กระทั่งความตายก็มาจากการเกิด

สุดท้าย ‘พระนิพพาน’ อยากจะบอกทุกท่านว่าอย่าไปเถียงกัน เพราะจะไม่จบด้วยการเถียง การคุยกันเรื่องนิพพาน ก็เหมือนกันการคุยเรื่องรสชาติ (หวาน เค็ม มัน เผ็ด) แต่ทั้งคู่ไม่เคยกินเลย ต่อให้เถียงกันจนตายก็ไม่รู้เรื่อง ทางเดียวที่จะรู้คือเอาเข้าปากแล้วเคี้ยว ถึงจะรู้ว่านั้นคือรสชาติอะไร 

ดังนั้นในเรื่องของ ‘นิพพาน’ การรู้กับความรู้ ไม่เหมือนกัน

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2567 : ‘ปัญญา’ คือสิ่งที่สูงส่งกว่าคำว่า ‘ฉลาด’ หรือไม่?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ปัญญา’ คือสิ่งที่สูงส่งกว่าคำว่า ‘ฉลาด’ หรือไม่? จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

💛คำถาม: ‘ปัญญา’ คือสิ่งที่สูงส่งกว่าคำว่า ‘ฉลาด’ หรือไม่? แล้วในทางพุทธศาสนา ‘ปัญญา’ เกิดขึ้นเมื่อใด?

🌕พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): มาดูวิธีที่ทำให้เกิดปัญญาก่อน อย่างแรกคือ ‘ฟัง’ หรือ ‘สุตามยปัญญา’ แปลว่า ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง การไปเรียนหนังสือก็คือการไปฟัง หรือการไปฟังพระเทศน์ ก็คือการไปฟัง

อย่างที่สองคือ ‘จินตามยปัญญา’ แปลว่า ปัญญาสำเร็จด้วยการคิด เมื่อฟังแล้ว ก็เก็บมาคิดไตร่ตรองว่าจริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ ควรหรือไม่ควร เป็นการคิดวิเคราะห์

อย่างที่สามคือ ‘ภาวนามยปัญญา’ แปลว่า ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม หรือปฏิบัติ เช่น การสวดมนต์เป็นภาวนา การนั่งสมาธิเป็นภาวนา 

ปัญญาจะเกิดเป็นลำดับ ๆ ผ่านวันเวลาและการฝึกฝน เช่น เด็กชาย ก. กลายมาเป็น นาย ก. ต่อมากลายเป็น ร้อยตรี ก. ขยับมาเป็น พันโท ก. และไปถึง พลเอก ก. 

ส่วนคนที่เกิดมาแล้วมีปัญญาหลักแหลม ในทางพระพุทธศาสนา เชื่อว่าเป็นการสะสมมาจากชาติก่อน ถ้าสะสมมามากก็จะฉลาดหลักแหลม อย่างที่เห็นได้ เด็กบางคนเรียนจบ ป.ตรี ตั้งแต่อายุ 11 ปี จบป.เอก ตอนอายุ 22 ปี บางคนกลายเป็นอัจฉริยะและนักวิทยาศาสตร์ คิดบางเรื่องได้มากกว่าคนอื่น ๆ เป็นกลุ่มคนที่มีปัญญาล้ำเลิศ

อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าจะดีเลิศที่สุด จะต้องเป็นคนที่มีปัญญานำตนให้พ้นทุกข์ได้

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 : ‘สวดมนต์’ หรือ ‘นั่งสมาธิ’ อะไรได้บุญมากกว่า?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘‘สวดมนต์’ หรือ ‘นั่งสมาธิ’ อะไรได้บุญมากกว่า?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

🔔คำถาม: ‘สวดมนต์’ หรือ ‘นั่งสมาธิ’ แบบไหนได้บุญมากกว่ากัน?

📢พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ต้องอธิบายความให้เข้าใจก่อนว่า ‘พระพุทธศาสนา’ เกิดในดินแดนนักปราชญ์ ประเทศอินเดีย มีหลากหลายความเชื่อ หลากหลายลัทธิ รวมมาเป็นศาสนา แน่นอนว่าก็จะมีการโจมตีกัน ไม่โจมตีกัน อยู่ร่วมกัน แต่ที่แน่ ๆ ‘พระพุทธศาสนา’ ไม่โจมตีใคร รู้ได้จากหลักโอวาทปาฏิโมกข์ พระองค์ทรงให้หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 วิธีการ 6 

หลักการมี 3 ข้อ นำหลักการนี้ไปเผยแพร่ พูดที่ไหนก็พูดให้ตรงกัน ส่วนอุดมการณ์คือเป้าหมายมี 4 ข้อ ได้แก่ อย่ากล่าวร้าย อย่ากล่าวหา / ไม่ใช้กําลัง ไม่ทําร้าย / ระมัดระวังในข้อปฏิบัติ ในศีลของตน / หมั่นทําความเพียรเนือง ๆ ความเพียรนี้จะมาอยู่ในเรื่องของการสวดมนต์และนั่งสมาธิ 

ในสมัยก่อนชาวพุทธฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าโดยตรง หรือถ้าไม่มีโอกาสก็จะฟังจากครูอาจารย์ที่ไปฟังจากพระพุทธเจ้าอีกที วันเวลาผ่านไป ก็เริ่มคิดว่าจะทํายังไงให้จําคำสอนได้ วิธีเดียวคือ ‘การท่อง’ ท่องให้เกิดความจํา เพราะถ้าไม่ท่องก็จะลืม

ส่วนที่ถามว่า ‘สวดมนต์’ กับ ‘ทําสมาธิ’ อันไหนดีกว่า ก็ต้องตอบแบบนี้ว่า ‘การสวดมนต์’ วัตถุประสงค์เพื่อให้ใจสงบ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม ระลึกถึงพระสงฆ์ เป็นองค์พระกรรมฐาน 40 ข้อในคําสอนอยู่แล้ว ส่วนการนั่งสมาธิ โดยไม่สวดมนต์ ก็เป็นการปิดตา เปิดใจ 

พูดตามหลักแล้ว ‘การสวดมนต์’ กับ ‘การนั่งภาวนา ทําสมาธิ’ คือสิ่งเดียวกัน อยู่ในหมวดบุญ หมวดเดียวกัน (ภาวนามัยกุศล) ส่วนจะให้บอกว่าได้บุญมากน้อยต่างกันอย่างไร อันนี้ตอบยาก เพราะถ้าผู้ปฏิบัติเลื่อมใสทั้งการสวดมนต์และนั่งสมาธิ มีครูอาจารย์คอยชี้แนะ ยังไงก็ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ 

การสวดมนต์ ไม่ได้ทำไปเพื่อให้บรรลุธรรม แต่เป็นการเตรียมตัว เปรียบเสมือนการปรับหน้าดินก่อนสร้างบ้าน เพื่อเตรียมลงเสาเข็ม ดังนั้นการสวดมนต์คือการปรับดิน ปรับพื้นที่จิตใจ ให้ราบเรียบ ให้สงบ

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2567 : พระพุทธเจ้าสอนอะไร?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘พระพุทธเจ้าสอนอะไร?’ 

จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท) กล่าวว่า พระพุทธเจ้าสอนหลักใหญ่ ๆ 3 หลัก ได้แก่ 

(1) สัพพะปาปัสสสะ อะกะระณัง หมายถึง ต้องไม่ทำบาป ไม่ทำความชั่วทุกชนิด 
(2) กุละสัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลให้สมบูรณ์แบบ ความดีอันใดที่ยังไม่ได้ทํา ทําให้ถึงทําให้เต็ม 
(3) สะจิตตะปะริโยทะปะนัง พึงทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส อย่าให้จิตเครียด อย่าให้จิตขุ่นมัว 

‘เอตัง พุทธานะสาสะนัง นี่คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย’ คําว่าทั้งหลาย ไม่ใช่หมายถึงพระองค์เดียว แต่พระองค์อื่นก็ตรัสแบบนี้เช่นกัน 

แต่หากให้พูดเป็นภาษาชาวบ้านที่เข้าใจได้ง่ายว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ก็จะแยกเป็นดังนี้

-สอนให้รู้ ท่านตรัสเรื่องปัญญา ‘ปณฺญา โลกสุมิ ปชฺโชโต’ แปลว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก  
-สอนให้รัก ท่านตรัสเรื่องความรักมากมาย ‘โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา’ แปลว่า โลกจะอยู่ได้ ต้องเมตตาต่อกัน 
-สอนให้รวย หัวใจเศรษฐี ‘อุ อะ กะ สะ’ หากทำตามก็มีโอกาสเป็นเศรษฐี
-สอนให้ลด ลดความฟุ้งเฟ้อ ลดสิ่งที่ไม่จำเป็น 
-สอนให้ละ ละสิ่งที่คสรละ สิ่งที่ไม่จำเป็นลง
-สอนให้เลิก มาถึงตรงนี้ ก็จะบรรลุถึงมรรคผล

ผู้ศึกษาคำสอนก็เลือกได้ว่าจะเอาระดับไหน มีทั้งระดับชาวบ้านธรรมดา และระดับนักบวย ซึ่งแต่ละระดับก็จะต้องทุ่มเทความพยายามมากน้อยต่างกัน ก็ต้องดูที่ความพร้อมของเราในขณะนั้น ๆ ด้วย ถ้าหวังบรรลุธรรม ก็ต้องเข้าสู่ระดับ ลด ละ เลิก ซึ่งเราเป็นคนเลือกเองได้ ศาสนาไม่ได้บังคับ พระพุทธเจ้าไม่เคยบังคับใคร 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top