Friday, 19 April 2024
TOP UNIVERSITY

‘มหิดล’ พัฒนาระบบการเรียนการสอน สู่ระบบออนไลน์มาตรฐานสากล เร่งพัฒนาการศึกษาไร้พรมแดน พร้อมนำระบบการเรียนการสอนแบบ hybrid เพิ่มทางเลือกการเรียนให้กับนักศึกษา เดินหน้าสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลก

รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรเนติ สุขสมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากวิกฤติ COVID-19 มหาวิทยาลัยมหิดลได้ปรับการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 เป็นระบบออนไลน์ 100% จนภาคการศึกษานี้ได้มาปรับสู่รูปแบบผสมผสาน หรือ hybrid ที่เปิดให้นักศึกษาได้เลือกเรียนทั้งในชั้นเรียน และระบบออนไลน์

ซึ่งจากการประเมินการเรียนการสอนวิชา มมศท 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการศึกษามนุษย์ ซึ่งเปิดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยมหิดลได้เรียนแบบผสมผสาน จากทั้งหมดจำนวนกว่า 3,000 ราย มีนักศึกษาสนใจเข้าเรียนในชั้นเรียนจำนวนประมาณ 900 ราย โดยใช้การเช็คชื่อผ่านแอปพลิเคชัน We Mahidol เพื่อการตรวจสอบพื้นที่ปลอดภัย ลดเสี่ยง COVID-19

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้จัดให้มีสถานที่ พร้อมอุปกรณ์สำหรับนักศึกษาที่เลือกเรียนออนไลน์ในทุกวิทยาเขต โดยที่พื้นที่ศาลายา นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลสามารถเรียนออนไลน์ได้จากที่บ้าน หอพักนักศึกษา หอสมุดและคลังความรู้ฯ ห้องบรรยาย 1 - 2 คณะวิทยาศาสตร์ อาคารสิริวิทยา และที่ห้อง Mini Theater (MU Cyber Club) ซึ่งให้บริการโดย กองเทคโนโลยีสารสนเทศ (MUIT) ณ บริเวณ ชั้น 2 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล (MLC)

และกำลังจะมีการปรับพื้นที่บริเวณชั้นลอยของอาคาร MLC เพื่อเป็นสถานที่รองรับการเรียนออนไลน์ หรือการศึกษาด้วยตัวเอง ตามโครงการ Mahidol Digital Convergence University (Mahidol DCU) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการผลักดันตัวเองสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลก เพราะฉะนั้น การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นไปตามแนวทางของมาตรฐานในระดับโลก โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ในลักษณะของการ “Train the Trainer” อาทิ มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ (Macquarie University) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนทั้งด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีคณาจารย์ที่ผ่านการอบรมแล้วจำนวน 3 รุ่น และจะมีการจัดอบรมอีกในปีนี้อีก 3 รุ่น

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ร่วมสัมมนาเครือข่าย AUN Technology Enhance Personalize Learning (AUN-TEPL) กับอีก 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่ Singapore Management University (SMU) ประเทศสิงคโปร์ และ University of Malaya (UM) ประเทศมาเลเซีย อีกด้วย รวมทั้งจะมีการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาออนไลน์ เข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานสากล เพื่อเป็นต้นแบบทางการศึกษาออนไลน์ในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยต่อไป

และเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาระบบการเรียนการสอนออนไลน์อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้จัดให้มี campaign เพื่อการจัดกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมการเรียนการสอนออนไลน์ในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการรางวัลการสอนออนไลน์ โครงการส่งเสริมการวิจัยการเรียนการสอนออนไลน์ โครงการบันทึกวีดิทัศน์ การบรรยายในรูปแบบ Video on demand หัวข้อ Digital Teaching Tools สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการอบรมการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาบทเรียนออนไลน์แบบ MOOC & SPOC สำหรับคณาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย

ต่อไปมหาวิทยาลัยมหิดลจะเปิดรายวิชาพื้นฐานให้ทุกคนได้เรียนออนไลน์ เพื่อเป็น Credit Unit Bank ที่สามารถใช้เทียบโอนได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้การเข้าถึงทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลมีเพิ่มมากขึ้น


ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/strategy/473654

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผนึกต่างชาติ เปิดตัว 42 Bangkok สถาบันโปรแกรมเมอร์แห่งแรกของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ฉีกทุกกฎการเรียนรู้แบบไร้ข้อจำกัด ใน 3 แนวคิดหลัก “ไม่มีอาจารย์ ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม”

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ย้ำบทบาท “ผู้นำความเปลี่ยนแปลง” พร้อมผนึกต่างชาติ เปิดตัว “42 บางกอก” (42 Bangkok) สถาบันโปรแกรมเมอร์แห่งแรกของไทย และแห่งที่ 3 ของเอเชีย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล การันตีด้วยมาตรฐานการสอนระดับโลก ที่พร้อมฉีกทุกกฎการเรียนรู้แบบไร้ข้อจำกัด ใน 3 แนวคิดหลัก “ไม่มีอาจารย์ ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม” รุดสร้างจุดเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยยุคใหม่ ขานรับนโยบายโค้ดดิ้งของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หนุนศักยภาพคนไทย พร้อมรับโลกการทำงานยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ “42 บางกอก” เน้นการเรียนรู้จริงปฏิบัติเป็น และแก้ปัญหาร่วมกันเป็นกลุ่ม ผ่านการฝึกคิดแก้โจทย์จริงจากภาคธุรกิจชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์-เทคโนโลยี แบบเป็นขั้นตอน-ไต่ระดับจากง่ายไปยากใน 21 ระดับ โดยปัจจุบัน 42 บางกอก อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้เรียนเข้าศึกษาต่อในเทอมแรก และจะเริ่มเรียนในเดือน กรกฎาคม 2564

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ เร่งผลักดันนโยบาย “ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์” (Coding) ภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรม (Digital Disruption) ที่มุ่งปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของคนไทยในทุกช่วงวัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

อีกทั้งสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงานยุคดิจิทัลได้เต็มศักยภาพ สู่การมีทักษะสำคัญอย่างน้อย 6 ด้าน ได้แก่ ทักษะการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล คิดเชิงคณิตศาสตร์ และการแก้ไขปัญหาอย่างมีหลักการ

โดย สจล. ถือเป็นต้นสถาบันการศึกษาแห่งอนาคตของไทย ที่มีหัวคิดทันสมัยและปรับตัวได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ภายใต้ความร่วมมือของ “เอกอล 42” (Ecole42) สถาบันปั้นโปรแกรมเมอร์ระดับโลก เพื่อพัฒนาคนคุณภาพด้านโปรแกรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล อันสอดรับกับนโยบายดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ไม่มีอาจารย์ ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม”

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. เล็งเห็นถึงความสำคัญและโอกาสของการมี “ซุปเปอร์โปรแกรมเมอร์” เนื่องจากอาชีพดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์อาชีพที่เป็นที่ต้องการจากทุกองค์กรทั่วโลก อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลกดิจิทัล

ดังนั้น การจัดตั้ง “42 บางกอก” (42 Bangkok) สถาบันปั้นโปรแกรมเมอร์ระดับหัวกะทิ แห่งแรกอาเซียน และที่ 3 ของเอเชีย ถือเป็นสนามปั้นสุดยอดโปรแกรมเมอร์ ระดับซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ภายใต้มาตรฐานการสอนเดียวกับสถาบันต้นกำเนิดจากกรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่ฉีกทุกกฎการเรียนรู้แบบไร้ข้อจำกัด “ไม่มีอาจารย์ ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม” นับเป็นจุดเปลี่ยนแรกของการศึกษาไทย ที่เปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดโลกการทำงานระดับสากล ภายใต้เครือข่ายเอกอล 42 ทั่วโลก

อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า “แท้จริงแล้วการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดเฉพาะรูปแบบการสอนเดิมเท่านั้น แต่สามารถก้าวสู่โลกการทำงานสายดิจิทัลได้อย่างมืออาชีพ” ตอกย้ำการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง (Change Maker) ของ สจล. โดยแท้จริง

สอนในรูปแบบ Project Based Learning ที่เน้นการเรียนรู้จริงปฏิบัติเป็น และแก้ปัญหาร่วมกันเป็นกลุ่ม

ผศ. ดร.ชัยยันต์ เจตนาเสน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ Executive Director of 42 Bangkok กล่าวเพิ่มเติมว่า “42 บางกอก” มีการเรียนการสอนในรูปแบบ Project Based Learning ที่เน้นการเรียนรู้จริงปฏิบัติเป็น และแก้ปัญหาร่วมกันเป็นกลุ่ม ผ่านการฝึกคิดแก้โจทย์จริงจากภาคธุรกิจชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์-เทคโนโลยี แบบเป็นขั้นตอน ซึ่งจะไต่ระดับจากง่ายไปยากใน 21 ระดับ โดยการเรียนในระยะแรก ผู้เรียนจะต้องเรียนการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น และเมื่อเลื่อนขั้นแล้ว ผู้เรียนจะสามารถเลือกทำโปรเจกตามความสนใจ ซึ่งในบางระดับต้องไปฝึกงานเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อสั่งสมประสบการณ์ในสนามจริง

ทั้งนี้ เมื่อทำโปรเจกสำเร็จในแต่ละระดับ จะมีคะแนนสะสมเพื่อขอเลื่อนขั้นในระดับต่อไปได้ จนกระทั่งจบการศึกษาภายในระยะเวลา 2-4 ปี เพื่อสร้างประสบการณ์ทำงานจริง โดยจะปูพื้นฐานด้วยภาษา C และ C++ พร้อมเพิ่มพูนทักษะด้วย Python Javascript เพื่อสร้างเว็บไซต์ หรือกระทั่งทำงานออกแบบเว็บไซต์ (Design) ให้มีฟังก์ชันที่รองรับการงานรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อ 1.00 p.m. 3/26/2021)

“เพราะการเรียนที่ 42 บางกอก เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่มีอาจารย์สอน ไม่กำหนดเวลาเรียน ดังนั้น กระบวนการคัดเลือกผู้เรียนจึงมีการทดสอบแบบเข้มข้นใน 3 ด่านสำคัญ คือ ทดสอบออนไลน์ (Online Test) เพื่อวัดว่ามีตรรกะด้านการเขียนโปรแกรม ยืนยันสิทธิ์ (Check In) และ ด่านสุดท้าย ทำค่ายโปรเจก เวิร์คชอป (Piscine) การทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบ 24/ 7 เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งเทียบเท่าการเรียนหลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี ในคณะสายคอมพิวเตอร์ สำหรับในรอบนี้จะคัดเลือกในแต่ละกลุ่มเพียง 150 คน เพื่อเป็นนักศึกษาตัวจริงที่จะได้เรียนใน 42 บางกอก”

“สำหรับคุณสมบัติของผู้เรียนค่อนข้างเปิดกว้าง โดยเป็นบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดเพศ มีอายุอย่างน้อย 18 ปี ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษาหรือเคยเรียนเขียนโปรแกรมมาก่อน ขณะเดียวกัน คนที่กำลังศึกษาด้านอื่นหรือทำงานอยู่ก็สามารถเรียนควบคู่ไปได้ และเมื่อเข้ามาเรียนได้ก็สามารถกำหนดรูปแบบการเรียนด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน 42 บางกอก อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้เรียนเข้าศึกษาต่อในเทอมแรก ซึ่งมีผู้สมัครจากทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่า 1,600 คน ครอบคลุม 81 ประเทศ โดยจะเริ่มเรียนในเดือน กรกฎาคม 2564” ผศ. ดร.ชัยยันต์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียด หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.42bangkok.com หรือติดต่อ สำนักงานกิจการต่างประเทศ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8140 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ https://www.facebook.com/42Bangkok/


ที่มา: https://techsauce.co/news/kmitl-open-42-bangkok-thailand-first-programmer-institute?fbclid=IwAR3H2pXKs4SYk3M8XLiSVHjIlSiOPXu5HL0Y1WLuiBQz0OpsWrBAwCdWMuo

ใครอยากเพิ่มสกิลภาษาอังกฤษ พลาดไม่ได้!! สถาบันภาษา ม.ธรรมศาสตร์ (ศูนย์ท่าพระจันทร์) เปิด ‘โครงการอบรมภาษาอังกฤษสำหรับบุคคลทั่วไป’

โดยมีทั้งคอร์สแบบปูพื้นฐาน คอร์สอัปสกิล รวมถึงคอร์สเตรียมสอบ ซึ่งทุกคอร์สจะทำการเรียนการสอนที่ศูนย์ท่าพระจันทร์ หากใครสนใจ สามารถดูรายละเอียดด้านล่างได้เลย

คอร์สที่เปิดสอน

1.) หลักสูตรทักษะการฟัง-การพูด (Listening – Speaking)  ระดับ 1, 2, 3

2.) หลักสูตรทักษะการใช้ไวยากรณ์ (Grammar for Better English) ระดับ 1, 2, 3

3.) หลักสูตรทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ (Strategic Reading)  ระดับ 1,2

4.) หลักสูตรการเขียน (Writing) : Essay, Paragraph, Report and Propasal Writing for Careers

5.) หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน (English for Work) ระดับ 1, 2

6.) หลักสูตรการแปลเบื้องต้น (Introduction to Translation)

7.) หลักสูตรเตรียมสอบ (Test-Preparation Courses): Computer-based tests, การอ่าน, คำศัพท์, การอ่าน, ไวยากรณ์,  IELTS, TOEIC

- มีทั้งหลักสูตรภาษาอังกฤษพื้นฐาน 30 ชั่วโมง และหลักสูตรการเตรียมสอบ 60 ชั่วโมง (แล้วแต่คอร์ส)

- ค่าเรียน: 2,900 - 4,900 บาท (แล้วแต่คอร์ส)

- มีโปรมา 4 จ่าย 3

- เริ่มอบรมวันที่ 24 เมษายน - วันที่ 27 มิถุนายน 2564 (มีทั้งหลักสูตรเรียนวันธรรมดา, วันเสาร์ และอาทิตย์ *ตารางเรียนแต่ละคอร์สจะไม่เหมือนกัน ดูตารางเรียนได้ที่ http://public.litu.tu.ac.th/view/post/43

สมัครอบรม

- สมัครอบรมได้ที่ https://apply.litu.tu.ac.th/login

- ใบสมัคร: https://bit.ly/3lwjPyh

- หมดเขตวันที่ 16 เมษายน 2564 หรือจนกว่าจะเต็ม

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับรายละเอียดคอร์ส รวมถึงการสมัครเรียน กรุณาติดต่อไปที่

-Facebook: Language Institute Thammasat University

-โทรศัพท์ : 02-613-3101-3

-Email : [email protected]

-ที่อยู่ : สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวังเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

อ่านรายละเอียดคอร์สฉบับเต็มที่ http://public.litu.tu.ac.th/view/post/43


ขอบคุณที่มา: https://www.facebook.com/OneMoreCoursebyDekD/posts/284385673057287

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษา ประจำปีการศึกษา 2564 รอบที่ 2 (Portfolio) ตั้งแต่วันนี้ - 31 มีนาคม 2564

คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุว่า หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563) คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (PCCMS-CRA) โดยความร่วมมือกับ UCL สหราชอาณาจักร (iBSc/MD Programme) เปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษา ประจำปีการศึกษา 2564 รอบที่ 2 (Portfolio) จำนวน 7 คน ตั้งแต่วันนี้ - 31 มีนาคม 2564

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.pccms.ac.th/ucl2nd64/

สมัครเข้ารับการศึกษาได้ที่ : http://admission.pccms.ac.th/

การประชุมวิชาการระดับชาติ ของนักเศษฐศาสตร์ ครั้งที่ 14 (The 14th National Conference of Economists) ด้วยระบบออนไลน์ ผ่าน Zoom Meeting โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ 19 มีนาคม 2564

หัวข้อ ‘นักเศรษฐศาสตร์และผองเพื่อน: โอกาสและความท้าทายภายใต้ความไม่แน่นอน (Economists & Friends: Chances and Challenges under Uncertain Circumstances)’

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยของรัฐอีก 9 สถาบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันพิจารณาจัดให้มีการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ขึ้นตามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ การประชุมระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ระหว่างสถาบันการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ 9 สถาบัน

ซึ่งในปี พ.ศ.2563 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ เป็นครั้งที่ 14 ในวันที่ 19 มีนาคม 2564 นี้ โดยช่วง 10.00 - 10.30 น. จะเป็น TED TALK ประเด็นเศรษฐศาสตร์กับความเหลื่อมล้ำ โดย วิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพันธุ์ วุฒิสมาชิก 10.00 - 10.30 น. TED TALK ประเด็นเศรษฐศาสตร์กับฟิสิกส์ โดย วิทยากร รองศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ กำจัดภัย ผู้อำนวยการ ศูนย์ฟิสิกส์ทฤษฎีและปรัชญธรรมชาตินครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

และช่วง 11.00 - 11.30 น. สนทนาโต๊ะกลม ประเด็นเศรษฐศาสตร์กับความบันเทิง โดย วิทยากร คุณณัฐ ศักดาทร นักร้อง/นักแสดง และคุณศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนา ศิลปิน/ศิษย์เก่า คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล เฮงพัฒนา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาและนโยบาย คณะเศรษศาสตร์

ช่วงบ่าย 15.10 - 15.40 น. ชวนคุย “เศรษฐศาสตร์และผองเพื่อน: เศรษฐศาสตร์จะอยู่กับเพื่อนอย่างไร” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐญา ประไพพานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้ารับฟังได้ฟรี หรือติดตามข่าวสาร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : PR Econ Swu

คณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดหลักสูตรน้องใหม่ หลักสูตรภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม รับสมัครรุ่นแรก TCAS64 รอบ 3 และ รอบ 4 นี้

หลักสูตรภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม คณะศิลปศาสตร์ (工业汉语专业)

Bachelor of Arts in Chinese for Industry

- หลักสูตรแรกของประเทศไทย

- นักศึกษาทุกคนจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ Beijing Language and Culture University มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในด้านการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ณ กรุงปักกิ่ง

- เปิดรับสมัครรุ่นแรก TCAS64 รอบ 3 และ รอบ 4

- ค่าเทอม 22,000 บาท ต่อเทอม

- ระยะเวลาการเรียน 4 ปี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

คณะศิลปศาสตร์ สจล. โทร. 02-329-8000 ต่อ 3760


ที่มา: https://www.facebook.com/104890389572255/posts/3946031312124791/

อย่ารอช้า! วันศุกร์นี้มีคอร์สออนไลน์เรียนฟรีจาก Chula MOOC เปิดให้ลงทะเบียน กับคอร์ส ‘หลักการพื้นฐานทางกฎหมายทั่วไป’ สอนโดยอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มีใบประกาศมอบให้ด้วย!!

เนื้อหาที่จะได้เรียน

บทที่ 1 : ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและกฎเกณฑ์ความประพฤติ

บทที่ 2 : ความหมายและลักษณะของกฎหมาย

บทที่ 3 : ที่มาของกฎหมาย

บทที่ 4 : ศักดิ์ของกฎหมาย

บทที่ 5 : ขอบเขตการใช้กฎหมาย

บทที่ 6 : การตีความและการอุดช่องว่างของกฎหมาย

บทที่ 7 : ประเภทของกฎหมาย

กำหนดการของคอร์ส

- เริ่มลงทะเบียนวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2564 (เวลา 9.00 น.)

- เริ่มเรียนได้วันที่ 6 มีนาคม 2564

- สิ้นสุดการเรียน 30 เมษายน 2564

ข้อควรรู้เกี่ยวกับคอร์สนี้

- สอนโดย รศ.มานิตย์ จุมปา จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- คอร์สนี้สามารถสมัครได้เรียนทุกคน ทั้งนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป (จำกัดจำนวน 5,000 คน)

โปรดอ่าน! คำแนะนำการใช้งานจาก Chula MOOC

- เริ่มเข้าเรียนได้ในวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม 2564

- สำหรับการเข้าเรียน ให้กดที่ลิงก์รายวิชาด้านล่างและกดที่ปุ่ม "เข้าเรียน"

- ระบบจะเปิดให้เข้าเรียนตอน 6.00 น. เป็นต้นไป แต่ผู้เรียนจะเข้าเรียนเวลาใดก็ได้ โดยจะมีสื่อพร้อมให้เรียนได้เลย

- ลงทะเบียนรายวิชาสำเร็จจะปรากฎคำว่า Enrollment Completed หากไม่มีจะถือว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จ โปรดลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง

- อ่านวิธีการใช้งาน Website และ วิธีการลงทะเบียน https://mooc.chula.ac.th/how-to

- สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเป็นครั้งแรก โปรดตรวจสอบชื่อนามสกุลให้ถูกต้อง เนื่องจากข้อมูลจะปรากฎบนใบ Certificate เมื่อเรียนจบ

- ผู้เรียนต้องทำคะแนนรวมทั้งหมดให้ได้ร้อยละ 60 ขึ้นไป จึงจะได้รับใบประกาศฯ หรือใบ certificate

ตามไปศึกษาความรู้เรื่องหลักการพื้นฐานทางกฎหมายทั่วไปได้ที่ >> https://mooc.chula.ac.th/courses/46

หากมีข้อสงสัยหรือพบปัญหาเกี่ยวกับการสมัคร สามารถสอบถามหรือแจ้งเรื่องได้ที่เพจ CHULA MOOC


ขอบคุณที่มา: https://www.facebook.com/OneMoreCoursebyDekD/photos/a.107506870745169/274776460684875/

โครงการเพชรในตม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดรับสมัครนักเรียนชั้น ม.6 เกรด 2.75 ขึ้นไป เข้าศึกษาต่อวิชาเอกการประถมศึกษา ระหว่างวันที่ 1 - 17 มีนาคม 64 เรียนจบบรรจุครูทันที!

ประกาศมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่อง การรับสมัครคัดเลือกเข้าเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2564

TCAS รอบที่ 2 Quota โครงการเพชรในตม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2564 TCAS รอบที่ 2 Quota โครงการเพชรในตม คณะศึกมหาวิทยลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อเข้าศึกษาต่อวิชาเอกการประถมศึกษา หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (รหัสสขาวิชา 05005 รหัสกลุ่มสาขา 177) ตามโครงการความร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงศึกษาธิการ

รับสมัครระหว่างวันที่ 1 – 17 มีนาคม 2564 โดยใช้ผลการสอบ GAT/PAT5 และวิชาสามัญ ประจำปีการศึกษา 2564 ที่จัดสอบโดยสถบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยจึงขอประกาศ รายละเอียดเกี่ยวกับการรับสมัครฯ ดังนี้

1. จำนวนนิสิตที่จะรับจำนวนรวมทั้งสิ้น 45 คน ดังนี้

1.1 กอ.รมน.ภาค 1 รับจำนวน 8 คน

1.2 กอ.รมน.ภาค 2 รับจำนวน 10 คน

1.3 กอ.รมน.ภาค 3 รับจำนวน 8 คน

1.4 กอ.รมน.ภาค 4 รับจำนวน 19 คน (4 + 15)

หมายเหตุ : 1. ผู้ผ่านการคัดเลือกจะต้องศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกการประถมศึกษา

กับวิชาเอกใดเอกหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรกำหนด ดังนี้

1.วิชาเอกการศึกษาปฐมวัย

2.วิชาเอกการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย

3.วิชาเอกการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

4.วิชาเอกการจัดการเรียนรู้สังคมศึกษา

5.วิชาเอกการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์

6.วิชาเอกการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

7.วิชาเอกคอมพิวเตอร์ศึกษา

อ่านประกาศฉบับเต็ม : https://admission.swu.ac.th/file_staff_upload/file_news/5420210225042927.pdf

รายละเอียดเพิ่มเติม https://admission.swu.ac.th/admissions2/news_content.php?nid=151

สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญผู้สนใจเข้าฟังการบรรยายเรื่อง "ของมันต้องรู้! : เส้นทางสู่อาชีพนักแปล และการใช้เทคโนโลยีในการแปล"

สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญผู้สนใจเข้าฟังการบรรยายเรื่อง "ของมันต้องรู้! : เส้นทางสู่อาชีพนักแปล และการใช้เทคโนโลยีในการแปล"

วิทยากร: คุณกิตติพล อัจฉริยากรชัย

-แอดมินเพจนี้เพื่อนักแปล

-ประสบการณ์แปล 20 ปี

-ที่ปรึกษาธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซและการตลาดออนไลน์

-ประสบการด้านการสอน คอลัมน์นิสต์และสคริปต์ไรเตอร์รายการโทรทัศน์

ในวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564

เวลา 9.30 น. -12.30 น.

ทาง Zoom

Meeting ID: 946 0176 8847

Passcode: 177963


ที่มา: https://www.facebook.com/154319364767701/posts/1560153224184301/

มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในไทย ประจำปี 2021 จัดอันดับโดย QS World University Rankings

การจัดอันดับ มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก โดย QS หรือ Quacquarelli Symonds ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการวิเคราะห์และข้อมูลเชิงลึกชั้นนำของโลกสำหรับภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วโลก ซึ่งครั้งนี้เป็นการรวบรวมรายชื่อมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในไทย ประจำปี 2021 มีมหาวิทยาลัยไหนบ้าง ไปดูกัน!

1.) อันดับ 208 ของทั้งโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2.) อันดับ 252 ของทั้งโลก มหาวิทยาลัยมหิดล

3.) อันดับ 561-570 ของทั้งโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4.) อันดับ 601-650 ของทั้งโลก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

5.) อันดับ 801-1000 ของทั้งโลก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

6.) อันดับ 801-1000 ของทั้งโลก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

7.) อันดับ 801-1000 ของทั้งโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

8.) อันดับ 801-1000 ของทั้งโลก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


ขอบคุณที่มา :

https://www.topuniversities.com/university-rankings/world-university-rankings/2021

https://www.sanook.com/campus/1402911/


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top