(19 มี.ค. 68) นายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะสตีล จำกัด (มหาชน) กรรมการ คณะปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน กล่าวภายในสัมมนา THE FUTURE JOURNALISM 2025 “AI กับ สื่อสารศาสตร์ยุคใหม่” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES จากประเทศไทย, สำนักข่าว SPUTNIK ของรัสเซีย และวิทยาลัยผู้นำและนัวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนของทั้ง 2 ประเทศ โดยได้ร่วมให้ความรู้ในหัวข้อ “คิดอย่างไรให้ทันโลก” ว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าโลกเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ จะทำอย่างไร จึงจะตามโลกให้ทัน
โดยนายวินท์ ได้หยิบยกเครื่องมือ 3 อย่างที่จะใช้รับมือโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับยกตัวอย่างการทำงานในอดีตที่ผ่านมา โดยเริ่มจากโครงการผลิตท่อยานยนต์ ซึ่งในอดีตการจะเข้าใส่อุตสาหกรรมนี้เป็นเรื่องยาก และมักจะมีคำพูดว่า คนไทยไม่สามารถทำท่อยานยนต์ได้ เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในมือของบริษัทญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ และบริษัทญี่ปุ่นจะซื้อสินค้ากับญี่ปุ่นกันเองเท่านั้น
แต่สุดท้ายก็ทำได้สำเร็จ ภายใต้บริษัท อิน-เทค สตีล จำกัด โดยปัจจุบันสามารถเจาะตลาดผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นได้เกือบทุกบริษัท โดยเฉพาะเหล็กยึดที่พิงศีรษะที่ผลิตส่งให้กับโตโยต้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานต์ด้วย
สำหรับโครงการที่สอง ที่ทำได้สำเร็จ คือ การผลิตเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนหน้าแคบในนาม บริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ 3 ในประเทศไทย ที่สามารถผลิตได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มักจะเจอกับคำพูดว่า “เป็นไปไม่ได้” แต่เราก็สามารถทำได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่มีบริษัทในประเทศไทยสามารถผลิตได้เลยในรอบ 20 ปี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ “มูลนิธิ วิน วิน” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ในขณะนั้น ได้ช่วยตรวจเอทีเค ให้กับประชาชนไปกว่า 12,000 คน ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทั่วไปได้อย่างมาก และช่วยดูแลรักษาคนที่ติดโควิดอีก 1,100 คน พร้อมส่งต่อเคสหนัก ๆ ไปยังโรงพยาบาล
พร้อมกันนี้ นายวินท์ ยังได้กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการทำนายอนาคตนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้จะนำบทเรียนในอดีตมาศึกษาและคาดการณ์ความเป็นไปได้ในอนาคต แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างชัดเจน โดยมีเหตุการณ์ที่เกิดข้อผิดพลาดมาแล้วมากมายในอดีต ดังนั้น เราจะต้องมีเครื่องมีที่จะเป็นตัวช่วยให้เราก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเราจะไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
โดยเครื่องมือที่ว่านั้นมีอยู่ 3 ข้อ นั่นคือ 1. ค้นหาความจริง 3. เน้นปัจจัยสู่ความสำเร็จ และ 3. Simple Rules หรือ กฎง่าย ๆ และจะวนอยู่ใน 3 ข้อนี้
สำหรับการค้นหาความจริงนั้น คือ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในความจริง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อความสำเร็จ โดยต้องแยกให้ออกว่าสิ่งนั้นเป็นข้อเท็จจริง (Fact) หรือเป็นเพียง ความเห็น (Opinion) ยกตัวอย่าง ตอนที่เริ่มธุรกิจท่อยานยนต์ ซึ่งได้เจอข้อคิดเห็นที่ว่า บริษัทญี่ปุ่นซื้อกับบริษัทญี่ปุ่นเท่านั้นและเครื่องจักรต้องเป็นยี่ห้อญี่ปุ่น แต่เมื่อไปสำรวจในข้อเท็จจริงกับบริษัทญี่ปุ่นหรือคนญี่ปุ่นที่พร้อมให้ข้อแล้ว ทำให้พบว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยบริษัทญี่ปุ่นซื้อกับบริษัทที่วางใจ โดยไม่สนว่าจะเป็นบริษัทไทย หรือบริษัทสัญชาติไหน ขอเพียงได้รับความไว้ใจ และสินค้านั้นมีคุณภาพ
หลังจากได้ความจริง ขั้นต่อไปคือ การไปหาปัจจัยสู่ความสำเร็จ และความเป็นไปได้ โดยพยายามจับทีละปัจจัย ก้าวทีละขั้น สุดท้ายเป้าหมายที่ดูใหญ่ก็จะสำเร็จได้ ยกตัวอย่าง ท่อยานยนต์ที่บริษัทฯ ผลิตมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ คุณภาพสินค้า ความตรงต่อเวลา และความสม่ำเสมอ ซึ่งจะนำพาไปสู่ ความไว้วางใจ จากนั้นจะต้องหาปัจจัยที่จะชนะคู่แข่ง เช่น ต้นทุนการผลิต และบริการที่ดีกว่า เป็นต้น
ต่อจากนั้น นำเอาทั้ง 2 ส่วน มาตั้งกฎในการทำงาน โดยยึดหลัก กฎง่าย ๆ แต่ต้องได้ผลกว่ากฎจำนวนมาก ยกตัวอย่าง กฎง่ายๆ ของบริษัทฯ ผลิตท่อยานยนต์ที่ทำสำเร็จมาแล้ว นั่นก็คือ 1.ทำทุกอย่างเหมือนเจ้าตลาดญี่ปุ่น 2.ราคาถูกกว่าเจ้าตลาดญี่ปุ่น และ3.บริการดีกว่าเจ้าตลาดญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้ หากสร้างความเข้าใจกับคนจำนวนมาก อาจจะเป็นพันคน ก็จะสามารถนำพาบริษัทประสบความสำเร็จได้
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำแล้วประสบความสำเร็จนั่นก็คือ การลงทุนในการทำเหล็กรีดร้อน ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เงินลงทุนนับหมื่นล้านบาท แต่ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตเหล็กรีดร้อนหน้าแค่ ลงทุนแค่เพียงไม่กี่พันล้านบาทเท่านั้น จากนั้นแก้ปัญหาในแต่ละจุด กระทั่งทำได้สำเร็จ
โดยมีกฎง่าย ๆ นั่นคือ 1.เน้นเป้าหมาย ไม่เน้นวิธีการ 2. ใช้คนให้เหมาะสมกับงาน และ 3.ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หมายถึง ทำดีต้องมีรางวัล และหากทำไม่ดี ก็ต้องมีบทลงโทษ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จได้
ส่วนการช่วยประชาชนในช่วงโควิด-19 ระบาด มีความเห็นบอกว่า ยากเกินไป ทำไม่ได้หรอก แต่สุดท้ายก็ทำได้ และช่วยคนป่วยนับพัน พร้อมกับตรวจเอทีเคไปกว่า 12,000 คน สุดท้ายที่คนบอกว่าทำไม่ได้ ก็สำเร็จลุล่วงด้วยความร่วมมือร่วมใจของหลายๆ ฝ่าย โดยการแยกปัจจัยและเป้าหมายในแต่ละจุด และแก้ทีละจุด
“ดังนั้น หากเรามีการวางแนวทางการรับมือความเปลี่ยนแปลงด้วยเครื่องมือทั้ง 3 ที่กล่าวมา เชื่อว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคนี้ได้อย่างแน่นอน”