เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.67) นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ และฝ่ายความมั่นคง เห็นตรงกันว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและการศึกษา ซึ่ง สพฐ.ต้องให้เด็กต่างด้าวเรียนฟรีถึง 15 ปี อีกทั้งเข้ามาแย่งสารพัดอาชีพของไทย ผันตัวสู่เจ้าของธุรกิจ เดินรถสองแถว รับเหมาก่อสร้าง ปล่อยเช่าคอนโด ‘พล.ท.นันทเดช’ เผย ‘เมียนมา’ ล้ำเส้น ถึงขั้นตั้งธนาคาร มีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านของตัวเอง ตั้งตัวเป็นเจ้าของตลาด แถมมี สส.บางพรรค อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว ด้าน ‘รศ.ดร.อัทธ์’ แนะ เร่งจัดระเบียบ ขึ้นทะเบียน จัดทำฐานข้อมูล เพื่อง่ายต่อการควบคุมและจัดเก็บภาษี
กล่าวได้ว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวกลายเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องมานานนับเดือน โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเกินขอบเขต บ้างก็รวมตัวจัดกิจกรรมระดมทุนโดยไม่ขออนุญาต บ้างก็โชว์กร่างข่มขู่คุกคามคนไทย ขณะที่บางพื้นที่มีการลักลอบเปิดโรงเรียน อีกทั้งยังร้องเพลงชาติเมียนมาแบบไม่เกรงใจเจ้าของประเทศ จนเริ่มเกิดกระแสต่อต้านจากคนไทยถึงขั้นที่อยากให้ผลักดันแรงงานเหล่านี้ออกจากประเทศ จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะกลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลาย และเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาจัดการก่อนที่จะสายเกินไป
ส่วนว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของไทยอย่างไร รวมทั้งจะมีหนทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่นั้น คงต้องไปฟังความเห็นจะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะนี้แรงงานต่างด้าว ทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ที่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และรวมกันเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ยากต่อการควบคุม โดยปัจจุบันคาดว่ามีแรงงานเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3-5 ล้านคน รองลงมาคือ แรงงานกัมพูชา 1-2 ล้านคน ตามด้วยแรงงานลาวไม่เกิน 1 ล้านคน ขณะที่แรงงานเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนคน ซึ่งแรงงานที่เริ่มสร้างปัญหาคือแรงงานเมียนมาเนื่องจากจับกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก จึงเริ่มมีการชุมนุมเคลื่อนไหวที่นั่นที่นี่ มีการนัดรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการเมือง บ้างทำตัวเป็นมาเฟีย เกะกะระราน ทำให้เกิดปัญหาสังคมและอาชญากรรมตามมา
ซึ่งแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยนั้นมีทั้งที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายและลักลอบทำงาน แน่นอนว่าคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ไม่อยู่ในระบบภาษี ไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งต่างด้าวที่ลับลอบทำธุรกิจในไทยก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่เขาใช้ระบบสาธารณูปโภคของไทย ใช้บริการการแพทย์ของไทย แรงงานเหล่านี้เมื่อเข้ามาอยู่แล้วบางคนก็จะมีลูกมีหลาน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพราะหากเจ็บป่วย เด็กเหล่านี้ก็เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของไทย และเมื่อถึงวัยเรียนก็มีสิทธิเข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทย เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีนโยบายให้เด็กต่างด้าวสามารถเข้ารับการศึกษาได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งถือเป็นภาระด้านงบประมาณของไทยอย่างมาก
สอดคล้องกับ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ซึ่งระบุว่า การที่ชาวเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากนั้นส่งผลกระทบต่องบประมาณและการบริการด้านสาธารณสุขของไทย เพราะเรามีการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขไว้จำนวนหนึ่ง เมื่อชาวเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในไทยใช้บริการสาธารณสุขที่เราเตรียมไว้เพื่อดูแลคนไทย งบประมาณและบุคลากรการแพทย์ของไทยก็จะถูกแบ่งไปดูแลแรงงานต่างด้าวเหล่านี้รวมถึงลูกหลานที่เกิดขึ้นมา เพราะแม้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจะใช้สิทธิการรักษาตามระบบประกันสังคมที่เขาส่งเงินสมทบ แต่ก็มีแรงงานอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย รวมถึงบรรดาลูกหลานของแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ส่งเงินสมทบแต่ใช้บริการสาธารณสุขด้วยเหมือนกัน ทำให้คนไทยได้รับบริการไม่เต็มที่ แม้แต่ชาวเมียนมาที่อยู่ในพม่าเมื่อเจ็บป่วยหรือจะคลอดบุตรก็เข้ามารักษาและทำคลอดที่โรงพยาบาลในประเทศไทย มาใช้ระบบสาธารณสุขในไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก
นอกจากนั้นแรงงานเหล่านี้ยังพยายามเรียกร้องให้แรงงานเมียนมาสามารถขอต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย(Work Permit) โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางคือประเทศเมียนมาก่อน ซึ่งไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะขัดกับระเบียบของไทย และเชื่อว่าจะมีปัญหาอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆเพราะชาวเมียนมากำลังเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน ซึ่งเมื่อประกาศขึ้นค่าแรงไปแล้วผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับแรงงานไทย เพราะงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะฝีมือนั้นแรงงานส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย ขณะเดียวกันผลกระทบที่ตามมาคือภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น จีน หรือเวียดนาม อีกทั้งคนไทยยังต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินปรับตัวสูงขึ้น
“ปัญหาที่หนักมากในขณะนี้คือชาวเมียนมาเข้ามาประกอบอาชีพต่าง ๆ แข่งกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเปิดร้านขายอาหาร ขายสินค้าต่าง ๆ ตลาดสดบางแห่งพ่อค้าแม่ค้ามีแต่คนเมียนมา บางพื้นที่เจ้าของตลาดเป็นเมียนมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันผิดกฎหมายของไทย แต่ขบวนการควบคุมแรงงานต่างด้าวของเรามันล้าหลังมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ใต้อิทธิพลของชาวเมียนมา เพราะเขาจ่ายเงินให้” พล.ท.นันทเดช กล่าว
สำหรับปัญหาที่ต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย โดยเฉพาะแรงงานเมียนมานั้น 'รศ.ดร.อัทธ์' มองว่า ชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม โดยยุคแรกจะเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในภาคการผลิต โดยเฉพาะกิจการที่คนไทยไม่นิยมทำ เช่น ประมง ก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ยุคที่สองแรงงานเมียนมาเริ่มเข้าไปสู่ภาคบริการ เช่น พนักงานเสิร์ฟ พนักงานปั๊มน้ำมัน แม่บ้าน ลูกจ้างขายของ และปัจจุบัน คือยุคที่สาม ได้ขยายไปสู่การเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งแบ่งเป็น 1.ธุรกิจที่คนไทยทำอยู่แล้ว เช่น เปิดร้านขายของ เปิดบริษัททัวร์ รับเหมาก่อสร้าง บริษัทรับจัดสวนตัดแต่งต้นไม้ 2.ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมียนมา เช่น เปิดร้านขายสินค้าให้ชาวเมียนมาโดยเฉพาะ ขับรถสองแถวรับส่งชาวเมียนมาในไทย ซื้อคอนโดฯและปล่อยให้นักธุรกิจชาวเมียนมาเช่า ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกระหว่างไทยกับเมียนมา ธุรกิจท่องเที่ยว และ 3.ธุรกิจที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานเพื่อทำธุรกิจกับประเทศอื่น
“นักธุรกิจเมียนมาจะเข้ามาหลายรูปแบบ บ้างก็เข้ามาแต่งงานกับคนไทยและหาลู่ทางทำธุรกิจ บางคนก็เข้ามาทำธุรกิจโดยตรง เช่น เข้ามาซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่า เนื่องจากกฎหมายของไทยอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของคอนโดได้ 49% ของพื้นที่ขายทั้งหมด และตอนนี้เรากำลังจะแก้สัดส่วนให้ซื้อได้ถึง 75% ของพื้นที่ ต่างด้าวบางคนก็เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างโดยซับงานจากผู้รับเหมาไทยอีกที พวกนี้มีทั้งที่เป็นเมียนมาและกัมพูชา บ้างก็เปิดบริษัทรับทำความสะอาดและรับจัดสวนแบบเหมาทำทั้งหมู่บ้านเลย ซึ่งบางธุรกิจอาจจะผิดกฎหมายแต่เขามีวิธีซิกแซ็ก และให้บริการในราคาที่ถูกกว่าของไทย หรือบางธุรกิจคนไทยก็ไม่ทำ” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว
ขณะที่ พล.ท.นันทเดช ชี้ว่า ปัจจุบันมิติของแรงงานต่างด้าวไม่ได้อยู่แค่ปัญหาแรงงานแต่ขยายไปยังเรื่องอื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะแรงงานเมียนมาซึ่งขณะนี้ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในหลายประเด็น เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลให้สัญชาติไทยแก่เด็กเมียนมาที่เกิดในไทย ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งปัญหาแรงงานเมียนมาอาจจะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากไทย เมียนมา และ สปป.ลาว นั้นมีสัญญาชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน แต่แรงงานเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในไทยส่วนใหญ่จะต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า อีกทั้งยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองไทยบางพรรค โดยมี สส.ของพรรคดังกล่าวเข้าไปยุยงแรงงานเมียนมาให้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว และมีการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ
“เรามีชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายนับล้านคน พอมีลูกก็พยายามจะเรียกร้องสิทธิให้ลูก อยากให้ลูกได้สัญชาติไทย บางส่วนก็ออกเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา มีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหว ระดมทุน ขณะเดียวกันในชุมชนที่มีแรงงานเมียนมาอยู่เยอะๆก็จะมีธนาคารของตัวเอง โดยมีคนที่เป็นโต้โผรับฝาก-ถอนเงิน มีตลาดซื้อขายสินค้าของตัวเอง อย่างเช่นที่ตลาดพระโขนง นอกจากนั้นยังมีกำนันผู้ใหญ่บ้านของตัวเอง เช่น ที่ จ.สมุทรสาคร โดยจะมีไลน์กลุ่มชาวเมียนมา คนเมียนมาไปทำงานที่ไหน เขาเข้าไปดูแลหมด” พล.ท.นันทเดช ระบุ
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้น 'รศ.ดร.อัทธ์' กล่าวว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าถึงเวลาที่รัฐบาลจะจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันเราไม่รู้ว่าแรงงานแต่ละคนทำงานที่ไหน อย่างไร และพักอยู่ที่ไหน เราจึงต้องมีการสำรวจ ขึ้นทะเบียน และจัดทำฐานข้อมูลว่าปัจจุบันมีแรงงานประเทศใดเข้ามาในไทยบ้าง จำนวนเท่าไหร่ ทำงานอะไรหรือเข้ามาทำธุรกิจอะไร พักอยู่ที่ไหน มีลูกหรือเปล่า ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว หากแรงงานเหล่านี้สร้างปัญหาอะไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้สามารถจัดการได้ทัน
โดยเฉพาะในส่วนของแรงงานเมียนมานั้นรัฐควรจะแยกกลุ่มให้ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.แรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งต้องสำรวจให้ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อยู่ในอุตสาหกรรมใดบ้าง 2.แรงงานที่มีทักษะฝีมือ จบปริญญาตรี กลุ่มนี้สามารถบรรจุเข้าไปในสายงานที่ไทยขาดแคลนแรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ระบบเศรษฐกิจไทยและช่วยพัฒนาประเทศ และ 3.กลุ่มนักธุรกิจที่มีเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคลื่นลูกที่สามของเศรษฐกิจเมียนมา กลุ่มนี้มีศักยภาพด้านเงินทุนแต่ต้องมาจัดระเบียบว่าธุรกิจอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SME ซึ่งหากแต่ละกลุ่มเข้าสู่ระบบภาษีที่ชัดเจนจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น
“เมื่อแรงงานเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะมีพลังในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องต่างๆ จึงจำเป็นที่รัฐต้องเร่งจัดระเบียบ ไม่อย่างงั้นเละแน่ ๆ ส่วนแรงงานที่ชอบเคลื่อนไหวหรือยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นเมื่อจัดระบบแล้ว เราก็จะสามารถติดตามพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น หากพบว่ามีการกระทำผิดก็สามารถดำเนินการได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว
ด้าน ‘พล.ท.นันทเดช’ เห็นว่า เจ้าหน้าที่ควรเข้าไปดูแลและควบคุมแรงงานเมียนมาที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หากไม่จัดการก็จะลุกลามไปยังแรงงานกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะแรงงานกัมพูชา ส่วนแรงงานจาก สปป.ลาวนั้นไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเขาอยู่ในกรอบกฎหมายของไทย ซึ่งในยุค 20 ปีก่อนไทยเคยมี 'หน่วยปฏิบัติงานพิเศษ' ที่ทำหน้าที่ควบคุมชาวเมียนที่อยู่ในประเทศไทย เป็นการทำงานรูปแบบหนึ่งของหน่วยข่าวกรอง โดยชาวเมียนมาทุกคนต้องมารายงานตัวต่อหน่วยงานดังกล่าวว่าเข้ามาทำอะไรในประเทศไทย พักอยู่ที่ไหน หน่วยงานนี้จะรู้หมดว่ามีชาวเมียนมาเข้ามาในไทยกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง เราสามารถลงไปตรวจว่ายังอยู่ที่เดิมไหม สร้างปัญหาอะไรหรือเปล่า ทำให้เรามีฐานข้อมูลที่ชัดเจนและสามารถควบคุมแรงงานเหล่านี้ได้ แต่ภายหลังได้ยกเลิกไป โดยปัจจุบันหน่วยงานที่ทำงานด้านข่าวกรองของไทยไม่ได้เป็นหน่วยงานอิสระ แต่เป็นหน่วยงานที่ทำงานเพื่อตอบสนองฝ่ายการเมือง จึงละเลยเรื่องความมั่นคง ต่างจากเมื่อก่อนที่ทำงานโดยยึดเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก
“แนวทางในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้นรัฐบาลไทยสามารถดำเนินการในรูปแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาทำ คือออกกฎหมายให้ต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยทุกคนต้องแจ้งต่อหน่วยงานความมั่นคงภายใน 7 วัน ทำให้รัฐมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว สามารถส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบว่าเข้าอยู่แล้วได้ทำงานไหม ทำงานอะไร ใบอนุญาตทำงานหมดอายุหรือยัง ถ้าไม่มีใบอนุญาตก็ต้องผลักดันออกนอกประเทศ” พล.ท.นันทเดช กล่าว