Monday, 28 April 2025
NEWS

ทร.โดย สอ.รฝ.เร่งขนย้ายเตียงสนามเข้าสนับสนุน เหตุแผ่นดินไหว ตึกถล่ม กรุงเทพมหานคร

(4 เม.ย.68) เวลา 18.00 น. กองทัพเรือ โดยหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จัดกำลังพลลำเลียงเตียงสนาม จำนวน 60 เตียง เข้าทำการสนับสนุนในส่วนของ กองทัพเรือ เพื่อเป็นที่พักเพิ่มเติมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และญาติผู้สูญหาย จากเหตุการณ์อาคารถล่ม ในพื้นที่เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 

ซึ่งก่อนหน้านี้ สอ.รฝ. ได้จัดส่งชุดค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (USAR TEAM) เป็นกำลังพล และยุทธโธปกรณ์ ร่วมกับส่วนภาคพื้น (Ground Control) เข้าค้นหาผู้ประสบภัยบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง เข้าร่วมค้นหาและ สนับสนุนชุดเคลื่อนย้ายเคสดำ เพศชาย 1 นาย  สนับสนุนภารกิจเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางบริเวณช่องทางสำหรับการเข้าค้นหาผู้ประสบภัย และสนับสนุนภารกิจในการส่องกล้อง เพื่อค้นหาผู้ประสบภัย เมื่อ 29 มี.ค.68 หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ตึกถล่มกรุงเทพฯ มีผู้เสียชีวิตและติดอยู่ภายในจำนวนมาก

บทสนทนานักศึกษานานาชาติ ม.ฟูตั้น มหาลัยดังของจีน ประเทศใครโดนภาษีเท่าไร จากนโยบายภาษีตอบโต้ของ ‘ทรัมป์’

(4 เม.ย. 68) นายสรวง สิทธิสมาน อดีตนายกสมาคมนักเรียนไทย-จีน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า บทสนทนาคาบเรียนเช้าวันพฤหัสบดี ตลกดี

คลาสนี้มีเพื่อนต่างชาติจากหลายประเทศ ทั้งรัสเซีย เกาหลี อินเดีย มาเลเซีย และผมที่เป็นคนไทย ส่วนอาจารย์เป็นคนจีน

ผมถึงห้องเรียนคนแรก ก่อนเวลาเรียนประมาณ 15 นาที พอเพื่อนคนอื่นมาถึงห้องเรียน ก็เริ่มทักทาย และชี้หน้าถามกันประมาณว่า….

“เฮ้ยมึง! ประเทศมึงโดนกี่เปอร์เซ็นต์นะ ?”

คนเวียดนาม : “มึงงง ประเทศกูโดน 46%”

คนเกาหลี : “โห หนักจัดดด ของกูโดนแค่ 25% เอง”

ผม : “เห็นข่าวอยู่ แต่ยังไม่ได้ดูเลยว่าไทยโดนเท่าไหร่”

อาจารย์ : “ไทยโดน 36% ถือว่าสูงอยู่นะ”

ผม : “我的天…”

อาจารย์ : “อาเซียนโดนหนักเลย ลาว กัมพูชา เวียดนาม โดนเกือบ 50% กันหมด”

หลังจากนั้นก็นั่งบ่นกัน อาจารย์เลยอาศัยจังหวะนี้ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็น Tariffs กันประมาณ 20 นาที และเปิดวิดีโอทรัมป์ถือจอใหญ่ที่แสดงลิสต์ของประเทศที่โดนภาษี reaction ของทุกคนคือเฮฮา ตลกกับคำพูด และลีลาของผู้นำ US แต่ก็บ่น ๆ กันประมาณว่า “อะไรวะเนี่ย” 🤣

จากนั้นพอเลิกเรียนก็พากันไปกินข้าวกลางวัน นั่งเปิดวิดีโอของ Ryan กับ Tony ที่เป็นคนจีนที่ชอบเลียนแบบลีลาการพูดของทรัมป์และนั่งขำกันพักใหญ่

เป็นบทสนทนาตอนเช้าที่ตลกดี

อาจารย์ - ลูกศิษย์ ‘วิศวะบางมด’ ลงพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย ผนึกกำลังนำวิชาชีพรับใช้สังคม พร้อมเรียนรู้งานจากสถานการณ์จริง

เมื่อวันที่ (3 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก Faculty of Engineering,KMUTT ของ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โพสต์ข้อความว่า...

บ้านสวนธน พุทธบูชา 47
⚙️คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี #วิศวะบางมด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารหลังเหตุแผ่นดินไหว

ทีมคณาจารย์และนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. #ทีมวิศวกรมดอาสา มจธ. และพันธมิตร ได้เร่งดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารความมั่นคงของอาคาร

ทีมตรวจสอบ นำโดย:
1. รศ. ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล
2. ดร.กสาน จันทร์โต
3. ณัฐวัฒน์ มหาสุวรรณชัย (พาสเวิร์ด)
4. รวิวาร เอกอินทุมาศ (เกรส)
5. โฆษิต จริยาทัศน์กร (หนึ่ง)
6. ธิปก กิจกอบสิน (หนึ่ง)
7. พัฒนา อุ่นยิ่งเจริญ (นิค)
8. กฤษณ์ เอื้อสุนทรพานิช (กิต)
9. Leangheng Chea (Heng)
10. สหัสวรรษ วัยนิพิฐพงษ์ (เชน)
11. ปองชัย ศรีแสงทอง (เปา)

วิศวกรอาสา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. #วิศวะบางมด 
ตรวจสอบในเขตรอบมหาวิทยาลัย
สอบถามรายละเอียดและติดต่อทีมได้ที่:
• 02-470-9016 / 061-357-4755

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. โทร 02-470-9017
Faculty of Engineering, KMUTT
Website: https://eng.kmutt.ac.th/
Instagram: https://www.instagram.com/engineeringkmutt/
Facebook: https://www.facebook.com/eng.kmutt
TikTok: https://www.tiktok.com/@engineeringkmutt

พพ. แจงภารกิจคืนพื้นที่เกาะร้อยไร่สำเร็จ – ไร้ผู้บุกรุกแล้ว เร่งเดินหน้าฟื้นฟู พร้อมปิดพื้นที่ทางเข้าถาวรกันบุกรุกซ้ำ

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่เกาะร้อยไร่สำเร็จ! ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป  ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ เดินหน้าฟื้นฟูเขื่อนคิรีธารสู่การจัดการน้ำและพลังงานอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ (3 เม.ย. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานติดตามการบุกรุกพื้นที่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร ณ ห้องประชุมตากสิน ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อหารือสถานการณ์การคืนพื้นที่ 'เกาะร้อยไร่' และแนวทางควบคุมการใช้พื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำอย่างเข้มงวด และภายหลังการประชุม ดร.หิมาลัยพร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพจริงทั้งทางบกและทางน้ำ ณ เขื่อนคิรีธารและเกาะร้อยไร่ พร้อมดำเนินการ 'ปิดพื้นที่ทางเข้าเกาะร้อยไร่ถาวร' เพื่อไม่ให้มีการกลับเข้าบุกรุกซ้ำ

ดร.หิมาลัยให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังครบกำหนด 30 วันที่ให้โอกาสแก่ผู้บุกรุกตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้ไม่มีผู้บุกรุกหลงเหลืออยู่ในพื้นที่เกาะร้อยไร่อีกต่อไป โดยราษฎรที่เคยใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ดำเนินการรื้อถอนระบบน้ำและสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมด เหลือเพียงต้นทุเรียนและต้นกล้วยบางส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อ “เราให้โอกาสแล้ว ให้เวลาแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาต้องเดินหน้า หากใครยังฝ่าฝืน จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซาก ขอประกาศว่า พื้นที่เกาะร้อยไร่ถือเป็นเขตควบคุม ห้ามเข้ายึดครองหรือใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตอีกต่อไป” 

พร้อมกันนี้ยังขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้อยู่ภายใต้กฎหมาย และเคารพพื้นที่ของทางราชการ “เราต้องการให้การจัดการทรัพยากรน้ำและพลังงานของประเทศดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ ขอความกรุณาอย่าบุกรุกพื้นที่ของรัฐ เพราะหากยังมีผู้ฝ่าฝืน พพ. ก็จำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ”

ด้าน นายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้ติดตั้งป้ายห้ามเข้าพื้นที่ในบริเวณที่ยึดคืนอย่างชัดเจน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบร่วมกับชุมชนทั้งทางบกและทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเตรียมใช้โดรนบินสำรวจและกำหนดมาตรการตรวจการประจำเดือนเพื่อเฝ้าระวังการบุกรุกซ้ำอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนพื้นที่อื่นภายในเขตโครงการ พบว่ายังมีการบุกรุกบนเกาะต่าง ๆ จำนวน 7 เกาะ รวมพื้นที่กว่า 164 ไร่ และบริเวณป่าสงวนอื่น ๆ อีกกว่า 225 ไร่ โดยได้ติดประกาศขอคืนพื้นที่ใหม่เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 เมษายน 2568 หากยังไม่มีการออกจากพื้นที่ พพ. จะดำเนินการแจ้งกรมป่าไม้เพื่อดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด  

สำหรับกรณีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) จำนวน 48 ไร่ 31 ตารางวา ครอบคลุม 54 แปลง พพ.ได้ส่งหนังสือถึง ส.ป.ก. เพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิในแปลงที่ทับซ้อน และจัดทำแนวเขตใหม่โดยเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการรังวัดกันเขตแล้ว 44 แปลง

นอกจากนี้ พพ. ยังอยู่ระหว่างแผนพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เขื่อนคิรีธาร อาทิ การปรับปรุงสวนสาธารณะพื้นที่ 27 ไร่ การออกแบบภูมิทัศน์บริเวณพลับพลาที่ประทับ พร้อมขอจัดงบประมาณปี 2570 จัดทำรั้วรอบเขื่อน เสริมคันดิน และถนนภายในพื้นที่โครงการ ระยะปี 2571–2574 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและการผลิตไฟฟ้า

เปิดรับสมัครแล้ว! DAD NIDA รุ่นที่ 10 หลักสูตรพัฒนาผู้นำยุคใหม่ ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพด้านบริหาร - สร้างคอนเนคชันทางธุรกิจ

(4 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘DAD NIDA’ เพจประชาสัมพันธ์หลักสูตร Development Administrator in Digital Era (DAD) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนสมัครเรียนโครงการ DAD NIDA รุ่นที่ 10 ระบุว่า…

ถ้าคุณกำลังมองหาหลักสูตรผู้บริหารที่ช่วยยกระดับศักยภาพและเครือข่าย DAD NIDA รุ่นที่ 10 คือคำตอบ เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ การันตีคุณภาพโดย NIDA

Key Highlights ที่คุณไม่ควรพลาด  
New Activities
Speed Networking – ขยายคอนเนคชันทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว
DAD Executive Networking Night – สร้างเครือข่ายกับผู้บริหารระดับแนวหน้า
Executive Learning Circles (elcs) – แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์แบบเข้มข้น
DAD Site Visit – เรียนรู้จากองค์กรชั้นนำผ่านการเยี่ยมชมสถานที่จริง

New Curriculum องค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาผู้นำยุคใหม่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ อัปเดตเทรนด์ดิจิทัลสำคัญ พัฒนา soft skill ด้านภาวะผู้นำในยุคดิจิทัล

หลักสูตรนี้เหมาะกับใคร
ภาคเอกชน – ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ ข้าราชการและองค์กรภาครัฐ – ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการทูต ข้าราชการตำรวจ นายทหาร และผู้บริหารในองค์กรภาครัฐ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับสื่อและสังคม – สื่อมวลชน ศิลปิน ดารา พิธีกร ผู้บริหารภาคประชาสังคม มูลนิธิ ngos สมาคม ก้าวสู่การเป็นผู้นำยุคดิจิทัลกับหลักสูตร Development Administrator in Digital Era (DAD) ที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนา

ผู้บริหารและผู้นำแห่งอนาคต  
สมัครได้แล้ววันนี้ - 30 เมษายน 2568
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.dadnida.com
ลงทะเบียน https://forms.gle/roAqiV7U1p4oCdSa9
สอบถามเพิ่มเติม โทร. 092-728-6722

ผู้ช่วย รมว. กระทรวง อว.ลงพื้นที่การดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ผลักตันการท่องเที่ยวจากเมืองรองสู่เมืองหลักเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี

นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่การดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคกลาง-ตะวันตกประตูสู่ทวาย และการนำ อววน.สู่การพัฒนาท้องถิ่น

การผลักตันการท่องเที่ยวจากเมืองรองสู่เมืองหลักเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี และยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 3 - 4 เมษายน 2568 ณ จังหวัดกาญจนบุรี

วันที่ 4 เมษายน 2568 ณ จังหวัดกาญจนบุรี นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะฯ ลงพื้นที่การดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี โดยมีว่าที่ร้อยตรีศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พจนีย์ สุขชาวนา  อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี  พร้อมด้วย ผู้บริหาร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษา พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดกาญจนบุรี และสื่อมวลชน 

ว่าที่ร้อยตรี ศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า จังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นชื่อว่า “กาญจนบุรี เมืองแห่งความสุข” เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทั้งทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ซึ่งมีศักยภาพอย่างยิ่งในการพัฒนาและต่อยอดด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในทุกมิติ

การที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่จริง เพื่อรับฟังความคิดเห็น และสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับจังหวัด ถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง จังหวัดกาญจนบุรีพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมืออย่างเต็มที่ กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการบูรณาการกับหน่วยงานด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม และสร้างคุณค่าต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พจนีย์ สุขชาวนา  อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี กล่าวถึง นโยบายตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนว่า  มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี อว.ส่วนหน้าจังหวัดกาญจนบุรี มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนนโยบายของกระทรวงในการพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูง สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ในยุคปัจจุบัน และร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนท้องถิ่นในทุกมิติ 

บทบาทและพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี คือการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาท้องถิ่น โดยให้บริการทางวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม   ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างองค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพของชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

ในการนี้ มหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้ การอบรมพัฒนาทักษะอาชีพ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน การสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ
     
ในโอกาสนี้ตัวแทนนักศึกษาและอาจารย์ ได้แสดงความเห็นแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนงานด้าน อววน.

นายเรวัฒน์  ตัวแทนนักศึกษาวิศวกรสังคม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  กล่าวว่า ผมเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดอบรมน้องๆ และนำทีมน้องๆ ลงพื้นที่ ในการนำเครื่องมือของวิศวกรสังคม เริ่มตั้งแต่กระบวนการสำรวจความต้องการของชุมชน และขณะนี้ผมได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โดยดำเนินการไปแล้ว 6 กิจกรรม เน้นในเรื่องการบริหารจัดการขยะให้มีมูลค่า การดำเนินงานผ่านไปด้วยดี แต่ยังมีบางส่วนที่ต้องการได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น หน่วยงานที่เข้ามาหนุนเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ต้องการให้มีกิจกรรมและมีการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมทั้งด้านพัฒนาศักยภาพ ทั้งด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป 

นายโรจนฤทธิ์ สิริล้อสกุลเพชร  คณะวิทยาการจัดการ กล่าว ทาง อว. มีนโยบายหรือโครงการใดบ้างที่สนับสนุนนักศึกษาหรือบัณฑิตที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง โดยเฉพาะในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การให้คำปรึกษา และการสร้างเครือข่าย

ตัวแทนอาจารย์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ ร.ต.ดร.นพรัตน์ ไชยชนะ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประเด็นคำถามถึง อว. เพื่อสะท้อนจากมุมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ชายแดนและกลุ่มชาติพันธุ์ในกาญจนบุรีมีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ค่อนข้างมาก อว. มีแนวทางในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน อววน. อย่างไรให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์และพื้นที่ชายแดน เช่น การสนับสนุนเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพคนในพื้นที่

อาจารย์จักษุมาลย์ วงษ์ท้าว อาจารย์สาขาวิชานวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลไกขับเคลื่อนสำคัญในกระบวนการ Soft Power ของ อววน. โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนทุนวิจัยแก่สถาบันอุดมศึกษา ในปี 2569 และในอนาคตเป็นอย่างไร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมสัน ศรีบุญเรือง อาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ งานวิจัยบางงาน เช่น งานการขับเคลื่อนนโยบายจากผลงานวิจัย มีโอกาสหรือไม่ที่จะได้รับการสนับสนุนในระยะเวลาต่อเนื่อง เหมือนมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ จะมีโครงการศึกษาเบื้องต้น การพัฒนาเครื่องในปีแรก ปีที่ 2 ประยุกต์ใช้/ออกแบบนวัตกรรมในพื้นที่จริง 3. การใช้และประเมินผลกระทบในพื้นที่ เพื่อนำมาสู่การต่อยอดสู่นโยบาย ที่สามารถบูรณาการเป็นนโยบายของหน่วยงานจังหวัดได้ เช่น การท่องเที่ยวผ่านผัสสะเมืองเก่ากาญจนบุรี/ การขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองท่องเที่ยว เป็นต้น เนื่องจากงบประมาณที่ได้มาจะเป็นปีต่อปี ทำให้ขาดความต่อเนื่องสานต่อ

สำหรับผลงานคณะฯที่ออกบูธนำเสนอผลการดำเนินงาน 
1.คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี น้ำมันไพลชาววัง , ยาดม , ยาหม่อง , สปาแช่เท้า : วิสาหกิจชุมชนวังขนายเฮิร์บ น้ำพริกกล้วยกรอบสมุนไพร , กล้วยแท่งกรุบกรอบ : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารบ้านหินแหลม

2.คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผลิตภัณฑ์จากชุมชนบ้านหนองบาง ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย โครงการ “การจัดการทุนวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนตำบลท่าขนุน 
อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี” (บพท.) ผลิตภัณฑ์ชุมชนวิถีลาวเวียง บ้านดอนคา ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

3.คณะวิทยาการจัดการ ผลิตภัณฑ์มะนาวดอง / มะนาวแช่อิ่ม / มัลเบอร์รี่และมะขามป้อมกวน : วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรสวนมาลี ผลิตภัณฑ์ไวน์อ้อย น้ำตาลอ้อยแท้ 100% : วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอ้อยตำบลหนองตากยา

4.คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ไม้ทำมือคนพิการ : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มไม้ทำมือคนพิการ ตำบลจรเข้เผือก ผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

5.คณะครุศาสตร์Edu-Care-Play 

นอกจากนี้ มีการแสดงต้อนรับ “ระบำศรีชัยสิงห์”
เป็นระบำโบราณคดีที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ได้สร้างสรรค์ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่จากจินตนาการศิลปกรรมภาพจำหลัก ซึ่งภาพจำหลักนี้ ได้ลอกเลียนแบบมาจากปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโบราณสถานที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ดัดแปลงมาจากท่ารำของนางอัปสรบายน ในสมัยขอมบายน มาเป็นหมู่ระบำนางอัปสรฟ้อนรำถวายพระนางปรัชญาปารมิตา ซึ่งเป็นพระมารดาแห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

แสดงโดย นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี อำนวยการฝึกซ้อมโดย  ผศ.ดร.พจนีย์ สุขชาวนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และ 
อาจารย์นนท์วริศ เกียรติศรุตสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ฝึกซ้อมการแสดงโดย อาจารย์ธนพล สามทองกล่ำ อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

นครพนม-รองเลขาธิการ ปปส. ตรวจเยี่ยมกำกับติดตามการดำเนินงานตามแผน  ปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด Seal Stop Safe ในพื้นที่รับผิดชอบของ นบ.ยส.24

เมื่อวันที่ (3 เม.ย.68) เวลา 0930 น. ที่ห้องประชุมพระยอด กองบังคับการมณฑลทหารบกที่ 210 ค่ายพระยอดเมืองขวาง ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม พันเอกศิวดล  ยาคล้าย ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ หน่วยบัญชาการ สกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้การต้อนรับ  นายศิริสุข ยืนหาญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พร้อมคณะ ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกำกับติดตามการดำเนินงานตามแผน  ปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด Seal Stop Safe ผนึกกำลัง 51 อำเภอชายแดน งบประมาณ 2568 ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยบัญชาการ สกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) โดยมี โดย ผู้แทนสำนักยุทธศาสตร์, สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ จังหวัดนครพนม เข้าร่วมประชุม และวันที่ 2 เมษายน 2568 คณะผู้แทนสำนักยุทธศาสตร์ได้ลงพื้นที่ บ้านแสนพันท่า หมู่ที่ 4 ตำบลแสนพัน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ตรวจเยี่ยมและรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน กองร้อยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 2109 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21 บริเวณวัดศรีสะอาด บ้านเหล่านนาด ตำบลพนอม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ตรวจเยี่ยมและรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานในหมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่ชายแดน ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม 

โดยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด “Seal Stop Safe” ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ผนึกกำลัง 51 อำเภอชายแดน เพื่อมอบนโยบายในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจในการปฏิบัติงาน และสามารถเร่งรัดการดำเนินงานสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม​ ซึ่งหน่วยบัญชาการ สกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการปฏิบัติที่สำคัญแต่ละมาตรการตั้งแต่ 1 ต.ค 67 ถึง ปัจจุบัน ประกอบไปด้วย มาตรการสกัดกั้น มาตรการปราบปราม มาตรการป้องกัน  มาตรการบำบัดรักษา มาตรการบูรณาการ มาตรการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย ตั้งแต่ห้วงเปิดปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด “Seal Stop Safe” ผนึกกำลัง 51​ อำเภอชายแดน (1 ก.พ. – 31 ก.ค. 68) หน่วยมีผลการปฏิบัติตามมาตรการสกัดกั้นและปราบปราม ตามแนวชายแดน/ โดยทำการซุ่มเฝ้าตรวจ 6,540 ครั้ง, ลาดตระเวนทางน้ำ 64 ครั้ง, ลาดตระเวนทางบก 5,383 ครั้ง,จัดตั้งจุดตรวจด่านตรวจ 1,530 ครั้ง ทำการปิดล้อมตรวจค้น 47 ครั้ง /ติดตามจับกุม ขยายผล และยึดทรัพย์สิน คดียาเสพติด จำนวน 28 คดี รวมผลการตรวจยึดจับกุมตั้งแต่ห้วงเปิดปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด “Seal Stop Safe” (1 ก.พ. – 31 ก.ค. 68) มีการตรวจยึดจับกุมจำนวน 216 ครั้ง/ ผู้ต้องหา 272 รายของกลาง ยาบ้า 26,970,802 เม็ด,ไอซ์ 1,216.336 กิโลกรัม, และอื่นๆ

ชาติ CLMV และไทย เผชิญแรงกดดันหนักสุด ท่ามกลางเจตนารมณ์ซ่อนเร้นของมหาอำนาจ

(4 เมษายน 2568) รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ วิเคราะห์ถึงหลักการคำนวณและขึ้นภาษีตอบโต้ไทย ถึง 37% ของสหรัฐฯ 

รศ.ดร.สมภพ มองว่า 10% คือภาษีนำเข้าสินค้าที่ไทยเก็บกับสหรัฐฯ แต่อีก 62% คือ 'ดุลพินิจ' ล้วน ๆ จากปัจจัย Non-Tariff หรือมาตรการที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร  

“มันใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวตั้งไม่น้อย มันนามธรรมสูงมาก จับต้องไม่ได้” แต่เขาก็ตั้งข้อสังเกตว่า ชาติ CLMV บวก ไทย โดนหนักสุด ทั้งที่ CLMV คือชาติยากจนอันดับต้น ๆ ของโลก คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ยกเว้นเวียดนาม

“เพราะชาติเหล่านี้ใกล้ชิดกับจีนมาก นี่แหละเจตนารมย์ซ่อนเร้นจริง ๆ ที่เราต้องตีความให้ออก” รศ.ดร.สมภพ กล่าว

ท้ายสุด รศ.ดร.สมภพ ชี้ว่า ไทยมีเวลา 7 วันเพื่อเข้าเจรจาไกล่เกลี่ยกับสหรัฐฯ แต่คิดว่าไม่น่าจะพอ เนื่องจากผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่มีเจ้าหน้าที่เพียงหลักร้อย ไม่น่าจะรับมือนานาประเทศที่จะแห่กันเข้ามาขอเจรจา 

“แต่นี่แหละคือจุดเริ่มต้นการเจรจา” ที่ผู้เป่านกหวีดก็คือทรัมป์เอง

 'สว.อังกูร' ห่วงความปลอดภัยช่วงสงกรานต์ นำคณะอนุกรรมาธิการฯ ถกร่วมตำรวจทางหลวง เตรียมพร้อมรับมือลดอุบัติเหตุ

เมื่อวันที่ (3 เม.ย.68) ที่ห้องประชุม ชั้น 3 อาคาร 1 กองบังคับการตำรวจทางหลวงพล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง ประธานคณะอนุกรรมาธิการความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและการกีฬา วุฒิสภา นำคณะอนุกรรมาธิการ และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ เดินทางไปศึกษาดูงานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว และร่วมประชุมนำโดย พ.ต.อ.โอฬาร เอี่ยมประภาส รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง พ.ต.อ.สุขสวัสดิ์  คูสิทธิผล รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับภารกิจและมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 

โดยกองบังคับการตำรวจทางหลวง ได้จัดทำแผนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน  มีการตรวจสอบและเตรียมความพร้อมทางหลวงพิเศษ หมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) และถนนเส้นอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 โดยตลอดเส้นทางที่เปิดให้ประชาชนใช้บริการจะต้องมีความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มความสามารถ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

จากนั้นเข้าเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมสั่งการจราจร ของกองบังคับการตำรวจทางหลวง ณ ศูนย์สั่งการ 1193 ชั้น 4 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ซึ่งมีกล้อง CCTV และศูนย์รับแจ้งเหตุ สายด่วน 1193 เพื่อความรวดเร็วในการแจ้งเหตุอุบัติเหตุ การจราจรติดขัด หรือเหตุด่วนเหตุร้ายบนทางด่วนและทางหลวง ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง ได้เน้นย้ำการสร้างความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกเเก่นักท่องเที่ยว ซึ่งต้องเร่งการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง เพื่อให้มีความสะดวกควบคู่ไปกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและประชาชนทุกคนในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 นี้

นอกจากนี้ ได้มีพิธีมอบกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมี พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แทนรับมอบกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ จำนวน 25,000 สิทธิ์ พร้อมหมวกนิรภัย มอบโดย นายสุวิรัช  พงศ์เสาวภาคย์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการภายนอก บริษัท เอไอเอ จำกัด เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน

สมุทรปราการ-อบต.บางพลีใหญ่ ร่วมกับวัดบางพลีใหญ่กลาง จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เฉลิมพระเกียรติวันคล้ายวันพระราชสมภพ 70 พรรษา กรมสมเด็จพระเทพฯ

เมื่อวันที่ (3 เม.ย.68) อบต.บางพลีใหญ่ ร่วมกับ วัดบางพลีใหญ่กลาง จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วัดบางพลีใหญ่กลาง ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 

โดยมี ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) ดร. เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง เป็นประธานดำเนินงาน พร้อมด้วย ดร.วีร์สุดา รุ่งเรือง นายก อบต.บางพลีใหญ่ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยได้รับความเมตาจาก ท่านเจ้าคุณพระมงคลธรรมธัช (นฤพล สุขวฑฺฒโน) ดร. เจ้าคณะอำเภอบางเสาธง เจ้าอาวาสวัดศิริเสาธง เป็นพระอุปัชฌาย์ นำคณะสงฆ์ประกอบพิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน จำนวน 56 รูป 

โดยมี นายฉะโอด รุ่งเรือง ที่ปรึกษานายก อบจ.สมุทรปราการ พร้อมด้วย คณะไวยาวัจกร พนักงาน ข้าราชการ อบต.บางพลีใหญ่ คณะครู ผู้ปกครอง และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้ โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ เฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีสามเณร เข้าร่วมโครงการ จำนวน 56 คน เพื่อให้เด็กและเยาวชน ได้รู้จักใช้เวลาว่างช่วงโรงเรียนปิดภาคเรียนให้เป็นประโยชน์ 

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี รักษาวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และเผยแผ่พระธรรมวินัย ตลอดจนเพื่อขัดเกลาจิตใจเป็นการส่งเสริมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม และปลูกฝังศีลธรรมอันดีงาม ให้แก่ เด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสใกล้ชิดและเรียนรู้พระศาสนาด้วยตนเอง เกิดความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา 

‘พีระพันธุ์’ บรรยายหลักสูตร ‘มินิ วปอ.’ คลี่ผลประโยชน์บนพลังงานชาติ ชี้!! ต้องเดินหน้าทลายทุนผูกขาด กลับสู่หลักการ ‘พลังงานเพื่อประชาชน’

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้บรรยายในหัวข้อ ‘ความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต’ แก่ผู้อบรมในหลักสูตร วปอ.บอ.2 

โดยในลำดับแรกนายพีระพันธุ์ ได้เริ่มต้นการบรรยายว่า เรื่องของพลังงานนั้นเกี่ยวข้องกับตนตั้งแต่สมัยยังเด็กเนื่องจากคุณพ่อเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง ซึ่งสิ่งที่ตนเคยได้รับฟังตั้งแต่เด็กคือเรื่องพลังงานคือเรื่องความมั่นคง 

สำหรับพื้นฐานเรื่องพลังงานน้ำมันในประเทศไทย เริ่มต้นในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เริ่มมีแนวคิดในการพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศเพื่อความมั่นคงของประเทศ ต่อมาจึงมีการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตามข้อมูลที่ว่ามีการกลั่นน้ำมันไว้ใช้เองได้ จึงเป็นที่มาของการกลั่นน้ำมันครั้งแรกในประเทศไทยที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 

น้ำมันที่ได้นั้นแต่เดิมมีแนวคิดว่าจะเป็นการนำมาใช้ในกองทัพเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากปริมาณที่จำนวนมาก และแบ่งเบาภาระของประชาชนจึงมีการเปิดปั๊มน้ำมันสามทหารซึ่งจำหน่ายน้ำมันราคาถูกให้แก่ประชาชนคนไทย 

ดังนั้นเรื่องของพลังงานของประเทศไทยจึงเริ่มต้นมาจากความมั่นคง เริ่มต้นจากกองทัพ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ จึงมีการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. และได้มีการโอนทรัพย์สินของ องค์การเชื้อเพลิง มาเป็นของ ปตท. 

ป้ายสามทหารตามปั๊มน้ำมันถูกปลดถูกเปลี่ยนถ่ายเป็นป้ายของ ปตท. และมีการแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“หลังจากยุคองค์การเชื้อเพลิงมิติความมั่นคงในด้านพลังงานถูกมองข้ามไปตลอด และมองในมิติธุรกิจการค้าด้านพลังงานตลอดจนถึงทุกวันนี้ จึงเป็นโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องของน้ำมันมายึดถือผลประโยชน์ของชาติประชาชนเหมือนดังแต่ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากแต่ต้องทำ” นายพีระพันธุ์กล่าว 

สำหรับสถานการณ์น้ำมันในทุกวันนี้ที่ราคาน้ำมันในประเทศสูงมาก สาเหตุที่แท้จริงมาจากโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยมีลักษณะพิเศษจากประเทศอื่น คือ มีภาษีหลายส่วน จากราคาเนื้อน้ำมันประมาณ 18 บาท ราคาน้ำมันที่ขายให้กับประชาชนอยู่ที่ 42 บาทต่อลิตร ซึ่งมีโครงสร้างจากภาษีน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม การจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการจ่ายค่าการตลาด จึงเป็นเหตุผลที่ในภูมิภาคราคาน้ำมันไทยถึงแพงมาก

ซึ่งหากคิดจากโจทย์ที่ว่าจะต้องเอาหลักการเรื่องความมั่นคง หลักการดูแลประชาชนกลับมาในการดูแลเรื่องของน้ำมัน ทำให้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีน้ำมันสำหรับผู้มีรายได้น้อย มีน้ำมันเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ มีน้ำมันสำหรับพี่น้องชาวประมง ที่ทุกวันนี้ใช้น้ำมันมาตรฐาน EURO5 ในอุปกรณ์ทางการเกษตรและจ่ายค่าน้ำมันในราคาเดียวกันกับรถ Super Car

จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องออกกฎหมายใหม่ให้ยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชน มีมิติด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

สำหรับมิติพลังงานเพื่อความมั่นคงคือหลักการยึดผลประโยชน์ของประชาชน แต่สำหรับความมั่นคงด้านพลังงาน สิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคือ น้ำมันสำรองที่เป็นของรัฐ ที่จะตอบโจทย์ทั้งน้ำมันเพื่อความมั่นคงและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นยิ่งตอกย้ำความจำเป็นในข้อนี้ และน้ำมันที่จะสำรองต้องเป็นน้ำมันที่เป็นของรัฐ ไม่ใช่น้ำมันสำรองของเอกชน

ปัจจุบันในทุก ๆ วันมีการใช้น้ำมันประมาณ 120 ล้านลิตร หรือประมาณ 1 ล้านบาร์เรล แต่ที่ผลิตได้มีเพียง 7 หมื่นบาร์เรลต่อวันเท่านั้น การมีน้ำมันสำรองจึงเป็นทางออกในการรองรับทุก ๆ สถานการณ์ด้านพลังงาน

คลังน้ำมันสำรอง หรือ Strategic Petroleum Reserve(SPR) เป็นแนวคิดที่มีจุดเริ่มต้นจากสงครามอ่าวในตะวันออกกลางที่ทำให้ราคาของน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และมีการร่วมกันก่อตั้ง International Energy Agency หรือ IEA ภายใต้แนวคิดจะต้องมีการสต็อกน้ำมันเพื่อดูแลประเทศสมาชิกในช่วงที่เกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น เป็นการใช้ปัญหาน้ำมันมาแก้ปัญหาน้ำมัน โดยการเก็บน้ำมันในช่วงราคาถูก และเอาออกมาใช้ในช่วงที่ราคาแพง โดยมีมาตรฐานที่จะต้องเก็บไว้ 90 ของปริมาณความต้องการในแต่ละวัน 

จากหลักการที่ตนกล่าวข้างต้นประเทศไทยจะต้องมีการเก็บน้ำมันประมาณ 10,000 ล้านลิตร ซึ่งหากมีการริเริ่มทยอยเก็บมาเรื่อย ๆ สิ่งนี้สามารถเป็นจริงได้ 

หลายคนปรามาสว่าประเทศจะหางบประมาณจากไหนเพื่อจัดทำระบบ SPR ซึ่งสำหรับผมเราไม่สามารถใช้เรื่องของเงินมาแก้ปัญหาน้ำมันได้ เราจะต้องใช้เรื่องของน้ำมันมาแก้ไขปัญหาของน้ำมันโดยการเปลี่ยนจากเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันมาเป็นการเก็บน้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันแทน ซึ่งนอกจากจะได้ความมั่นคงด้านพลังงานแล้วสิ่งหนึ่งที่ทำได้ทันทีคือ การลดราคาน้ำมันจากเงินที่จัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันที่หายไปทันที

นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า “แม้จะมีการท้วงติงว่าถ้าทำเช่นนี้ผู้ประกอบการจะอยู่ไม่ได้ แต่เราต้องนึกไว้เสมอว่าไม่มีผู้ประกอบการประชาชนอยู่ได้ แต่ไม่มีประชาชนผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาเราต้องประชาชนมาก่อน”

เนื่องจากเรื่องของพลังงานคือ น้ำมัน-ไฟฟ้า-แก็ส ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของพี่น้องประชาชน เราต้องเปลี่ยนจากที่คิดบนหลักพื้นฐานของธุรกิจการค้ามาเป็นประชาชนเป็นหลักแทน วันนี้เราต้องวางหลักการให้ชัดว่าพลังงานเป็นไปเพื่อความมั่นคงไม่ใช่เพื่อธุรกิจการค้า ซึ่งทั้งหมดกำลังทำผ่านกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ 

สิ่งแรกที่ทำคือ ทุกวันนี้ที่ทราบว่าราคาเนื้อน้ำมันมีราคา 18 บาทนั้น ตัวเลขที่มีการรายงานมาถูกต้องหรือไม่ ผู้ประกอบกิจการทุกรายไม่ต้องรายงานเพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นความลับทางการค้า จึงเป็นที่มาว่าในการดำเนินการใด ๆ จึงมีการอ้างอิงราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นที่มาที่ตนต้องออกประกาศเป็นครั้งแรกให้มีการแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน ซึ่งกลายเป็นว่าราคาน้ำมันของไทยแพงกว่าตลาดโลก เนื่องจากมีการตั้งบริษัทลูกหลายบริษัทและขายต่อเป็นทอด ๆ ทำให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป

แต่สิ่งนี้มาจากแนวคิดที่ผ่านมาที่เราไม่เคยกำกับ ไม่เคยควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเราไม่ได้ยึดว่าเรื่องของพลังงานต้องเอาความมั่นคงมาเป็นตัวตั้ง สิ่งหนึ่งที่ผมใช้อธิบายตลอด คือ การขอขึ้นราคามาม่าต้องมีการขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ ต้องชี้แจงต้นทุน แต่น้ำมันผู้ประกอบการสามารถกำหนดราคาได้ด้วยตนเอง

เรื่องของไฟฟ้าและเรื่องของแก๊สเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกันค่อนข้างมาก ในอดีตไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นส่วนมากใช้น้ำมันเตาและถ่านหินในการผลิต แต่เนื่องด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทำให้มีการปรับตัวและเข้าสู่แก๊สธรรมชาติที่มีการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และกำลังเดินหน้าสู่ยุคพลังงานสะอาด 

ปัจจุบันแหล่งแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยเรามีกำลังการผลิตประมาณ 2,500 ล้าน ลบ.ฟุต ต่อวัน แต่มีความต้องการในการใช้ 5,000 ล้าน ลบ.ฟุต ซึ่งส่วนที่ขาดมีทั้งการนำเข้าจากแหล่งแก๊สในพม่า และนำเข้าจากต่างประเทศในรูปแบบ LNG ที่มีต้นทุนสูงจากการเปลี่ยนสถานะและมีความผันผวนตามราคาตลาดโลก 

จากระบบปัจจุบันที่แก๊สมีราคาเดียวทั้งโรงไฟฟ้า พี่น้องประชาชน และโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้แก๊สในการเดินเครื่องจักรที่มีประมาณ 1,000 โรงงาน มาเป็นสองราคา โรงงานอุตสาหกรรมไม่ควรใช้ราคาเดียวกับพี่น้องประชาชน ไม่ควรมีการแบกราคาของโรงงานอุตสาหกรรมไว้บนบ่าของพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งชาติ

แต่ในเรื่องนี้เมื่อมีการสอบถามทางโรงงานแล้วปรากฏว่ามีเอกชนที่ส่งแก๊สมาขายยังโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดราคาขายตามตลาดโลก ทำให้มี 2 บริษัทในประเทศที่กอบโกยผลประโยชน์ของประเทศไปเปล่าถึงปีละ 20,000 ล้านบาท 

เรื่องของไฟฟ้านั้นปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตประมาณ 50,700 MW ซึ่งตามกฎหมายหน้าที่ส่วนนี้ควรเป็นของ กฟผ. แต่ปัจจุบัน กฟผ. ผลิต 16,261.02 MW เอกชนรายใหญ่ผลิต 18,973.50 MW และในเอกชนรายใหญ่เพียงบริษัทเดียวผลิตถึง 16,000 ?” 

สำหรับผู้ผลิตรายเล็ก 9,254.68 ส่วนใหญ่เป็นการผลิตโดยใช้พลังงานสะอาด และเหล่ารายเล็กประสบปัญหาจากการเซ็นสัญญาไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ต้นทุนสูง จึงมีการจ่ายค่า ADDER หรือให้กำไรฟรี ๆ ซึ่งแทนที่จะให้สัญญาปีต่อปี ก็การแก้จนกลายเป็นสัญญาชั่วนิรันดร์ เนื่องจากเอกชนบอกว่าหาคนปล่อยกู้ยาก และเซ็นกันมาตั้งแต่ปี 50 และที่ร้ายกาจคือไม่มีการหมดอายุ คือพอครบวาระจะต่อสัญญาโดยทันที และรัฐไม่สามารถยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวได้ ซึ่งสัญญาที่มีค่า ADDER เรามีมากกว่า 500 สัญญา 

ในปีที่ผ่านมาไฟฟ้าคนใช้เยอะที่สุด 36,000 MW ค่าเฉลี่ย 25,100 MW แต่เรามีกำลังการผลิตประมาณ50,000 MW เรามีไฟสำรองเกินกว่า 25,600 MW ทำให้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ต้องเดินเครื่องจักร 

แต่ตอนทำสัญญาเอกชนอ้างว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 1,000 MW ต้องลงทุนสร้างสูงแต่เมื่อเดินเครื่องไม่เต็มกำลังการผลิตจะทำให้การชำระเงินกู้ลำบาก รัฐจึงต้องมีการจ่ายค่าพร้อมจ่ายให้เต็มกำลังการผลิต เป็นการจ่ายทั้งหมดเหมือนเดินเครื่องจักรปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้ประชาชนเป็นผู้แบกภาระ 

และนี่คือเหตุผลที่ผู้ผลิตไฟฟ้าถึงร่ำรวยมหาศาลในระยะเวลาไม่กี่ปี  โดยกฎหมายของ กฟผ. มีมาตั้งแต่ปี 2511 สภาพการผลิตไฟฟ้า การค้า และเศรษฐกิจแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ให้ทุกวันนี้ กฟผ. ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องของการผลิตไฟฟ้าเพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับ กกพ. ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ผู้ที่เซ็นสัญญาไม่มีอำนาจในการเจรจากำลังการผลิต

หัวข้อต่อไปคือการเปลี่ยนผ่านพลังงานเรื่องของน้ำมัน และแก๊ส เป็นทรัพยากรธรรมชาติไม่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ แต่พลังงานไฟฟ้ากำลังสู่การเปลี่ยนผ่าน โดยเป็นการเปลี่ยนผ่านกรรมวิธีการผลิตไฟฟ้าจากตอนนี้ที่ใช้แก๊สธรรมชาติไปเพิ่มพลังงานหมุนเวียน หรือที่เรียกว่า RE คือพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมด ทั้งแสงแดด ลม น้ำ ชีวมวล 

ซึ่งเป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านมีการกำหนดร่วมกันว่าในปี ค.ศ. 2050 เราจะต้องมีการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และในปี ค.ศ.2070 เราจะมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ดังนั้นก่อน 2070 เราจะต้องเปลี่ยนการใช้แก๊ส น้ำมัน ถ่านหิน ในการผลิตไฟฟ้าเป็น RE ทั้งหมด ซึ่งเคยมีปัญหาว่าจะต้องมีการจัดเก็บในช่วง RE ไม่สามารถผลิตได้ เทคโนโลยีที่สำคัญคือเรื่องของแบตเตอรี่ 

และเรื่องของ RE ที่มีความสำคัญคือการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เนื่องจากทั้งพลังงานลมและพลังงานน้ำที่มีความไม่แน่นอนสูง 

“เราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ มีส่วนได้เสียด้านพลังงาน ตนเป็นนักการเมือง มาแล้วก็ไป แต่ช่วงที่มาทำงานต้องทำให้ดี วางแผนยังไงให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการคิดถึงแต่เรื่องของธุรกิจการค้า การเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน ไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาการผูกขาดด้านพลังงานได้ ทุกคนต้องช่วยผลักดันให้เรื่องพลังงานหลุดพ้นจากธุรกิจการค้ากลับมาเป็นเรื่องความมั่นคง เหมือนที่กองทัพได้ริเริ่มจัดทำไว้ผ่านองค์การเชื้อเพลิง” นายพีระพันธุ์กล่าวในตอนท้าย

ดอกประดู่ช่อใหม่ พร้อมเบ่งบานในหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ

 

ศูนย์ฝึกทหารใหม่ฯ ส่งมอบทหารใหม่ ผลัดที่ 4/67 ให้หน่วยขึ้นตรง กองทัพเรือ เปรียบดังดอกประดู่ช่อใหม่ พร้อมเบ่งบาน ในหน่วยงานต่างๆ ของกองทัพเรือ น.อ.อภิวัฒน์ นวลรัตนตระกูล รองผู้บังคับการศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ )รอง ผบ.ศฝท.ยศ.ทร.) สายงานการฝึก เป็นผู้แทน ผู้บังคับการศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ (ผบ.ศฝท.ยศ.ทร.) เป็นประธานพิธีส่งมอบทหารใหม่ ผลัดที่ 4/67 จำนวน 2,889 นาย ให้แก่หน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ ณ ลานสวนสนาม บก.ศฝท.ยศ.ทร. ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

พิธีดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ทหารใหม่ทุกนายมีความภาคภูมิใจในความสำเร็จก้าวแรกของการฝึกอบรม จนเป็นที่ยอมรับ และรับทราบแนวทางในการนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน ตระหนักรู้ถึงการประพฤติตนให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมทหาร ตลอดจนการเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคม สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชน ในทุกโอกาส ให้สมกับปณิธานที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่เน้นย้ำที่ว่า "ทหารเรือจะอยู่เคียงข้างประชาชน"

ทั้งนี้ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตรทหารใหม่ ภาคสาธารณศึกษา ผลัดที่ 4/67 ตั้งแต่ 1 ก.พ.68 - 3 เม.ย.68 เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ทหารใหม่ ผลัด 4/67 ทุกนายมีความพร้อมทั้งด้านความเข้มแข็ง มีวินัย และความรู้ทหารเรือเบื้องต้น พร้อมปฏิบัติราชการตามภารกิจของหน่วยต่างๆ ในกองทัพเรือต่อไป

ทั้งนี้การฝึกอบรมฯ อยู่ภายใต้นโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ ที่กำหนดให้เป็นปีแห่งความปลอดภัยของกองทัพเรือ 'Navy-Safety 2025' อย่างเคร่งครัด

สมุทรปราการ-“นายกแดง” อนุศักดิ์ นาคทิม แชมป์เก่า ลงสมัครเลือกตั้งชิงเก้าอี้นายกท้องถิ่นกำลังใจล้นหลาม

(3 เม.ย. 68) ที่อาคารสำนักงานเทศบาลตำบลบางเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ได้เปิดรับสมัครนายกเทศมนตรีตำบลบางเมืองเป็นวันแรก โดยผลการจับฉลากทางด้าน นาวาเอก อนุศักดิ์ นาคทิม อดีตนายกเทศมนตรีตำบลบางเมือง แชมป์เก่า ขวัญใจพี่น้องประชาชน ได้เบอร์ 1 ในนามกลุ่มบางเมืองก้าวหน้า มีกองเชียร์มาให้กำลังใจกันเป็นจำนวนมากทำให้บรรยากาศดูคึกคัก 

ขณะที่ผู้ท้าชิงคือ นายปาณวัฒน์ อุทัยเลิศ ได้เบอร์ 2 กลุ่มอาสาพัฒนาบางเมือง และ นายประสิทธิ์ เจตน์ทรงธรรม ได้เบอร์ 3 พรรคประชาชน หลังจากนี้ทั้ง 3 เบอร์เตรียมตัวลงพื้นที่หาเสียงไปพบประพูดคุยเพื่อขอคะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชน 

สืบเนื่องจาก นาวาเอก อนุศักดิ์ นาคทิม อดีตนายกเทศมนตรีตำบลบางเมือง ได้หมดวาระลงและกำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลบางเมือง รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ในวันที่ 31 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งซึ่งการรับสมัครเลือกตั้งนั้น มีปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรี ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเทศบาลตำบลบางเมืองและคณะเจ้าหน้าที่คอยอำนวยการดูแลความเรียบร้อย

นอกจากนี้ ยังมีกองเชียร์จำนวนมากมาให้กำลังใจพร้อมทั้งส่งเสียงเชียร์ นาวาเอก อนุศักดิ์ นาคทิม (นายกแดง) อดีตนายกบางเมืองกันล้นหลามและขอให้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้อีกด้วย

คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

จีนสั่งสอบเข้ม ‘ไชน่าเรลเวย์’ อาจเจอคดีหนัก หากพบความผิดพลาดโครงสร้าง สตง.

(3 เม.ย 68) เหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม กลายเป็นประเด็นร้อนระดับนานาชาติ หลังจาก นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ออกมาโพสต์แสดงความเสียใจ พร้อมให้คำมั่นว่า รัฐบาลจีนจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ

ล่าสุด ทางการจีน สั่งสอบสวนด่วน บริษัทก่อสร้างจีนที่รับผิดชอบโครงการนี้ โดยเฉพาะ บริษัท ไชน่าเรลเวย์นัมเบอร์ 10 ซึ่งเป็นซับคอนแทรคเตอร์ของโครงการ และอยู่ภายใต้การกำกับของ บริษัทแม่ ไชน่าเรลเวย์

โดยมีการรายงานว่า รัฐบาลจีนเรียกตัวผู้บริหารระดับสูงของไชน่าเรลเวย์ ทั้งหมดเข้ารับการสอบสวน และยืนยันว่า หากพบหลักฐานว่ามีความผิดพลาดในการออกแบบ การก่อสร้าง หรือการตรวจสอบโครงสร้าง บริษัทจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนออกคำสั่งด่วนถึงทุกบริษัทจีนที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานของประเทศเจ้าบ้านอย่างเคร่งครัด โดยระบุชัดว่า หากพบการละเมิดกฎระเบียบหรือมาตรฐานความปลอดภัย อาจต้องเผชิญบทลงโทษจากทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลของประเทศที่ดำเนินธุรกิจ

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของจีนสะท้อนถึงความโปร่งใสและมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลสำคัญในประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการก่อสร้างดังกล่าว ขณะเดียวกัน สังคมยังจับตาว่า รัฐบาลไทยจะมีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้ และจะมีมาตรการใดในการดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องในประเทศต่อไป

สำหรับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (China Railway No. 10 Engineering Group) ได้ร่วมเป็นกิจการร่วมค้าและชนะการประมูลโครงการภาครัฐในประเทศไทยอย่างน้อย 13 โครงการ ระหว่างปี พ.ศ. 2562 ถึง พ.ศ. 2565 รวมมูลค่ากว่า 7,232 ล้านบาท โครงการที่สำคัญ ได้แก่

1. ท่าอากาศยานนราธิวาส อาคารที่พักผู้โดยสารและสิ่งก่อสร้างประกอบ มูลค่า 639 ล้านบาท
2. เคหะชุมชนภูเก็ต เป็นทาวน์โฮมจำนวน 354 หน่วย มูลค่า 343 ล้านบาท
3. อาคารคลังสินค้าที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มูลค่า 146 ล้านบาท
4. หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มูลค่า 132 ล้านบาท
5. ศูนย์ฝึกอบรมมวยสากลมาตรฐานนานาชาติ ที่สนามกีฬาหัวหมาก มูลค่า 608 ล้านบาท
6. อาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 9 มูลค่า 386 ล้านบาท
7. โครงการพัฒนาที่ดินและก่อสร้างศูนย์บริการลูกค้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดภูเก็ต มูลค่า 210 ล้านบาท
8. อาคารที่ทำการกองทัพเรือ มูลค่า 179 ล้านบาท
9. อาคารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มูลค่า 716 ล้านบาท
10. สถาบันฝึกอบรมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครชัยศรี มูลค่า 606 ล้านบาท
11. อาคารผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน โรงพยาบาลสงขลา มูลค่า 426 ล้านบาท
12. อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มูลค่า 2,136 ล้านบาท
13. อาคารเรียนและปฏิบัติการ โรงเรียนวัดอมรินทราราม มูลค่า 160 ล้านบาท

ทั้งนี้ การที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ได้รับงานก่อสร้างภาครัฐหลายโครงการในประเทศไทย แสดงถึงบทบาทที่สำคัญของบริษัทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม ความน่าเชื่อถือของบริษัทอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มงวด

ผู้ช่วย รมว. กระทรวง อว.ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน.และ ”Kick off “เพื่อขับเคลื่อน Soft Power ด้านมวยไทย” ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี

(3 เม.ย. 68) นวัตกรรม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. และ ”Kick off “การส่งเสริมงานด้าน อววน. เพื่อขับเคลื่อน Soft Power ด้านมวยไทย” ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏ หมู่บ้านจอมบึง เมืองราชบุรี 

นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า 
มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มีแนวทางที่ดีในการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ทำให้บัณฑิตสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวง อว. เองก็ได้มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันการศึกษา สร้างความร่วมมือกับสถานประกอบในการร่วมผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์สถานประกอบการภายใต้โครงการสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education หรือ CWIE) ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสฝึกงานและสร้างเครือข่ายการจ้างงานที่กว้างขึ้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยได้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานการศึกษาในจังหวัดได้เป็นอย่างดี เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพทั้งสติปัญญา กาย ใจ ด้วยการพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้สัมมาชีพในชุมชน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาผ่านประสบการณ์การทำงาน
 
มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มีโครงการที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมเกษตรถือเป็นจุดแข็งที่ช่วยยกระดับท้องถิ่นได้จริง และอยากให้มหาวิทยาลัยเร่งผลักดันงานวิจัยให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงนักวิจัย ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ซึ่งกระทรวง อว. มีผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายหลายหน่วยงานที่พร้อมและยินดีให้คำปรึกษา รวมทั้งงบประมาณการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่
 
ด้าน Soft Power มวยไทย การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมด้านมวยไทยเป็นแนวคิดที่ดีที่ช่วยอนุรักษ์ สืบสานต่อยอดมรดกวัฒนธรรมของชาติ และแปลงมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ผ่านกิจกรรมทั้งการกีฬา และการท่องเที่ยว อยากให้มหาวิทยาลัยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้ ขยายผลไปยังสถาบันอื่นที่สนใจร่วมขับเคลื่อนให้กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงขยายกิจกรรมสู่ระดับนานาชาติ เช่น การจัดการแข่งขันหรือหลักสูตรแลกเปลี่ยนด้านมวยไทย เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย
 
จากการลงฟื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ในวันนี้ ทางกระทรวงอว. ได้เห็นศักยภาพของมหาวิทยาลัยและจุดเด่นของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมวยไทยซึ่งเป็น Soft Power ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผ่านอุตสาหกรรมกีฬา ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสื่อบันเทิงซึ่ง กระทรวง อว. เล็งเห็นว่าในอนาคตอาจร่วมกันพัฒนาบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับมวยไทย โดยนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา เช่น ฟิตเนสเพื่อสุขภาพ การพัฒนาอุปกรณ์กีฬา เทคโนโลยีการฝึกซ้อม หรือศาสตร์การแพทย์แผนไทย สื่อดิจิทัลเกี่ยวกับมวยไทยหรือการพัฒนาแพลตฟอร์มเรียนรู้มวยไทยออนไลน์ โดยเร่งประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและนักลงทุน เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยนำมวยไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ 

แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และเป็นอีกหนึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ กระทรวง อว. จะเร่งผลักดันให้เกิดโครงการอบรมและรับรองมาตรฐานครูมวยไทยระดับสากล เพื่อส่งเสริมให้ครูมวยไทยสามารถไปทำงานในต่างประเทศได้สนับสนุนให้นักศึกษามีโอกาสฝึกงานกับค่ายมวย สถานที่ท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างทักษะการทำงานที่ตรงกับความต้องการของตลาด และส่งเสริมให้เยาวชนและนักศึกษาที่สนใจมวยไทยสามารถเข้าถึงแหล่งทุน ทุนการศึกษา หรือโครงการแลกเปลี่ยน เพื่อพัฒนาตนเองสู่ระดับสากลได้ต่อไป
 
กระทรวง อว. มุ่งมั่นสนับสนุนการนำวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมมาใช้พัฒนาพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน และยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เราเชื่อว่าการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ จะช่วยให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่แนวทางเหล่านี้ และหวังว่าจะได้ร่วมมือกันต่อไปในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การศึกษา และเศรษฐกิจ รวมทั้งมวยไทยเพื่อสร้างโอกาสให้กับคนไทย และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เวทีโลก

นางสาวประภารัตน์ นาคผจญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า  ในนามของจังหวัดราชบุรี รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับท่านและคณะ ในโอกาสที่ได้กรุณาเดินทางลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการขับเคลื่อน งานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาจังหวัดราชบุรี ตลอดจนการส่งเสริมอัตลักษณ์ การสืบสานภูมิปัญญา และมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ ผ่านแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำศิลปะมวยไทยมาสร้างคุณค่าและเพิ่มพูนศักยภาพกำลังคน 

ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้มีบทบาทสำคัญในการสืบสาน ต่อยอด และเชื่อมโยงองค์ความรู้
สู่การพัฒนาเศรษฐกิจระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
จังหวัดราชบุรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืนข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ท่านและคณะคงได้เห็นถึงศักยภาพอันหลากหลายของจังหวัดราชบุรี ทั้งในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งล้วนเป็นฐานรากสำคัญที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาล

ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ได้มีบทบาทสำคัญในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดราชบุรีอย่างเป็นรูปธรรม โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ ผ่านการให้บริการวิชาการ งานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรของจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 

โครงการที่เกี่ยวข้องกับ “มวยไทย” ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทรงคุณค่าของประเทศไทย มหาวิทยาลัยฯ ได้สืบสานและต่อยอดองค์ความรู้ดังกล่าวสู่การพัฒนาในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านกีฬา    การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการศึกษาตลอดช่วงวัย ซึ่งล้วนเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นศูนย์กลางการพัฒนาองค์ความรู้ และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงพื้นที่ของท่านในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนแนวคิด และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับพื้นที่กับกระทรวง อว. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของจังหวัดราชบุรีต่อไป

นายทัศนา แช่มสะอาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเบิกไพร กล่าวว่า ขอขอบพระคุณ ที่ท่านได้ให้เกียรติมาเยี่ยมชมบูธนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการ "ต้นกล้ามวยไทยตำบลเบิกไพร"  เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและขับเคลื่อนศิลปะมวยไทยในระดับชุมชนศิลปะมวยไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ทั้งในด้านศิลปะการต่อสู้ การออกกำลังกาย และการส่งเสริมคุณธรรมวินัยแก่เยาวชน 

โครงการ  "ต้นกล้ามวยไทยตำบลเบิกไพร" จึงเกิดขึ้นเพื่อต่อยอดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชนในท้องถิ่น เพื่อให้มวยไทยเป็นที่แพร่หลายและได้รับการอนุรักษ์สืบทอดอย่างยั่งยืนเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะช่วยส่งเสริมและขยายโอกาสให้เยาวชนได้เข้าถึงการเรียนรู้ศิลปะมวยไทยอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top