Saturday, 20 April 2024
LITE

29 มกราคม พ.ศ.2546 จลาจลเผาสถานทูตไทยในเขมร ผลพวง การยุยง ปลุกปั่นให้เกลียดชังไทย

วันนี้ เมื่อ 20 ปีก่อน เกิดเหตุจลาจลเผาสถานทูตไทย ในกรุงพนมเปญ ของกัมพูชา หลังหนังสือพิมพ์รัศมี อังกอร์ ( Rasmei Angkor) ตีพิมพ์บทความปลุกปั่นให้คนคลั่งเกลียดชังไทย

29 มกราคม พ.ศ.2546 เกิดเหตุจลาจลในกรุงพนมเปญ ของกัมพูชา ที่ชาวไทยยังจำได้ไม่ลืม โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากข่าวแปลก ๆ ออกมาว่า เขมรจะทวงคืนปราสาทตาเมือนธมและสต๊กก๊กธม ในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 และบูรณะมาตลอด

กล่าวกันว่า เป็นการปล่อยข่าวจากพรรคฝ่ายค้านของนายสม รังสี ซึ่งต้องการสร้างกระแสชาตินิยมเป็นคะแนนให้พรรคสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนกรกฎาคมนั้น ข่าวนี้ทำคะแนนให้พรรคที่เป็นเจ้าของความคิดพอสมควร พรรคการเมืองคู่แข่งจึงต้องหาทางสร้างกระแสทำคะแนนบ้าง

ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม 2456 ก็มีข่าวในหนังสือพิมพ์ ‘รัศมีอังกอร์’ ลงข่าวว่าดาราสาวไทย ‘กบ’ สุวนันท์ คงยิ่ง ให้สัมภาษณ์ในทีวีช่องหนึ่ง ตอบผู้สัมภาษณ์ที่ถามว่าเธอเกลียดอะไรมากที่สุดในโลก กบ สุวนันท์ บอกว่า เกลียดคนเขมรเหมือนเกลียดหมา เพราะชาวเขมรขโมยนครวัดไปจากไทย เมื่อถามว่าเธอจะเดินทางไปกัมพูชาหรือเล่นละครที่กัมพูชาเป็นผู้สร้างหรือไม่ ดาราสาวไทยก็บอกว่าจะเล่นก็ต่อเมื่อเขมรยอมคืนนครวัดให้แก่ไทย

นสพ.รัศมีอังกอร์เป็นหนังสือพิมพ์เล็กๆ มีคนอ่านไม่เท่าไหร่ ข่าวนี้เลยจุดไม่ติด ต่อมาในวันที่ 26 มกราคม นสพ. ‘เกาะสันติภาพ เดลี่’ ซึ่งเป็นหนังสือขายดีของเขมร ก็เลยต้องถ่ายทอดจาก นสพ.รัศมีอังกอร์ไปกระพือต่อ ทีนี้เลยได้ผล

ยังมี นสพ.กัมพูชาใหม่ รับลูกเสนอเป็นข่าวใหญ่ต่อมาว่า นักศึกษา 3 มหาวิทยาลัยในกรุงพนมเปญ รวมทั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ประณามดาราสาวไทย รับกับการเสนอข่าวกุของหนังสือพิมพ์ โดยไม่ได้วินิจฉัยความเป็นไปได้ของข่าว

เป็นที่รู้กันว่า สุวนันท์ คงยิ่ง เป็นดาราสาวไทยที่ได้รับความนิยมจากคนเขมรอย่างคลั่งไคล้ และระดับการศึกษาของเธอก็ขั้นปริญญา คงไม่ปัญญาอ่อนไปด่าคนเขมรที่นิยมในตัวเธออย่างท่วมท้นแบบนั้น ตรงกันข้าม เธอจะต้องรักคนเขมรอย่างมากด้วย ที่นิยมในตัวเธอ สนับสนุนความเป็นดาราของเธอ ซึ่ง กบ สุวนันท์ ได้แถลงทั้งน้ำตาว่า เธอไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับคนเขมรแบบนั้นเลย ทั้งยังอยากไปชมนครวัดสักครั้งด้วย ถ้าหากเธอพูดก็น่าจะบอกให้ชัดเจนว่าเธอพูดที่ไหน เมื่อไหร่ จะได้เอาเทปมาพิสูจน์กัน

เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ ในวันที่ 27 มกราคม สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ไปปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดกัมปงจาม บ้านเกิดของนายสม รังสี กล่าวแสดงความไม่พอใจในคำให้สัมภาษณ์ของดาราสาวไทย และว่าเธอไม่มีค่าอะไรมากไปกว่าต้นหญ้าที่ขึ้นรอบนครวัด พร้อมทั้งเรียกร้องให้คนกัมพูชามีความพอใจในวัฒนธรรมของตน โดยระบุว่าชาวบ้านหลายคนไม่ยอมประดับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และพระราชินีกัมพูชา หรือแม้แต่ภาพพ่อแม่ของตน แต่กลับนำรูปของสุวนันท์ คงยิ่งมาติดแทน ทั้งยังประกาศว่าได้ออกคำสั่งให้งดฉายละครโทรทัศน์ของไทยเรื่อง ‘ลูกไม้หล่นไกลต้น’ ที่มี กบ สุวนันท์แสดงไปแล้ว

ในวันที่ 29 มกราคม นายเหมา อาวุธ ประธานสมาคมโทรทัศน์กัมพูชา ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า ในวันที่ผ่านมา คณะของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์กัมพูชามีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ทุกสถานีหยุดแพร่ภาพออกอากาศรายการโทรทัศน์ของไทยทั้งหมดไว้ก่อน

จากนั้น ในเช้าวันที่ 29 นั้น มีนักศึกษาประชาชนกว่า 500 คนไปชุมนุมกันที่หน้าสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวุฒิสภา และห่างจากกระทรวงมหาดไทยไม่ถึง 100 เมตร ผู้ชุมนุมซึ่งเชื่อกันว่าเป็นม็อบจัดตั้งได้ชูป้ายด่ากบ สุวนันท์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ต่อมาก็ได้มีการนำธงชาติไทยมาเหยียบย่ำและจุดไฟเผา นายชัชเวทย์ ชาติสุวรรณ เอกอัครราชทูตไทย เห็นว่าเหตุการณ์ไม่น่าไว้วางใจ มีตำรวจยืนดูอยู่ไม่กี่คน จึงโทรศัพท์ไปหาพลเอก เตีย บันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอกำลังสารวัตรทหารมาคุ้มครอง แต่ก็ได้รับคำปฏิเสธ อ้างว่าตำรวจคุ้มครองได้

ช่วงบ่ายสถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น มีการงัดป้ายสถานทูตไทยไปเผา ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้เจ้าหน้าที่ไทยที่ถูกกักตัวอยู่ในสถานทูต จึงได้โทรศัพท์ไปถึงพลเอก เตีย บันห์อีกถึง 3 ครั้ง และนายกฯทักษิณ ชินวัตร ยังได้โทรศัพท์สายตรงถึงสมเด็จฮุนเซนขอให้ช่วยดูแลคนไทย ซึ่งก็ได้รับคำรับรอง แต่ประมาณ 17.00 น. ผู้ประท้วงหลายร้อยคนลุกฮือเข้าไปในสถานทูตและทำลายข้าวของ ท่านทูตได้เรียกเจ้าหน้าที่สถานทูตให้หลบไปอยู่ในบ้านพักด้านหลัง ผู้ชุมนุมก็ตามไปอีก เจ้าหน้าที่สถานทูต 14 คนต่างปีนรั้วหนีตายลงในแม่น้ำ บางคนก็ได้รับบาดเจ็บ โชคดีที่มีคนไทยเอาเรือมารับไปพักที่โรงแรมรอยัลพนมเปญ ขณะหนีก็เห็นไฟลุกขึ้นในสถานทูตแล้ว ต่อมาผู้ช่วยทูตทหารได้มารับท่านทูตไปพักที่บ้านพัก เจ้าหน้าที่บางส่วนยังพักที่โรงแรมต่อไป แต่ต่อมาทั้งโรงแรมรอยัลพนมเปญและบ้านพักผู้ช่วยทูตทหารก็ไม่รอด ถูกเผาวอดทั้ง 2 แห่ง ต้องหนีตายกันต่อไป

หลังจากเผาสถานทูตไทยโชติช่วงแล้ว ม็อบมอเตอร์ไซค์ก็ตะเวนเผาโรงแรมและบริษัทห้างร้านของคนไทย บรรดาคนไทยต้องหนีตายกันหัวซุกหัวซุน หลายคนถูกปล้นรูดทรัพย์เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่ถูกอาศัยโอกาสไปด้วย พวกโจรได้สมทบเข้าปล้นและงัดแงะทรัพย์สินของคนไทย โดยไม่มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาดูแล

สามารถ พยัคฆ์อรุณ อดีตยอดนักมวยไทยชื่อดัง และแชมป์โลกมวยสากลอาชีพคนที่ 10 ของไทย โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อ 27 ม.ค.2566

เมื่อวันที่ 27 ม.ค.66 ที่ผ่านมา นายสามารถ พยัคฆ์อรุณ อดีตยอดนักมวยไทยชื่อดัง และแชมป์โลกมวยสากลอาชีพคนที่ 10 ของไทย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องมวยไทย ภายหลังที่มีกระแสการเคลมมวยไทยจากชาวกัมพูชาผ่านเฟซบุ๊ก 'Samart Payakaroon' ว่า...

เนื่องจากมีแฟนมวยหลายๆ คน ต้องการให้ผมแสดงความคิดเห็นในกรณีประเทศเพื่อนบ้าน ผมไม่ได้มีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์อะไร เลยไม่อยากที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรออกมา

แต่สิ่งที่ผมรู้ มวยไทยของเรา มีหลักฐานการบันทึก รูปภาพ การแข่งขัน มาอย่างยาวนานอยู่แล้ว และพวกเราชาวมวยไทยได้ผ่านอุปสรรค ได้ต่อสู้อะไรกันมามากมายกว่าจะมาถึงจุดนี้ จุดที่มวยไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมจากทุกมุมโลก

สำหรับความคิดผม พวกเรามาไกลเกินกว่าที่จะมาสนใจ ว่าใครจะใช้เราเป็นบันไดในการใช้สร้างชื่อเสียง สร้างเครดิตให้พวกเขา

มวยไทยเป็นกีฬาศิลปะการต่อสู้ที่มีเสน่ห์ มีศักดิ์ศรี มีเอกลักษณ์ มีความเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งหาได้ยากจากกีฬาทั่วไปและไม่มีใครเหมือนแน่นอนครับ

28 มกราคม พ.ศ. 2551 สภาโหวต ‘สมัคร สุนทรเวช’ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของไทย

วันนี้ เมื่อ 15 ปีก่อน สมัคร สุนทรเวช ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองไทย ได้เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่ชนะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และทำให้นายสมัครได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ของประเทศไทย

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี มีขึ้นในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 ครั้งนั้นมีเรื่องสำคัญที่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์หยิบขึ้นมาพูดคุยกันสองประเด็น คือ หนึ่ง การเสนอให้ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ และสอง การเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

สืบเนื่องจากผลจากการเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะได้คะแนนเสียงเกือบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงไม่ห่างกันมาก ที่สำคัญคือภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ส.ส.ของแต่ละพรรคไม่จำเป็นต้องทำตามญัตติพรรค ส.ส.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้อิสระตามความคิดของแต่ละคน ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมาแข่งกับนายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน

‘อุ๊งอิ๊ง’ VS ‘หญิงหน่อย’ อาภรณ์ อุดมการณ์ ความรู้ ความรวย

เทียบฟอร์มกันชัดๆ ระหว่าง ‘อุ๊งอิ๊ง’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ ‘หญิงหน่อย’ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ผู้ช่ำชองในวงการการเมืองไทยมากกว่า 30 ปี

27 มกราคม พ.ศ.2501 วันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร ศูนย์รวมเบื้องต้นนายทหาร - นายตำรวจ

วันนี้ เมื่อ 65 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 27 มกราคม 2601 คือวันสถาปนา โรงเรียนเตรียมทหาร 

โรงเรียนเตรียมทหาร หรือ Armed Forces Academies Preparatory School เป็นสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สังกัดสถาบันวิชาการป้องกันประเทศกองบัญชาการกองทัพไทย และเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทย ที่เป็นศูนย์รวมเบื้องต้นสำหรับผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

โดยผู้ที่ศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร เรียกว่านักเรียนเตรียมทหาร (นตท.)

การรับสมัครบุคคลพลเรือนเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารนั้น โรงเรียนเตรียมทหารมิได้เป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียนเตรียมทหารด้วยตนเอง หากแต่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือก

โดยในแต่ละปีจะมีการกำหนดจำนวนรับนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จากนั้นแต่ละเหล่าทัพจะส่งผู้ผ่านการสอบคัดเลือกมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนเตรียมทหาร เป็นเวลา 2 ปี

ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียนเตรียมทหารแล้ว นักเรียนเตรียมทหารเหล่านี้จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเหล่าทัพ (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ) ตามที่นักเรียนได้สมัครและผ่านการสอบคัดเลือก

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่าทัพแล้ว นักเรียนนายร้อยเหล่านี้ จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นนายทหาร และนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร พร้อมทั้งเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เสด็จแทนพระองค์

26 มกราคม พ.ศ. 2448 ค้นพบ ‘โคตรเพชรคัลลินัน’ เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดในโลกที่แอฟริกาใต้

วันนี้ เมื่อ 118 ปีก่อน มีการขุดพบ เพชรคัลลินัน ( Cullinan diamond ) เพชรดิบเม็ดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ประเทศแอฟริกาใต้

เพชรคัลลินัน ( Cullinan diamond ) เป็นเพชรดิบขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบกันมา โดยมีน้ำหนัก 3,106.75 กะรัต หรือ 621.35 กรัม มีความยาวประมาณ 10.5 ซม. ถูกพบเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2448 (ค.ศ.1905) ที่เหมืองพรีเมียร์ หมายเลข 2 ในเมืองคัลลินัน ใกล้กับกรุงพริทอเรีย ของแอฟริกาใต้ โดยโธมัส อีวาน พาวเวลล์ นักขุด ซึ่งนำมันขึ้นมาจากเหมือง และมอบให้กับผู้จัดการเหมืองคือ เฟรเดอริก เวลส์ เพชรถูกตั้งชื่อตามโธมัส คัลลินัน ประธานของเหมือง 

เซอร์วิลเลียม ครุกส์ เป็นผู้วินิจฉัยเพชรดิบ และพบว่าเพชรนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่ความสว่างใส แต่พบจุดสีดำอยู่ตรงกลาง สีสันของเพชรบริเวณรอบ ๆ จุดดำนั้นสวยงามและเปลี่ยนไปตามเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ เขาคิดว่ามันเกิดจากความเครียดภายในของอัญมณี ซึ่งพบได้ค่อนข้างยากในเพชร

ในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน มันถูกนำออกขายที่กรุงลอนดอน แต่ถึงแม้จะได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังขายไม่ออกจนผ่านไป 2 ปี ในที่สุดในปี 2450 รัฐบาลอาณานิคมทรานส์วาลในแอฟริกา ได้ซื้อเพชรคัลลิแนน และนายกรัฐมนตรีหลุยส์ โบทา ได้ทูลเกล้าถวายเพชรแก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2450 ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ 

หลังจากนั้นเพชรถูกตัดแบ่งและเจียระไนโดยบริษัท Joseph Asscher & Co ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ของเนเธอร์แลนด์

เพชรคัลลินัน ถูกตัดแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ ๆ และต่อมาก็แบ่งเป็น 9 ชิ้นใหญ่  96 เม็ดย่อย และเศษเพชรน้ำหนักรวม 19.5 กะรัต 

เพชรที่เจียระไนแล้วชิ้นใหญ่ที่สุดนั้นได้ชื่อว่า คัลลินัน 1 หรือดาวที่ยิ่งใหญ่แห่งแอฟริกา มันหนัก 530.4 กะรัต และได้ชื่อว่าเป็นเพชรเจียระไนที่ใหญ่สุดในโลก

ไขปม!! แก่นแท้แห่ง ‘กรุงศรีฯ’ พินาศหนแรก เมื่อสาย ‘อ่อนโอน’ VS ‘คลั่งสงคราม’ วัดพลังกัน

เนื้อหาในรอบนี้น่าจะมีใครหลายคนอยากตามติด เพราะผมจะพาทุกท่านไปติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้ง ที่เกิดจากการ ‘แสวงหาอำนาจ’ จนลืมนึกถึงคนในชาติ แต่ก่อนที่ผมจะเล่า ผมขอออกตัวก่อนว่านี่คือเรื่องเล่าจาก ‘บริบท’ ของอดีตที่จะนำมาสอนใจทุกท่าน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้แข็งแกร่ง ไม่ใช่การนำเอาอดีตมาตอกย้ำหรือสร้างดรามาให้ใครนะครับ 

สำหรับบทความแรกนี้ ผมจะสรุปถึงการเสียกรุงครั้งที่ 1 ของเรากันก่อน

หากพูดการเสียกรุงครั้งที่ 1 หลายคนคงทราบจากหนังสือประวัติศาสตร์ภาคบังคับแล้วว่ามี ‘ไส้ศึก’ ที่ชื่อ ‘พระยาจักรี’ ขุนนางกรุงศรีอยุธยาที่รู้เห็นเป็นใจกับกับพม่า ทำให้กองทัพพม่าสามารถบุกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ แต่คุณเคยรู้หรือไม่ว่าก่อนที่จะเสียกรุงในปี พ.ศ.2112  ปัจจัยนอกจาก ‘พระยาจักรี’ มีเรื่องอะไรอีกบ้าง? แล้วพระยาจักรีคือคนขายชาติจริง ๆ หรือ? 

จริง ๆ แล้วการเสียกรุงนั้นเกิดขึ้นจากการสะสมความขัดแย้งของตระกูลราชวงศ์เป็นปฐมเหตุ นับแต่เมื่อคราวที่ ‘สมเด็จพระไชยราชาธิราช’ แห่งราชวงศ์ ‘สุพรรณภูมิ’ สวรรคต ‘พระยอดฟ้าราชโอรส’ ได้ขึ้นครองราชย์ โดยมี ‘แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์’ เป็นผู้สําเร็จราชการ จนเมื่อผ่านไป 1 ปี 2 เดือน พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ จากนั้นก็ได้สถาปนา ‘ขุนวรวงศาธิราช’ ขึ้นครองบัลลังก์ ซึ่งตามรากของตระกูลที่พอสมมติได้ ‘ขุนวรวงศาธิราช’ และ ‘แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์’ นั้นมาจาก ‘ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา’ ที่อยากมีอำนาจเหนือราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาอันนี้เป็นคำรบหนึ่งแห่งความวุ่นวาย

แต่เพียงแค่ 42 วัน ‘ขุนวรวงศาธิราช’ ก็ตกบัลลังก์โดยการจัดหนักของทีมงาน ‘ขุนพิเรนทรเทพ’ ซึ่งสืบเชื้อสายพระร่วงเจ้า มาแต่ราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือตามชอบธรรม เมื่อกู้บัลลังก์คืนแล้วจะขึ้นครองเองก็ได้แต่ด้วยความไม่พร้อมบางประการ จึงได้มอบบัลลังก์ให้แก่ ‘พระเทียรราชา’ จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น ‘สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ’ พระอนุชาต่างมารดากับ ‘สมเด็จพระไชยราชาธิราช’

เมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ทรงตอบแทนคุณความดีของคณะผู้ก่อการทั้งหลายอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะ 'ขุนพิเรนทรเทพ' ที่ได้อวยยศเป็นถึง 'พระมหาธรรมราชา' และยังยก 'พระสวัสดิราช' ซึ่งกาลต่อมาคือ 'พระวิสุทธิกษัตรี' ที่ผู้ที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน' ให้เป็นพระมเหสีแก่ 'พระมหาธรรมราชา' ก่อนขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก คุมหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ซึ่งเป็นการตอบแทนที่ใหญ่โตเป็นอย่างยิ่ง และเป็น 'ดาบสองคม' ที่เป็นเหตุทำให้ถึงกับเสียกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

ซึ่งถ้ามองประวัติศาสตร์ในห้วงเวลานี้อย่างถ่องแท้จะเห็นว่าความผูกพันระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเหนือ เหมือนจะดีแต่เอาเข้าจริง ๆ มันยังคงมีลักษณะของความไม่แน่นอนแฝงอยู่มาก เช่น ตำแหน่งของราชบุตรเขยที่ 'พระมหาธรรมราชา' เปรียบเหมือนรัชทายาท เป็นเจ้าผู้ครองแคว้น เป็นเจ้าฟ้าสองแคว ปกครองหัวเมืองเหนือทั้งหมด ใหญ่กว่า 'พระราเมศวร' รัชทายาทที่มีอำนาจรองจาก 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอะไร เพราะสิทธิ์ขาดอยู่ที่องค์เหนือหัว อำนาจบารมีก็ไม่ได้ก่อร่างสร้างขึ้น แตกต่างจาก 'พระมหาธรรมราชา' อย่างสิ้นเชิง สรุปคือ 'พระราชบุตรเขย' มีอำนาจมากกว่า 'พระราชโอรส' ของกษัตริย์อยุธยา ดังนั้นเมื่อมีมือที่สามเข้ามาแทรก หรือมีคนมาเสี้ยม ไม่แปลกที่ย่อมทำให้แตกร้าว ออกอาการกันได้ และการศึกพม่าจากหงสาวดีก็เปรียบเสมือนเป็นลิ่มที่ตอกรอยแตกแยกให้ปรากฏชัดเร็วขึ้น 

จากการเรียนประวัติศาสตร์ไทย ก่อนที่เราจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2112 นั้น พม่าได้ยกทัพเข้ามาทําศึกกรุงศรีอยุธยาถึง 3 ครั้ง ดังนี้ 

ครั้งแรกเป็นสงครามเสียพระสุริโยทัย พ.ศ. 2091 'พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้' ยกทัพมาทางด่านในเขตจังหวัดกาญจนบุรีเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ครั้งนี้พระมหาธรรมราชายังร่วมมือกับกรุงศรีอยุธยาแต่เป็นการร่วมมือแบบห่าง ๆ ไม่ได้ลงมาตีกระหนาบ กองทัพเมืองเหนือได้เข้าปะทะกองทัพพม่าก็เมื่อพม่าได้ล่าถอยเข้าสู่เขตแดนเมืองเหนือแล้ว ซึ่งพม่าก็ได้เห็นถึงความเปราะบางของความผูกพันนี้ โดยเฉพาะแม่ทัพที่ชื่อ 'บุเรงนอง' ซึ่งคือตัวละครหลักในการเสียกรุงจากฝั่งพม่า

ครั้งที่สองเป็นสงครามช้างเผือก พ.ศ. 2106 'พระเจ้าบุเรงนอง' ยกกองทัพใหญ่เข้ามาทางด่านแม่สอดจังหวัดตาก มีหน่วยลําเลียงเสบียงอาหารจากล้านนา และยึดเมืองเหนือได้ทั้งหมด เหลือเพียงเมืองพิษณุโลกของ 'พระมหาธรรมราชา' ที่ต่อสู้ป้องกันเมือง แต่กระนั้นก็ไม่มีกำลังเสริมใด ๆ โดยเฉพาะกรุงศรีฯ ที่ส่งสารไปแล้วก็ไม่ตอบสนองการทัพขึ้นไปช่วยแต่อย่างใด สุดท้ายก็ต้องยอม ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองคาดการณ์สิ่งนี้ไว้แล้ว 

จากนั้นกองทัพของพระเจ้าบุเรงนองก็ยกเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา โดยมี 'พระมหาธรรมราชา' คุมกําลังเมืองเหนือร่วมทัพมาด้วย การยกทัพมาประชิดเมืองครั้งนี้ 'พระเจ้าบุเรงนอง' อ้างเหตุมาขอแบ่งช้างเผือกเพื่อประดับบารมี แต่พระมหาจักรพรรดิไม่ยอมถวาย ก็พยายามเข้าราวี ต่อกร แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานความแข็งแกร่งของทัพพม่าได้ ซึ่งสงครามครั้งนี้มีบันทึกไว้ว่านอกจากจะเสีย 'ช้างเผือก' แล้ว ยังต้องมอบ 'พระราเมศวร' พระราชโอรสองค์โตในฐานะ 'องค์ประกัน' และต้องมอบขุนนางที่อำนวยการสงครามอีกผู้หนึ่ง นั่นก็คือ 'พระยาจักรี' ให้ไปเป็นข้ารับใช้พระเจ้าบุเรงนอง ที่หงสาวดีด้วย 

หลังจากเสร็จสงครามช้างเผือกแล้ว 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ก็ทรงลาผนวช โดยมี 'สมเด็จพระมหินทราธิราช' ขึ้นครองบัลลังก์อยุธยา แต่แค่เพียงอยุธยาและเมืองที่ขึ้นกับอยุธยาในด้านอื่น ๆ เท่านี้นะครับ ไม่รวมหัวเมืองเหนือและเมืองที่ขึ้นตรงกับหงสาวดี โดยเฉพาะเมืองเหนือนั้น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกไว้ว่า “เมืองเหนือทั้งปวงเป็นสิทธิแก่พระมหาธรรมราชาเจ้า อนึ่งการแผ่นดินในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาบังคับบัญชาลงมาประการใด สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินต้องทำตามทุกประการ” สรุปกรุงศรีอยุธยาอยู่ภายใต้อํานาจของพม่าแล้ว โดยมีพระมหาธรรมราชาที่เมืองเหนือกํากับดูแลเป็นหูเป็นตาแทน แต่ยังให้เกียรติแก่กรุงศรีอยุธยาไม่ได้นับเป็นเมืองขึ้น (สวามิภักดิ์ในฐานะเมืองน้อง ห้ามกระด้างกระเดื่อง) และยังให้อำนาจปกครองตนเองอยู่ ก่อนจะเข้าสู่สงครามครั้งที่ 3 

ครั้งที่สาม คือสงครามกรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ. 2112 สงครามครั้งนี้ห่างจากสงครามช้างเผือกประมาณ 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ราชอาณาจักรพม่าหงสาวดีภายใต้การนําของบุเรงนอง มีความเป็นปึกแผ่น และทรงพลานุภาพที่สุด แต่กระนั้นฝั่งกรุงศรีฯ ยังคงมีความคิดแข็งข้อกับพม่า โดยหันไปคบกับพระไชยเชษฐาแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้างด้วยหวังจะให้มาเช็กบิลกับ 'พระมหาธรรมราชา'

3 สถิติส่วนตัว ใต้ปรากฏการณ์ ‘ลิซ่า’ ฟีเว่อร์ ที่ ‘กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด’ ยังต้องรับรอง

ถือเป็นอีก 1 ศิลปินสายเลือดไทย ที่ไปสร้างชื่อเสียงจนโด่งดังในระดับโลก ในฐานะศิลปินเคป็อป อีกทั้ง ‘ลิซ่า’ ยังสร้างปรากฏการณ์สำคัญหลายเรื่อง เช่น การขึ้นแท่นศิลปินเดี่ยว K-POP คนแรกที่ได้รับรางวัล MTV Video Music Awards / ศิลปินเดี่ยว K-POP คนแรกที่ได้รับรางวัล MTV Europe Video Music Awards และศิลปิน K-POP ที่มีผู้ติดตามบน instagram มากที่สุด

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 66 หนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ หรือ ‘กินเนสส์บุ๊ก’ (Guinness Book of World Records) ได้ประกาศว่า ‘ลิซ่า BLACKPINK’ หรือ ‘ลลิษา มโนบาล’ เมมเบอร์ชาวไทยของศิลปินเค-ป็อป BLACKPINK ที่เดบิวต์ในปี 2016 ได้ทำสถิติส่วนตัวเพิ่มอีก 3 รายการ เพิ่มเติมจากการทำสถิติในฐานะศิลปินหญิงเดี่ยว ยอดวิวยูทูบสูงสุดใน 24 ชม. (73.60 ล้านวิว) จากเพลง LALISA ซิงเกิ้ลเดี่ยวที่ปล่อยออกมาในเดือนกันยายน 2021 คือ…

25 มกราคม พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงเปิดพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์

วันนี้เมื่อ 64 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีบวงสรวงและเปิดพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ประกอบด้วยพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารออกศึกและองค์เจดีย์ยุทธหัตถี 

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างเจดีย์ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามยุทธหัตถี ที่ทรงมีต่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2135 กองทัพบกได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมใหญ่ สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิม ภายในองค์เจดีย์ได้มีการสร้างห้องแสดงประวัติศาสตร์ ทั้งภาพแสงสีเสียง และหุ่นจำลองการยกทัพของพม่าและไทย หลายร้อยตัว เป็นสถานที่ได้ทั้งความรู้และเพลิดเพลิน

อุ๊งอิ๊ง VS คุณหญิงหน่อย อาภรณ์ อุดมการณ์ ความรู้ ความรวย

เริ่มเป็นที่ชัดเจนว่า สนามเลือกตั้งครั้งต่อไปของประเทศเรา จะมีสตรีสองคนลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หนึ่งคือ 'คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กับสอง 'คุณอุ๊งอิ๊ง - แพทองธาร ชินวัตร' หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นับเป็นสีสันและความหวังของเหล่าสตรีบนฐานะผู้นำพรรคการเมือง แต่สิ่งน่าสนใจกว่า (ตอนนี้) อุดมการณ์สร้างประโยชน์แก่ชาติ ก็ด้วยทั้งสองมีพื้นเพมาจากครอบครัว 'Hight Rich' อาภรณ์ห่อหุ้มกายจึงควรค้นหา จับตา ทุกครั้งที่ปรากฏตัวต่อสาธารณชน

"...การแต่งกาย คือ 'แบรนด์ดิ้ง' (branding) คนไทยอาจไม่ได้แต่งตัวถูกต้องตามแบบแผนนัก แต่นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับบุคคลสาธารณะ เพราะการแต่งตัวบ่งบอกว่าเราเป็นใคร ถ้าจะดูนักการเมืองสมัยก่อน อย่างจำลอง ศรีเมือง ต้องใส่เสื้อผ้าม่อฮ่อมคอจีน แขนสั้น เนื้อผ้าเก่า ๆ หรือ ป๋าเปรมก็จะต้องชุดพระราชทาน ซึ่งท่านเป็นคนเผยแพร่ชุดพระราชทานในประเทศไทย และใส่ออกมาดูดี ด้วยรูปร่างและบุคลิกที่นิ่ง เป็นคนที่พิถีพิถันมาก"

ประโยคข้างต้น - 'ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์' กูรูด้านแฟชั่นและบุคลิกภาพ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร 'Esquire' ที่ทุกวันนี้คนรู้จักในนาม 'ลุงเฮม่า' เจ้าของคอลัมน์ตอบปัญหาสารพันบนออนไลน์ เคยกล่าวอรรถาธิบายไว้

ยุคต้นของคุณหญิงสุดารัตน์ ที่เพิ่งร่วมงานทางการเมืองกับพรรคไทยรักไทย เธอย่างก้าวสู่สายตาประชาชนด้วยมาดนักธุรกิจซึ่งประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง เธอเป็นหญิงไม่ห้อยท้ายนามสกุลฝ่ายชาย สวมแว่นสายตาทรงเฉี่ยว โดดเด่น สมัยนั้นมักปรากฏตัวด้วยชุดเดรสส์สีสันสะดุดตา อันหมายถึงความเป็นผู้นำท่ามกลางชายบอดี้การ์ดชุดดำดุจสตรีทรงศักดิ์และอำนาจ

แทบไม่ต่างจากยุคเปิดฤดูกาลเลือกตั้ง 2566 ที่ 'อุ๊งอิ๊ง' ลูกสาวคนสุดท้องของบ้าน 'จันทร์ส่องหล้า' เพราะเพียงแค่เสื้อโค้ทสวมขึ้นเวทียี่ห้อ 'GUCCI' แบรนด์เสื้อผ้าโปรดจากอิตาลีตัวเดียวก็ปาไปเกือบแสน (93,000 บาท) เข้าคู่กับรองเท้า 'Amina Muaddi' ซึ่งกำลังได้รับความนิยม (ผลิตจากประเทศโรมาเนีย) สนนราคา 3,100 เหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 102,412 บาทไทย

จนสื่อมวลชนต่างพากันเน้นที่ราคาเสื้อผ้ามากกว่าถ้อยคำปราศรัย

แต่การเลือกตั้งหนที่จะถึงนี้ 'หญิงหน่อย' ทำการบ้านอย่างดีล่วงหน้า ด้วยการศึกษาการแต่งกายของนักการเมืองระดับตำนานของเกาะอังกฤษ 'มาร์กาเรต แทตเชอร์' นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร จากภาพจำขุดสูทสีน้ำเงินเข้ม (Royal Blue) เข้ารูป กับกระโปรงยาวปิดเข่าสีโทนเดียวกัน ตัดกับเชิ้ตผ้าฝ้ายสีขาวด้านใน ล้วนผ่านการเลือกคัดสรรอย่างดี เพื่อภาพลักษณ์เช่นที่เห็น สมฉายา 'สตรีเหล็ก'

เข้าใจว่าคุณแพทองธารยิ่งต้องปรับตัวมากกว่า เพราะต้องออกหาเสียงด้วยการ 'อุ้มท้อง' จนกว่าจะจบการเลือกตั้ง โดยทุก ๆ ภาพ ต้องดูดี มีอุดมการณ์ สานความฝัน ดันพ่อกลับบ้าน

ลือสะพัด!! ‘ลิซ่า’ ได้รับข้อเสนอย้ายค่าย มูลค่าเกือบ 3 พันล้านบาท

ฮือฮาไปบนโลกออนไลน์ กำลังเป็นกระแสติดเทรนด์ ‘LISA LEAVE YG’ และ #GetThatMoneyLISA หลังจากมีรายงานว่า ลิซ่า แห่ง BLACKPINK ซูเปอร์สตาร์ดังชาวไทย ได้รับข้อเสนอ 81 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อออกจากค่าย YG เพราะกำลังจะหมดสัญญาลงในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า

ตัวเลขข้อเสนอถือว่าน่าสนใจและน่าตกใจเป็นอย่างมากนั่นคือ 100,000 ล้านวอน คิดเป็นเงินไทยคือ 2,665,839,713 บาท หรือเกือบ 3 พันล้านบาท

ลิซ่า ลลิษา มโนบาล แห่งค่าย YG ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แห่งแดนกิมจิ ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีพี่น้องร่วมค่ายอย่าง Big Bang และ 2NE1 เธอเป็นเด็กไทยมากความสามารถ ที่ไปแจ้งเกิดโด่งดังเป็นศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปที่ประเทศเกาหลีใต้ ทั้งฮอตและมากความสามารถ สมกับเป็นไอดอลรุ่นใหม่ แถมความสวยยังโกอินเตอร์ระดับโลก

24 มกราคม พ.ศ. 2543 กองกำลังก๊อดอาร์มี่ บุกยึด รพ.ราชบุรี จับตัว ‘หมอ - คนไข้’ เป็นตัวประกันนานกว่า 20 ชม.

วันนี้เมื่อ 23 ปีก่อน เกิดเหตุระทึกขวัญ ‘กองกำลังก๊อดอาร์มี่’ บุกยึดโรงพยาบาลราชบุรี จับแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยเป็นตัวประกันนับพันคน เหตุการณ์ตึงเครียดกว่า 20 ชั่วโมง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยุติเรื่องราวลงได้

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2543 เกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญ เรียกว่าเป็นข่าวใหญ่ที่ประชาชนคนไทยต่างติดตามกันทั้งประเทศ เมื่อมีรายงานข่าวด่วนว่า มีกองกำลังก๊อดอาร์มี่ จำนวน 10 คน ได้ก่อเหตุบุกยึดโรงพยาบาลที่จังหวัดราชบุรี

สืบย้อนกลับไปก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว กองกำลังทหารกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ เคยเข้าบุกยึดสถานทูตพม่ามาครั้งหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำสอง แต่คราวนี้มีเป้าหมายที่โรงพยาบาล โดยกลุ่มผู้ก่อการทั้งหมดปลอมตัวเป็นผู้โดยสารนั่งรถประจำทางสายสวนผึ้ง-ราชบุรี แล้วใช้ปืนเอ็ม-16 จี้คนขับให้ไปยังโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ก่อนที่จะทำการบุกยึดโรงพยาบาล จับแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยพับพันชีวิตเป็นตัวประกัน

23 มกราคม พ.ศ. 2424 วันประสูติ ‘กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน’ พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่

23 มกราคม พ.ศ. 2424 วันประสูติ นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ‘พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่’

นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน หรือ พระนามเดิมว่า 'พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร' เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาวาด ประสูติ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424

ใน พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า กรมรถไฟหลวง โดยให้ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการรถไฟอีกตำแหน่งหนึ่ง

ช่วงแรกที่พระองค์เสด็จมาเป็นผู้บัญชาการรถไฟใหม่ ๆ กิจการรถไฟ มีคนไทยอยู่น้อยมากส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศมีชาวเยอรมัน อังกฤษ อิตาเลียน และชาวเอเชียชาติต่างๆ เช่น ชาวอินเดีย ชาวซีลอน และชาวพม่า พระองค์จึงทรงระดมคนไทยจากทหารช่าง กรมแผนที่และคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ จากห้างร้านต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานรถไฟ ทรงฝึกฝนคนไทยให้มีความสามารถในกิจการรถไฟด้วยการแนะนำสั่งสอนด้วย พระองค์เอง

'อั้ม พัชราภา' เปิดใจถึงเรื่องความรักและการมีครอบครัว ลั่น อยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่เคยขอเงินผู้ชาย

หลังข่าวเลิกรากับแฟนหนุ่ม ไฮโซพก-ประธานวงศ์ พรประภา จนเป็นที่จับตาของสังคม ล่าสุด อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ นางเอกชื่อดัง ได้มาออกงาน 'Siam Paragon Grand Celebration of Golden Prosperity 2023' ณ บริเวณ พาร์ค พารากอน ชั้นเอ็ม สยามพารากอน ก่อนเปิดใจเรื่องดังกล่าว

โดยอั้มกล่าวว่า "คืออั้มเลิกกันมาตั้งแต่ 10 ธันวาคม และก็ไม่ได้ติดต่อกันเลย เราก็ไม่รับรู้เรื่องอะไร เรื่องหึงหวง บางคนบอกอั้มหึงหวง ไม่มีเลย ไม่เคยโทรเช็ก ไม่เคยทะเลาะกันเรื่องผู้หญิง ไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้ และอั้มก็ไม่เคยถามเรื่องผู้หญิงด้วย"

เมื่อถามถึงสาเหตุที่เลิกกัน สาวอั้มตอบว่า “เรื่องเดิมเหมือนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไม่มีเรื่องอื่นเลย เป็นเรื่องนิสัยที่เราไม่เหมือนกันจริงๆ พยายามปรับแล้ว ปรับไม่ได้ แล้วก็เกิดขึ้นซ้ำๆ หลายรอบมาก จนคิดว่าพอกันแค่นี้" อั้ม พัชราภากล่าว

22 มกราคม พ.ศ. 2486 ประกาศใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทาย หลังจากมีการคิดค้นคำนี้เมื่อปี 2476

วันนี้ เมื่อ 79 ปีก่อน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการคิดค้นคำนี้เมื่อปี 2476 ในรายการวิทยุกระจายเสียง

การกล่าวคำทักทายของแต่ละประเทศล้วนมีความแตกต่างกัน และถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกความเป็นมาของประเทศนั้น ๆ ซึ่งประเทศไทยก็มีคำทักทายเช่นกัน นั่นก็คือคำว่า "สวัสดี" เรียกได้ว่าเป็นคำพูดติดปากไม่ว่าจะเป็นการพบกัน หรือลาจากกัน ต่างก็ต้องเอ่ยคำว่า "สวัสดี" และรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยนั้นมีการใช้คำนี้อย่างเป็นทางการนานเกือบ 80 ปีแล้ว

โดยเริ่มแรกนั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้เล่าต้นสายปลายเหตุว่า เมื่อก่อนเจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงจะใช้คำว่า "ราตรีสวัสดิ์" เป็นการพูดเมื่อจบรายการ บางครั้งก็มีการอนุโลมให้พูดคำว่า "กู๊ดไนท์" (Goodnight) ของอังกฤษ แต่มีคนไม่เห็นด้วย จึงให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ในสมัยนั้น ช่วยคิดหาคำใหม่ขึ้นมาแทน จนในที่สุดก็ได้คำว่า "สวัสดี"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top