Tuesday, 17 September 2024
TODAY SPECIAL

17 กันยายน พ.ศ. 2403 ‘ในหลวง รัชกาลที่ 4’ ปฏิวัติระบบเงินตราครั้งใหญ่ ประกาศใช้ ‘เงินเหรียญบาท’ ครั้งแรกในสยาม

วันนี้เมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2403 หรือ 164 ปีก่อน ‘สยาม’ ประกาศใช้เงินเหรียญบาทเป็นครั้งแรก โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้ผลิตขึ้นโดยเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ เพื่อใช้แทนเงินพดด้วง เป็นตราพระมหามงกุฎ-ช้างในวงจักร

ในรัชสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘โรงกระสาปน์สิทธิการ’ โรงกษาปณ์แห่งแรกของไทย ภายในพระบรมมหาราชวังบริเวณที่เคยเป็นโรง ทำเงินพดด้วงเดิม ด้านหน้าพระคลังมหาสมบัติ บริเวณมุมถนนใกล้กับทางออกประตูสุวรรณบริบาลด้านทิศตะวันออก และติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ขับเคลื่อนด้วยแรงดันไอน้ำเป็นเครื่องแรก ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2403 รัชกาลที่ 4 ได้ออกประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทและเงินแป โดยให้นำเงินเหรียญอย่างใหม่ซึ่งเป็นเงินแบนที่ผลิตได้จากโรงกระสาปน์สิทธิการ นำออกใช้แทน เงินพดด้วง เหรียญดังกล่าวนั้น ด้านหน้าเป็นรูปพระมหามงกุฎ มีฉัตรกระหนาบทั้ง 2 ข้าง ด้านหลังเป็นรูปช้าง อยู่กลางพระแสงจักร เหรียญเนื้อเงินแท้ ราคา ๑ บาท น้ำหนัก 15.33 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางเหรียญ 31 มิลลิเมตร

และเหรียญชนิดต่าง ๆ ประกอบด้วยเหรียญเงินราคา 1 บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง กึ่งเฟื้อง และเหรียทองพัดดึงส์อีกจำนวนหนึ่ง นับเป็นการปฏิวัติระบบเงินตราครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย

อนึ่ง โรงกษาปณ์แห่งนี้ ภายหลังจากการสร้างโรงกษาปณ์แห่งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นโรงหมอตอนหนึ่ง และเป็นคลังราชพัสดุอีกตอนหนึ่ง และต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เกิดไฟไหม้หมดทั้งหลัง

16 กันยายน พ.ศ. 2465 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 6’ พระราชทานที่ดินทรงสงวนที่สัตหีบ ก่อสร้าง ‘ฐานทัพเรือ’ เพื่อดูแลผลประโยชน์ชาติทางทะเล

วันนี้ เมื่อ 102 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ได้ขอพระราชทาน

ย้อนไป เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2465 หรือ 102 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้ขอพระราชทาน และกองทัพเรือสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ

ฐานทัพเรือสัตหีบ เริ่มก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2457 ขณะที่เสด็จประพาสทางชลมารคเลียบฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับในอ่าวสัตหีบ เพื่อทอดพระเนตรการซ้อมรบของกองทัพเรือด้วย

ในการเสด็จคราวนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรหมู่บ้านสัตหีบ เห็นว่า เป็นชัยภูมิอันเหมาะที่จะตั้งเป็นฐานทัพเรือ จึงได้มีพระบรมราชโองการด้วยพระโอษฐ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2457 แก่พระยาราชเสนาผู้แทนสมุหเทศาภิบาล มณฑลจันทบุรี และพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี

ขณะทรงประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งว่า มีพระราชประสงค์ที่ดินฝั่งตำบลสัตหีบ และที่ใกล้เคียงตลอดทั้งเกาะใหญ่น้อยบรรดาที่มีอยู่ริมฝั่งน้ำ อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับใบเหยียบย่ำ หรือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินบนฝั่ง หรือเกาะที่สงวนไว้แล้วนั้นเป็นอันขาด

ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2465 พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ได้มีหนังสือไปกราบถวายบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานที่ดินตำบลสัตหีบที่ทรงสงวนไว้เพื่อจัดเป็นฐานทัพเรือ โดยทรงเน้นให้เห็นคุณและโทษ ของการจัดสัตหีบเป็นฐานทัพเรือไว้

ต่อมาทางกองทัพเรือจึงได้ก่อสร้างฐานทัพเรือ จนมาเป็นฐานทัพเรือสัตหีบ จวบจนถึงปัจจุบัน

15 กันยายน ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันศิลป์ พีระศรี’ เพื่อรำลึกถึง ‘ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี’ บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย ผู้ก่อตั้ง ‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’

วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันศิลป์ พีระศรี’ เพื่อรำลึกถึง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อนักเรียนและศิลปะ

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีชื่อเดิมว่า CORRADO FEROCI เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อ นาง Santina Feroci เมื่ออายุ 23 ปี สามารถสอบผ่านเป็นศาสตราจารย์ จากราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence)

สำหรับเรื่องการศึกษานั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้าศึกษาในระดับชั้นประถม เมื่อปี 2441 พอจบหลักสูตร 5 ปี ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีก 5 ปี หลังจากนั้นก็ได้เข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ จนจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ในขณะที่มีอายุ 23 ปี หลังจากนั้นไม่นานก็รับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์ ที่มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญา นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมอีกด้วย

เมื่อปี 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ซึ่งผลการประกวดครั้งนี้เองที่ทำให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เดินทางมารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และในวันที่ 14 มกราคม 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา

จนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 2484 ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทยตกเป็นเชลยของประเทศเยอรมนีกับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลไทยได้ขอควบคุมตัวศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไว้เอง ก่อนที่จะให้หลวงวิจิตรวาทการ ดำเนินการเดินเรื่องขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘นายศิลป์ พีระศรี’ เพื่อป้องกันมิให้ต้องถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกไปสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี

สำหรับการวางรากฐานการศึกษา ในช่วงแรก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้จัดตั้ง ‘โรงเรียนประณีตศิลปกรรม’ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง’ เมื่อปี 2480 ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม และในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้แยกกรมศิลปากรออกจากกระทรวงศึกษาธิการ และให้มาขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีแทน เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติ เพื่อยกฐานะ ‘โรงเรียนศิลปากร’ ขึ้นเป็น ‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 

โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก และคณะวิชาเดียวที่มีการเปิดสอน คือ คณะจิตรกรรมประติมากรรม (สาขาจิตรกรรมและสาขาประติมากรรม)

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระราชานุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทย อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ปี 2475), อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ปี 2477), พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (ปี 2484) และพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช (ปี 2493-2494) เป็นต้น

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีประโยคที่มักใช้สอนนักเรียนอยู่เสมอว่า "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่า ชีวิตของมนุษย์ช่างแสนสั้นนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการยืนยงคงอยู่ของศิลปกรรมที่จะยืนยงคงอยู่ยาวนานนับร้อยนับพันปี หรือประโยคที่ว่า "นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร" เพื่อเตือนใจลูกศิษย์ให้หมั่นศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้ใหม่ ๆ 

และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน

14 กันยายน พ.ศ. 2485 คนไทยร่วมใจ ‘ยืนตรงเคารพธงชาติ’ วันแรก ต้นแบบที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

“ธงชาติและเพลงชาติไทย…เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย…เราจงร่วมใจกันยืนตรงเคารพธงชาติ…ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราชและความเสียสละของบรรพบุรุษไทย…” 

นี่คือเสียงเชิญชวนให้ยืนตรง ‘เคารพธงชาติ’ ที่ฟังกันจนคุ้นหู และปฏิบัติกันจนเป็นกิจวัตร โดยเราจะยืนเคารพธงชาติเมื่อถึงเวลา 8.00 น. และ 18.00 น. โดยทำติดต่อกันเป็นจริงเป็นจังมา 82 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2485) ทั้งที่ประเทศไทยมีการใช้ธงชาติมานาน เฉพาะธงไตรรงค์ที่ใช้เป็นธงชาติในปัจจุบันก็มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว

เหตุใดคนไทยจึงยืนเคารพธงชาติ?

ต้องย้อนกลับไปในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ออกกฎกระทรวงมหาดไทยเรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดถึงระเบียบในการชักธงและการประดับธงชาติ แต่การยืนเคารพธงชาติก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก

แต่ความสำเร็จในการยืนเคารพธงชาตินั้น เกิดจากรายการวิทยุกระจายเสียง ‘นายมั่น-นายคง’ ซึ่งผู้ดำเนินการทั้ง 2 คนจะสนทนากับผู้ฟังทางบ้านในประเด็นต่าง ๆ (วิทยุเป็นเครื่องมือโฆษณาที่สำคัญของรัฐบาลในเวลานั้น) โดยการออกอากาศวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2485 ได้เชิญชวนและนัดหมายกับประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันว่า…

“เวลา 8.00 น. นับตั้งแต่เช้าวันพรุ่งนี้เปนต้นไปผู้ที่มีเครื่องรับวิทยุ ก็ขอได้โปรดเปิดไห้ดัง ๆ ด้วย เพื่อเพื่อนบ้านไกล้เรือนเคียง และคนสัญจรไปมาจะได้ยินทั่ว ๆ กัน…

“สิ่งแรกฉันหยากขอไห้ยุวชนช่วยฉันไห้พร้อมเพรียง เมื่อเวลาประกาสไห้เคารพทงชาติไห้ทำทุกคนเปนการเคารพชาติที่มีคุนแก่เรา และไห้บอกคนไนบ้านทุกคนทำการเคารพด้วยบอกว่าทงชาติยังหยู่ชักขึ้นแล้ว เอกราชของไทยยังบุญมั่นขวันยืนดี เราต้องพร้อมไจกันทำการเคารพทั่วทั้งชาติ และไนเวลาเดียวกันแหละ…

“ฉันเชื่อมั่นว่าการเคารพทงชาติคราวหน้านี้จะสำเหร็ดได้ด้วยความรักชาติของยุวชนเปนสำคัน ทำตามนี้เรียกว่ายุวชนสร้างชาติ”

13 กันยายน พ.ศ. 2425 วันประสูติ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ ผู้ปรีชาสามารถด้านดนตรี นิพนธ์เพลงอมตะ ‘ลาวดวงเดือน’

ครบรอบ 142 ปี ประสูติกาล ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชสกุลเพ็ญพัฒน เป็นผู้นิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน

‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระนามเดิม พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ ในรัชกาลที่ 5 ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2425 เสด็จไปศึกษาทางด้านเกษตรศาสตร์จากประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2446 ขณะพระชันษา 20 ปี กลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ

ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ โดยได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น สอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม พร้อมกับสร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพ ทรงจัดตั้งกองช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ 

ต่อมา วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2446 กระทรวงเกษตราธิการได้รวมกองการผลิต, กองการเลี้ยงสัตว์ และกองช่างไหม ตั้งขึ้นเป็น ‘กรมช่างไหม’ โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก นับว่ามีพระกรณียกิจในการวางรากฐานเรื่องไหมไทย โดยตั้งโรงเรียนและโรงเลี้ยงไหมขึ้นที่กรุงเทพฯ นครราชสีมา และบุรีรัมย์

งานหลักของกรมช่างไหม คือ การดำเนินงานตามโครงการของสถานีทดลองเลี้ยงไหม เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า ‘โรงเรียนกรมช่างไหม’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัย และฝึกพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงสนพระทัยดนตรีไทย โปรดให้มีวงปี่พาทย์วงหนึ่ง เรียกกันว่า ‘วงพระองค์เพ็ญ’ พระองค์ยังทรงเล่นดนตรีได้หลายชนิด และทรงเป็นนักแต่งเพลงที่สามารถ เมื่อครั้งเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมได้เสด็จไปนครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2446 ทรงชอบพอกับ เจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ พระธิดาใน เจ้าราชสัมพันธวงศ์ ธรรมลังกา ณ เชียงใหม่, เจ้าราชสัมพันธวงศ์นครเชียงใหม่ กับเจ้าหญิงคำย่น (ณ ลำพูน) ณ เชียงใหม่ ได้โปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอ แต่ได้รับการทัดทาน ไม่มีโอกาสที่จะได้สมรสกัน ทำให้พระองค์โศกเศร้ามาก และได้ทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดำเนินเกวียน (หรือลาวดวงเดือน) ขึ้น เมื่อใดที่ทรงระลึกถึง เจ้าหญิงชมชื่น ก็จะทรงดนตรีเพลงนี้มาตลอดพระชนมชีพ

วังที่ประทับของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เป็นบ้านของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) บิดาของเจ้าจอมมารดามรกฎ มีชื่อเรียกว่าวังท่าเตียน (เรียกชื่อตามสถานที่ตั้งวัง เช่นเดียวกับวังท่าเตียนหรือวังจักรพงษ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) มีโรงละครอยู่โรงหนึ่ง ในสมัยนั้นเรียกกันว่า ปรินส์เทียเตอร์

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงศักดินา 15000

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ผู้เป็นต้นราชนิกุล ‘เพ็ญพัฒน์’ มีพระพลามัยไม่สมบูรณ์นัก อาจจะเป็นเพราะพระทัยที่เศร้าสร้อยจากความผิดหวังเรื่องความรัก จึงมีพระชนมายุสั้นเพียง 28 พรรษา สิ้นพระชนม์ด้วยโรคปอดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452

และบังเอิญเสียเหลือเกิน ในปี 2453 เจ้าหญิงชมชื่นก็สิ้นชีพิตักษัยในวัยเพียง 21 ปีเท่านั้น

12 กันยายน พ.ศ. 2557 ‘พล.อ.ประยุทธ์’ แถลง 11 นโยบายดูแลประเทศ หลังดำรงตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ สมัยแรก

ย้อนไปในวันนี้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบาย 11 ด้าน ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังนั่งเก้าอี้นายกฯ สมัยแรก

เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐบาลชุดนี้มีข้อแตกต่างด้านเงื่อนไขและเวลา ต่างจากรัฐบาลชุดก่อน ๆ คือ ต้องสืบทอดสานต่อภารกิจจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาประเทศไว้ก่อนแล้วเป็น 3 ระยะ และรัฐบาลนี้ไม่ได้จัดตั้งขึ้นจากพรรคการเมืองจึงไม่มีนโยบายที่ใช้หาเสียง หวังคะแนนประชานิยม เป็นฐานทางการเมือง

สำหรับนโยบายที่แถลงนั้น จำแนกเป็น 11 ด้าน ดังนี้

1. การปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

2. การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ แบ่งเป็น
2.1ระยะเร่งด่วน รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
2.2 เร่งแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้
2.3 พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพ และระบบป้องกันประเทศให้ทันสมัย
2.4 เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศบนหลักการนโยบายการต่างประเทศ

3. การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ

4. การศึกษาและเรียนรู้ การทำนุบำรุงศาสนา และศิลปวัฒนธรรม

5. การยกระดับคุณภาพ และบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน

6. การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

7. การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน

8. การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม

9. การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

10. การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

11. การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมระยะเฉพาะหน้า

11 กันยายน พ.ศ. 2544 เกิดเหตุการณ์ช็อกโลก ‘วินาศกรรม 11 กันยายน’ หรือ ‘9/11’ ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชน ‘เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์-ตึกเพนตากอน’

วันนี้เมื่อ 23 ปีก่อน เกิดเหตุวินาศกรรมช็อกโลก หลังผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบิน 4 ลำ พุ่งชนตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และตึกเพนตากอน

ย้อนกลับไปเมื่อ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เกิดเหตุการณ์ ‘วินาศกรรม 11 กันยายน’ หรือ ‘9/11’ โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้จี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำ ลำแรกเป็นเครื่องบินพาณิชย์ โบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 11 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์พุ่งเข้าชนตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 1 (1 World Trade Center) ในเวลา 8.45 น. ตามเวลาในท้องถิ่น 

จากนั้นอีกประมาณ 18 นาทีต่อมาลำที่ 2 คือเครื่องบินโบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 2 (2 World Trade Center) ตึกแฝดที่เป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมและนิวยอร์ก

จากนั้นเวลาประมาณ 9.40 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 77 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึกเพนตากอน (Pentagon) ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน 

และเวลา 10.37 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ก็ตกที่เมืองซอมเมอร์เซ็ต รัฐเพนซิลวาเนีย

จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกือบ 3 พัน โดยเป็นผู้โดยสารลูกเรือรวมทั้งสลัดอากาศบนเครื่องบินทั้งหมด 246 คน ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่มอีก 2,602 คน รวมไปถึงนักผจญเพลิง 343 คนและตำรวจอีก 60 คน อีกทั้งยังมีผู้สูญหายอีก 24 คน

เหตุการณ์นี้ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ได้ออกมาแถลงการณ์ว่ามันเป็นการกระทำของอสูรร้าย พร้อมทั้งทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่เอฟบีไอและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเกือบ 5 พันคนออกแกะรอยผู้ต้องสงสัยทั่วประเทศ ได้ตัวผู้ต้องสงสัยชาวอาหรับจำนวน 19 คน โดยมีโอซามา บินลาเดน (Osama Binladen) ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะ (al-Qaeda) เป็นเบอร์หนึ่ง แม้บินลาเดนจะออกมาแถลงข่าวปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังวินาศกรรมครั้งนี้ แต่ก็ดีใจที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับอเมริกา

10 กันยายน ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก’ (World Suicide Prevention Day) สร้างความตระหนักรู้ถึงต้นตอของปัญหา พร้อมส่งต่อพลังใจดีๆ ให้คนรอบข้าง

องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ 10 กันยายน ของทุกปีเป็น ‘วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก’ (World Suicide Prevention Day) โดยเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2546 เพื่อสร้างความตระหนักกับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมถึงผลกระทบของการฆ่าตัวตาย ที่ไม่ใช่เพียงจบแค่คนคนหนึ่งเสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อจิตใจของคนรอบข้างของผู้ตายไปจนถึงผลในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก

ข้อมูลจาก WHO ระบุว่า ในปีหนึ่ง ๆ มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเวลาจะพบว่าทุก ๆ 40 วินาที จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 4,500-5,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติอย่างมาก

โดยปัญหาที่เกี่ยวข้องในเชิงลึกถึงสิ่งที่ซ่อนตัวอยู่ คือโรคทางจิตเวชโดยเฉพาะปัญหาโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าถือเป็นภาวะโรคโรคเรื้อรังที่ไม่ต่างจากเบาหวาน หรือ หัวใจ ไม่สามารถหายได้เอง ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลช่วยเหลือทางจิตเวช

ทั้งนี้ปัญหาการฆ่าตัวตาย เริ่มต้น ‘ป้องกัน’ ได้จากครอบครัว ดังนี้

1. การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Connect) ไม่ห่างเกินไปและไม่ใกล้ชิดจนเกินไป สมาชิกมีความเป็นตัวของตัวเอง มีบทบาทหน้าที่ชัดเจน

2. สื่อสารดีต่อกัน (Communicate) การสื่อสารที่ดีควรเป็นการสื่อสารที่สื่อจากความรู้สึกของตัวเองโดยตรง เช่น บอกความรู้สึกความต้องการอย่างจริงใจ และถามความเห็นเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสนใจในความรู้สึกนึกคิด แสดงความชื่นชมหรือขอบคุณเพื่อเสริมสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันและกัน นอกจากนั้นยังสามารถสื่อสารได้โดยไม่ใช้คำพูดเช่น มองหน้า สบตา การยิ้ม จับมือ โอบกอด การสัมผัส ก็จะช่วยสร้างพลังให้คนในครอบครัวได้

3. เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน (Care) ด้วยการให้เวลากับคนในครอบครัว ใช้เวลาในทำกิจกรรมร่วมกัน ใส่ใจสอบถาม ร่วมมือกันเมื่อเกิดความขัดแย้ง เมื่อคนในครอบครัวมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้น ก็พร้อมช่วยเหลือดูแล

นอกจากนั้น การสังเกตสัญญาณเตือนที่จะทำร้ายตัวเองไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือพฤติกรรม อย่ามองว่า เป็นการเรียกร้องความสนใจ หรือเรื่องล้อเล่น ให้มองเป็นความต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนที่ต้องทำทันที ด้วยการให้คำแนะนำอย่างจริงใจ ไม่ตำหนิหรือซ้ำเติม ให้กำลังใจสร้างความหวังว่าปัญหานั้นแก้ไขได้ คอยระวังอย่างใกล้ชิดให้อยู่ในสายตาและให้อยู่ห่างจากอุปกรณ์ที่เขาเตรียมไว้เพื่อทำร้ายตัวเอง แนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้คำปรึกษา หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือโดยเร็ว

ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการสื่อสารที่ดี เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน จะช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคม

9 กันยายน พ.ศ. 2528 ‘กบฏ 9 กันยา’ พยายามยึดอำนาจ ‘พล.อ.เปรม’ ใต้ฝีมือ ‘กลุ่มทหารนอกราชการ’ ที่อ้างศก.แย่

วันนี้ในอดีต 9 กันยายน พ.ศ. 2528 เกิด ‘กบฏ 9 กันยา’ ขึ้นในช่วงที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ. (ในขณะนั้น) เดินทางไปราชการต่างประเทศ

เหตุการณ์เริ่มขึ้นช่วงเช้ามืดของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 เวลาราว 03.00 น. กลุ่ม ‘ทหารนอกราชการ’ ได้นำกำลังทหารราว 500 นาย ก่อการยึดอำนาจ โดยการรัฐประหารเริ่มที่กำลังทหารจากกรมอากาศโยธินได้เข้าจับกุมตัวพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศที่บ้านพักเพื่อใช้เป็นตัวประกัน และกำลังทหารอีกส่วนหนึ่งพร้อมรถถังของกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ได้เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการคณะรัฐประหาร

พร้อมกับได้เข้ายึด ทำเนียบรัฐบาล, ลานพระบรมรูปทรงม้า, สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) โดยมี พันเอกมนูญ รูปขจร (ปัจจุบัน พลตรีมนูญกฤต รูปขจร) นายทหารที่เคยถูกให้ออกจากราชการเนื่องจากก่อกบฏเมษาฮาวายเมื่อ 4 ปีก่อนหน้าเป็นผู้นำ พร้อมด้วยนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร น้องชาย โดยกำลังทหารที่ใช้รัฐประหารมาจากหน่วยทหารม้าที่พันเอกมนูญเคยเป็นผู้บังคับบัญชา และทหารอากาศของน้องชาย (ขาดหน่วยทหารราบซึ่งเคยเป็นกำลังสำคัญของการรัฐประหารแทบทุกครั้ง?)

นอกจากพันเอกมนูญแล้ว ยังมีนายทหารนอกราชการชั้นผู้ใหญ่อย่าง พลเอกเสริม ณ นคร, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รวมถึงพลเรือนที่เป็นผู้นำแรงงาน เช่น นายสวัสดิ์ ลูกโดด, นายประทิน ธำรงจ้อย และนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของแชร์ชาร์เตอร์ ผู้เสียประโยชน์จากการปราบปรามเงินนอกระบบและทรัสต์เถื่อนของรัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้ร่วมก่อการ

ทั้งนี้ คณะผู้ก่อการฉวยโอกาสยึดอำนาจในช่วงที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) อยู่ระหว่างเดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซีย และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ที่สวีเดน

ส่วนสาเหตุที่ผู้ก่อการใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจคือ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งยังล้มเหลวในการรักษาความเป็นเอกภาพและบูรณภาพของประเทศ (รายงานของ The New York Times)

เหตุการณ์ครั้งนั้น ได้มีการปะทะกันระหว่างฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลเกิดขึ้นบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยฝ่ายกบฏได้ระดมยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และบริเวณวังปารุสกวัน ที่ตั้งของกรมประมวลข่าวกลาง (สำนักข่าวกรองแห่งชาติในปัจจุบัน) ทำให้ นีล เดวิส (Neil Davis) และวิลเลียม แลตช์ (William Latch) สองนักข่าวชาวต่างชาติเสียชีวิต

ทว่า เมื่อถึงเวลาราว 15.00 น. กองกำลังฝ่ายกบฏก็ยอมจำนน 

ความสูญเสียถึงชีวิตในวันนั้น นอกจากที่เกิดขึ้นกับสองนักข่าวต่างประเทศแล้ว ยังมีทหารอีก 2 ราย และประชาชนอีก 1 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 60 ราย

ในช่วงต้นของเหตุการณ์ ฝ่ายกบฏได้ประกาศชื่อของ พลเอกเสริม ณ นคร ว่าเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่เมื่อการยึดอำนาจล้มเหลว พลเอกเสริม กลับอ้างว่าตนรวมถึง พลเอกเกรียงศักดิ์ และพลเอกยศ ล้วนถูกบีบบังคับให้เข้าร่วม

แม้การกบฏจะมีโทษร้ายแรงถึงชีวิต แต่หลังการเจรจารัฐบาลก็ยอมให้พันเอกมนูญเดินทางไปยังสิงคโปร์ ส่วนนาวาอากาศโทมนัส สามารถหลบหนีไปได้ และในปี พ.ศ. 2531 รัฐบาลก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องคดีกบฏในครั้งนี้

นอกจากนี้ การที่คณะกบฏไม่มีหน่วยทหารราบมาเข้าร่วมยึดอำนาจเช่นครั้งก่อน ๆ ยังทำให้เกิดการสันนิษฐานว่าอาจมีผู้ร่วมก่อการบางราย ‘ไม่มาตามนัด’ โดยเป้าจะอยู่ที่นายทหารคุมกำลังสำคัญอย่างพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่มาฐานบัญชาการต้านรัฐประหารที่กรมทหารราบที่ 11 ล่าช้า และพลโทพิจิตรเองก็ได้เป็นผู้เจรจากับฝ่ายรัฐประหารและเปิดโอกาสให้พันเอกมนูญออกนอกประเทศ

ภายหลังเหตุการณ์กบฏ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ได้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจภายในกองทัพ โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการยึดอำนาจ ได้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกแทนที่ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งพลเอกเปรมประกาศในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2529 ว่าจะไม่มีการต่ออายุราชการให้พลเอกอาทิตย์อีกเป็นครั้งที่ 2 และสั่งปลดพลเอกอาทิตย์จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 คงไว้แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

8 กันยายน พ.ศ. 2565 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเสด็จสวรรคตอย่างสงบ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ เสด็จสวรรคตอย่างสงบที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์ เมื่อตอนบ่ายของวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 พระชนมพรรษา 96 ปี ทรงครองราชย์สมบัตินานที่สุดของราชวงศ์อังกฤษ

บีบีซีได้ประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตามเวลาในประเทศไทยเมื่อ หนึ่งนาฬิกา 18 นาที ในคำแถลงของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่ตรัสว่า…

"การสวรรคตของสมเด็จพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้าเป็นเวลาที่เศร้าโศกที่สุดสำหรับข้าพเจ้าและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เราไว้อาลัยกับการจากไปของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่ง ข้าพเจ้ารู้ดีว่าการสวรรคตของพระองค์คงเป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ ตลอดจนประเทศในเครือจักรภพและคนทั่วโลก"

ในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมกล่าวว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีจะประทับที่ปราสาทบัลมอรัลในตอนเย็นวันที่ 8 กันยายนและจะเสด็จกลับกรุงลอนดอนในวันรุ่งขึ้น

ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 นั้น ได้มีรายงานข่าวของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษออกมาตามเวลาในอังกฤษประมาณบ่าย ห้าโมงเย็นของวันที่ 8 กันยายน โดยคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ่งแฮมได้อ้างถึงความกังวลของคณะแพทย์ในพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีหลังจากการประเมินผลการตรวจในตอนเช้า จึงขอพระราชทานให้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะแพทย์

อย่างไรก็ดีในคำแถลงของสำนักพระราชวังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า The Queen is ‘confortable’. หรือสมเด็จพระราชินีทรงสบายดี

แม้ว่าในคำแถลงเพิ่มเติมอาจจะทำให้เห็นว่าสมเด็จพระราชินีไม่ได้ประชวรหนัก แต่ปรากฏการณ์ที่พระโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์เสด็จไปเฝ้าที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์เมื่อเย็นวานนี้ก็ทำให้เกิดความห่วงใยในพระพลานามัยของประมุขของประเทศอังกฤษเช่นกัน

เจ้าชายชาร์ลส์และพระชายาและเจ้าหญิงแอนน์ได้ประทับอยู่ที่บัลมอรัลอยู่แล้ว แต่การเสด็จของเจ้าชายแอนดรูและเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดพระราชโอรสอีกสองพระองค์รวมทั้งพระนัดดาอีกสองพระองค์คือเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่ ทำให้เห็นว่าการที่คณะแพทย์ขอให้สมเด็จพระราชินีอยู่ภายใต้การถวายการรักษานั้นอาจหมายถึงการเฝ้าระวังพระพลานามัยอย่างใกล้ชิด

รายงานข่าวของบีบีซีได้ตั้งข้อสังเกตในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมครั้งนี้ว่า ค่อนข้างจะผิดแผกแตกต่างกับที่ผ่านมาเพราะมักจะเลี่ยงการพูดถึงพระสุขภาพของสมเด็จพระราชินีด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเรื่องส่วนพระองค์

อย่างไรก็ดีก็มีความเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนโดยประธานสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับรายงานของสำนักพระราชวังในเรื่องที่คณะแพทย์ขอให้สมเด็จพระราชินีอยู่ภายใต้การรักษา

ในที่สุดในตอนเย็นเวลาหนึ่งทุ่มบีบีซี ก็มีประกาศข่าวสวรรคตอย่างสงบของพระองค์ เป็นการสิ้นสุดการครองราชสมบัติที่ยาวนานเป็นเวลา 70 ปีของพระองค์

ตลอดเวลาที่ทรงเป็นองค์ประมุข ทรงพบกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษถึง 15 คน เริ่มจากเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล และคนสุดท้าย คือ เอลิซาเบธ ทรัสส์ ซึ่งเพิ่งจะเข้าเฝ้าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาหลังชนะการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคทอรี่คนใหม่และเป็นนายกรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะเข้าเฝ้าถวายรายงานเกี่ยวกับราชการแผ่นดินกับพระองค์ทุกสัปดาห์)

สำหรับการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ครั้งนี้เป็นการสูญเสียพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชสมบัตินานที่สุดอีกพระองค์หนึ่งของโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top