วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 16 กันยายน 2564 ทะลุ 227 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 537,933 คน รวมแล้วตอนนี้ 227,190,094 คน ตายเพิ่มอีก 9,761 คน ยอดตายรวม 4,671,892 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร อินเดีย ตุรกี และอิหร่าน
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 149,288 คน รวม 42,457,468 คน ตายเพิ่ม 2,106 คน ยอดเสียชีวิตรวม 684,800 คน อัตราตาย 1.6%
อินเดีย ติดเพิ่ม 30,361 คน รวม 33,345,873 คน ตายเพิ่ม 432 คน ยอดเสียชีวิตรวม 443,960 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 14,780 คน รวม 21,034,610 คน ตายเพิ่ม 750 คน ยอดเสียชีวิตรวม 588,597 คน อัตราตาย 2.8%
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่ม 30,597 คน ยอดรวม 7,312,683 คน ตายเพิ่ม 201 คน ยอดเสียชีวิตรวม 134,647 คน อัตราตาย 1.9%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 18,841 คน รวม 7,194,926 คน ตายเพิ่ม 792 คน ยอดเสียชีวิตรวม 195,041 คน อัตราตาย 2.7%
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิหร่าน อาร์เจนตินา และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 93.31 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ติดเพิ่มกันหลักหมื่น
ส่วนญี่ปุ่น เมียนมาร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา และลาว ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และไต้หวัน ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
สถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานจำนวนติดเชื้อใหม่ที่รายงานนั้นยังคงสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก
แต่หากรวม ATK ด้วย ก็จะขยับแซงบราซิล ขึ้นเป็นอันดับ 9 ของโลก
ถ้าดูเฉพาะในเอเชีย จำนวนติดเชื้อใหม่ของเราเป็นอันดับ 6
ผลลัพธ์ของนโยบายกล่องทรายและ 7+7
พื้นที่ท่องเที่ยวทั้งภูเก็ต กระบี่ และสุราษฎร์ รวมถึงใกล้เคียง เช่น นครศรีธรรมราช ล้วนกำลังเผชิญกับการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น
การประเมินผลนโยบายนั้น ไม่ควรทำให้ประชาชนเข้าใจผิดด้วยการนำเสนอเฉพาะจำนวนเคสติดเชื้อที่ตรวจพบจากการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น
ขอเน้นย้ำตามหลักวิชาการอีกครั้ง ดัง ๆ ชัด ๆ ว่า นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยว รวมถึงการเปิดประเทศในจังหวัดต่าง ๆ ที่วางแผนกันมานั้น จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดหนักตามมา ด้วยปัจจัยเสี่ยง 2 ประการ
หนึ่ง “การที่คนที่เดินทางจากต่างประเทศอาจนำเชื้อเข้ามาในพื้นที่ได้”
การมีกฎระเบียบให้ตรวจคัดกรองโรคมาก่อนเดินทางนั้น ช่วยลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง
การกักตัว และตรวจซ้ำระหว่างกักตัวตามมาตรฐาน 14 วัน ก็จะลดความเสี่ยงได้อีกระดับหนึ่ง
ส่วนการฉีดวัคซีนครบโดสมาก่อนเดินทางนั้น คนที่ฉีดวัคซีนมาแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อระหว่างช่วงการเดินทาง ระหว่างพำนักในพื้นที่ และแพร่ให้กับผู้อื่นได้
แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญกว่าอันแรกคือ
สอง “นโยบายเปิดท่องเที่ยวและเปิดประเทศ จะทำให้มีจำนวนคนหมุนเวียนมากขึ้นในพื้นที่ กิจการ กิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น มีการพบปะติดต่อกัน ค้าขาย บริการ ใกล้ชิดกัน ใช้เวลาร่วมกันนานมากขึ้น” นี่คือปัจจัยเสี่ยงหลักที่เกิดขึ้นจากนโยบาย และส่งผลให้เกิดการแพร่เชื้อติดเชื้อในพื้นที่มากขึ้น เพราะมีการติดเชื้อในชุมชนอยู่
ปัจจัยเสี่ยงทั้งสองประการนั้นคือ ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากนโยบาย
และผลลัพธ์คือ จำนวนการติดเชื้อแต่ละพื้นที่ที่สูงขึ้น โดยมักจะเห็นได้ชัดตั้งแต่ 6-8 สัปดาห์เป็นต้นไป
การประเมินผลนโยบายดังกล่าว จึงต้องไม่ประเมินและรายงานให้เข้าใจเพียงว่า มีจำนวนการติดเชื้อจากคนเดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ต้องดูจำนวนติดเชื้อทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั้งสองเรื่อง
นี่คือสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ และควรบอกกล่าวเล่าแจ้งให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อให้เกิดตรรกะ การใช้เหตุผล ยืนบนหลักการ และใคร่ครวญทบทวน วางแผนจัดการชีวิตและจัดการปัญหาในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง
แต่ละพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายข้างต้น หน่วยงานและประชาชนก็คงต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำ ชั่งใจให้ดีว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมานั้นคุ้มค่าจริงหรือไม่ และหากดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จะเกิดผลกระทบระยะยาวต่อชีวิต และแหล่งพำนักพักพิง/ที่ทำมาหากิน ของตนเองและลูกหลานอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ขอให้ตระหนักว่า หากการระบาดภายในประเทศยังมีความรุนแรง กระจายไปทั่ว ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากนโยบายเปิดท่องเที่ยว และเปิดประเทศนั้น ย่อมจะทำให้การระบาดในแต่ละพื้นที่รุนแรงขึ้น และเร็วขึ้นแน่นอน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น จำนวนคนป่วยมากขึ้น จำนวนคนตายมากขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลต่อการเกิดสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ในประเทศซึ่งอาจดื้อต่อยา ต่อวัคซีนที่มี และเกิดผลกระทบต่อเนื่องย้อนเป็นโดมิโน่
ยิ่งไปกว่านั้น ก็ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด
และหากเกิดขึ้นในอนาคต โอกาสที่ประชาชนส่วนใหญ่จะยืนระยะสู้กับโรค คงจะลำบากมาก เพราะเราสู้กันมานาน แต่ไม่ตัดวงจรระบาด ทรัพยากรที่มีย่อมลดลงหรือหมดไป
ปัญหาสังคม เช่น อาชญากรรม และความไม่สงบสุขในบ้านเมือง ก็ย่อมตามมาได้
เหล่านี้คือสิ่งที่รัฐควรใคร่ครวญให้ดี เรียนรู้บทเรียนจากกล่องทรายที่เห็นประจักษ์ชัด
ควรใช้เวลาไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จัดหาวัคซีนที่ดี มีประสิทธิภาพ ให้แก่ประชาชนอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่
หากรีบเปิดประเทศ เปิดท่องเที่ยว มองตาไหนบนกระดาน ก็ไม่เห็นตาเดินแห่งชัยชนะ
สถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ปลอดภัยต่อการเปิดท่องเที่ยว และเปิดประเทศครับ
ชะลอเถิดครับ
ด้วยรักและห่วงใย