Sunday, 6 October 2024
INSIGHT

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 64 อยู่ที่ 49.4 จาก 47.8 ในเดือน ม.ค.ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังสถานการณ์โควิดเริ่มซา พร้อมได้อานิสงส์มาตรการรัฐหนุน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.พ.64 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการกลับมาปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 63 เป็นต้นมา โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 47.8 เป็น 49.4 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มปรับตัวลดลง รวมทั้งมีการเริ่มต้นการฉีดวัคซีนเกิดขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ หากการฉีดวัคซีนในประเทศมีแผนการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นและการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศดำเนินการได้กว้างขวางขึ้นในอนาคต เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไป และจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไปด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ประเมินว่า ผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการควบคุมโควิด-19 ในไทยว่าจะคลี่คลายลงได้เร็วแค่ไหน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาเยียวยาผลกระทบรอบใหม่ของรัฐบาลในช่วงไตรมาสที่ 2 จาก โครงการ “เราชนะ” “คนละครึ่ง” และ “ม33เรารักกัน” ว่าจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลง อย่างไรหลังจากการปรับครม.ไปแล้ว

ในห้องแนะแนว Clubhouse วันก่อนมีการสนทนาที่น่าสนใจระหว่าง โจ้ - ธนา เธียรอัจฉริยะ ซึ่งได้พูดคุยร่วมกับ เอ๋ - นิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) และ พี่ตุ้ม - หนุ่มเมืองจันท์ (สรกล อดุลยานนท์) ร่วมกับ คุณตัน ภาสกรนที เจ้าของ อิชิตัน กรุ๊ป

มีอยู่ประเด็นหนึ่งภายใต้บทสนทนาของทั้ง 4 ซึ่งกล่าวถึงเส้นทางความสำเร็จแบบตัน โดยเพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ ได้มีการหยิบยกส่วนหนึ่งมาโพสต์เป็นข้อความที่ชวนคิดต่อคนทำงานในยุคนี้อย่างมากว่า…

คุณตันทำอย่างไรถึงถีบตัวขึ้นมาจากการเป็น ‘จับกัง’ ซึ่งอยู่ ‘ล่างสุด’ ของห่วงโซ่อาหารได้?

คุณตันผู้ซึ่งบอกก่อนเลยว่าเป็นคนการศึกษาน้อย ‘รูปไม่หล่อ พ่อไม่รวย’ มีต้นทุนชีวิตที่ต่ำมาก ๆ นั้น ใช้วิธีอาสาสมัครทำทุกอย่างที่คนอื่นไม่ทำ ตอนเป็นจับกังแบกของอยู่ ใครใช้ไปส่งของก็ไปส่ง กลับมาก็มาบริการทำงานให้หัวหน้า ใช้อะไรก็ทำหมด เงินเดือนเท่าเดิม ไม่เคยเกี่ยงงาน

พอมีโอกาส มีตำแหน่งว่าง หัวหน้าก็ยื่นโอกาสเป็นเซลล์ให้ เป็นเซลล์ต้องขี่เวสป้าได้ คุณตันขี่ไม่เป็นก็รับไว้ก่อน แล้วไปหัดขี่มอเตอร์ไซด์เอา

พอได้เป็นเซลล์ก็ทำตรงข้ามคนอื่นเสมอ คนอื่นมาสายกลับเร็ว คุณตันไปเร็วกลับช้า งานอะไรใครใช้ ช่วยอะไรได้ทำหมด

ประสบการณ์ที่ทำหลายแผนก เจอคนหลายคน ทำให้เรียนรู้และก้าวหน้า ซึ่งความคิดของคุณตันในตอนนั้น ก็คือ เงินที่คุณตันหาคือ ‘เงินอนาคต’ วันนี้ได้น้อย แต่ประสบการณ์และโอกาสที่ได้นั้นคือเงินอนาคต และก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ

เพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ โพสต์ต่ออีกว่า ผมมานึกถึงสีหน้าคุณตันที่มีหลักคิดแบบนั้น เวลาหัวหน้าใช้งานที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง เช่น ให้ไปส่งของ หรือหาอาสาสมัครทำงานเวลาแปลกๆ หรือแม้กระทั่งถามว่าขี่มอเตอร์ไซด์เป็นหรือเปล่า ผมคิดว่าพอได้ยินคำสั่งหรือคำถามเหล่านั้น คุณตันน่าจะดูตื่นเต้น ‘ตาโต’ และรีบยกมืออาสาก่อนคนอื่นอย่างแน่นอน เพราะเหมือนเห็นเงินอนาคตกองอยู่ สีหน้าคุณตันคง น่าจะทำให้หัวหน้าสังเกตเห็นและชอบเรียกใช้เพราะไม่เกี่ยงงาน มีอะไรก็จะนึกถึงตลอดแน่ ๆ

ในขณะเดียวกัน ผมก็จะนึกถึงน้อง ๆ หลายคนที่พอได้ยินคำพูดที่ไม่ถูกใจ ที่อาจจะเกิดจากงานที่ไม่ชอบทำ กำลังเบื่อ ๆ ไม่อยากทำอะไรที่ไม่ใช่ของตัวเอง ไม่ชอบทำงานฟรี ๆ เงินได้เท่าเดิม คิดเล็กคิดน้อย ชอบเทียบกับเพื่อน แถมไวกับความรู้สึกตัวเองแล้วออกอาการ ‘ชักสีหน้า’ มีความไม่พอใจเล็ก ๆ

พอสังเกตเห็น คิ้วเริ่มชนกัน หรือมีคำพูด คำอ้างที่ไม่อยากทำ รับมาแบบเสียไม่ได้ หรือทำไปบ่นไปให้เข้าหู เวลามีงานด่วน งานเร่ง หรืองานที่ต้องแก้ปัญหา

ถ้าหลีกเลี่ยงน้อง ๆ เหล่านี้ได้ ผมก็จะหลีกเลี่ยง เพราะเสียความรู้สึกเวลาเห็นสีหน้าที่ไม่ค่อยพอใจ และในลักษณะคล้ายกัน ถ้ามีโอกาส มีงานที่อยากส่งเสริม น้อง ๆ เหล่านี้ ก็จะเป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่นึกถึงเช่นกัน

ทัศนคติวิธีคิดเรื่องเงินอนาคตของคุณตันนั้น มีส่วนสำคัญมาก ๆ ต่อปฏิกริยาที่แสดงออกทางสีหน้า ซึ่งเป็นที่ชอบใจของหัวหน้า

ฉะนั้นไม่ว่าเราจะคิดอะไรต่อการใช้งานของหัวหน้า ไม่ว่างานนั้นจะแฟร์หรือไม่แฟร์ ทำไมคนอื่นไม่โดนบ้าง เป็นงานเกินหน้าที่ หรืออะไรก็ตาม สีหน้าที่แสดงออก ณ วินาทีนั้น มีความสำคัญมากๆ ที่จะสร้างภาพจำของเราต่อหัวหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อเวลาที่โอกาสมาถึงว่าเราจะอยู่ในใจของผู้ใหญ่ก่อนคนอื่นหรืออยู่ท้ายสุด

พูดง่าย ๆ ก็คือ ในโลกปัจจุบัน ต่อให้เราไม่เห็นด้วยแค่ไหน ก็ควรทำ ‘หน้า’ ที่ดูตอบรับ ดูรับฟัง และพยายามก่อน แล้วหาทางไปแก้ปัญหาทีหลัง ยังจะดีเสียกว่า

โดยเฉพาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มงานได้ไม่นาน ยังเป็น ‘จูเนียร์’ อยู่ หนทางที่เราจะก้าวหน้าในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร อย่า ‘ชักสีหน้า’ โดยเด็ดขาด เพราะไม่งั้น ก็จะแพ้คนอย่างคุณตันที่เจอปัญหาแล้ว ‘ตาโต’ เสมอ

เมื่อเจอ ‘งาน’ หรือ ‘ปัญหา’ จะ ‘ชักสีหน้า’ หรือ ‘ตาโต’ ก็ลองเลือกเอา


ที่มา: https://www.facebook.com/101815121284197/posts/291639775635063/

TMB มองปี 64 หลายธุรกิจทยอยฟื้นตัว แต่รายได้ยังต่ำกว่าภาวะปกติ เผยกลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพฟื้นแล้ว แต่สิ่งพิมพ์ อสังหา ท่องเที่ยว ยังร่อแร่ แนะรัฐเร่งเสริมสภาพคล่อง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ (TMB Analytics) คาดว่ารายได้รวมของธุรกิจไทยในปี 64 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่ 2.1% แต่ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ถึง -14.6% โดยคาดว่าธุรกิจที่ฟื้นแล้วจะขยายตัวจากปีก่อน 2.8% และธุรกิจที่กำลังฟื้นจะขยายตัวจากปีก่อน 2.5% ในขณะที่ธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นจะหดตัวจากปีก่อน -1.2%

ด้านแนวโน้มการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจที่วิเคราะห์ด้วยการใช้เกณฑ์เปรียบเทียบแนวโน้มรายได้ของธุรกิจในปี 64 กับรายได้ธุรกิจปี 62 ซึ่งสามารถแบ่งแนวโน้มธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นแล้ว (รายได้ธุรกิจปี 64 สูงกว่าปี 62) ได้แก่ อาหาร ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ยางพารา อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ธุรกิจด้านสุขภาพ ไอทีและเทเลคอม เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว พฤติกรรมการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน การซื้อขายสินค้าออนไลน์ และการดูแลสุขภาพมากขึ้น

กลุ่มธุรกิจกำลังฟื้น (รายได้ปี 64 ต่ำกว่าปี 62 ระหว่าง 80-100%) ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ บริการธุรกิจ สินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหล็กและโลหะ ผลิตภัณฑ์เกษตร พลังงาน รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มนี้มีทิศทางฟื้นตัวตามทิศทางการการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวจากการส่งออก และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่จะฟื้นตัวไม่เต็มที่ ยังต้องรอวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศอย่างทั่วถึงเสียก่อน

กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น (รายได้ปี 64 ต่ำกว่า 80% เมื่อเทียบกับปี 62 ) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ บริการส่วนบุคคล การขนส่งทางอากาศ สินค้าแฟชั่น ธุรกิจท่องเที่ยว อยู่ในหมวดสินค้าบริการและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง และยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะมีความหวังวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่อัตราการฉีดจะยังไม่ทั่วถึงในปีนี้ นอกจากนี้หลังจากฉีดไปแล้วยังต้องรอความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาก่อน จึงจะทำให้เริ่มฟื้นตัวได้

จากข้อมูลดังกล่าวแนะนำให้ผู้ประกอบการหาโอกาสจากธุรกิจของตนเอง โดยการประเมินปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาคเกษตรที่ดีขึ้น และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ว่ามีส่วนใดบ้างที่ธุรกิจจะได้รับผลประโยชน์บ้าง และพิจารณาทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เว้นระยะห่างทางสังคม ทำงานที่บ้าน และซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ภาครัฐควรเพิ่มแรงสนับสนุนธุรกิจที่ฟื้นแล้วและกำลังฟื้นให้กลับมาปกติ เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวถือเป็นโอกาสของธุรกิจส่งออกสินค้า ภาครัฐควรเร่งเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อขายสินค้าให้ได้มากขึ้น รวมถึงดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป สินค้าเกษตรมีทิศทางดีขึ้น ภาครัฐควรสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวภาครัฐสามารถช่วยประคับประคองผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นความยากลำบากนี้ ด้วยการใช้มาตรการช่วยเหลือ เช่น การให้เงินกู้เสริมสภาพคล่อง รวมถึงการยืดหนี้ให้สำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ จนกว่าธุรกิจจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ดังเดิมอีกครั้ง

ทำใจได้เลย ตลาดอสังหาฯ ปีนี้ยังไม่ฟื้น คาดชะลอต่อเนื่อง เหตุกำลังซื้อคนไทยหดหาย ส่วนนักลงทุนต่างชาติ ชะลอการซื้อ

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ปี 2564 ว่า ตลอดอสังหาฯ ยังคงไม่ฟื้นตัวจากปีก่อน โดยมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง มีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อคนไทยลดลง จากผลกระทบไวรัสโควิด-19

ขณะที่ประชาชนบางส่วนที่มีกำลังซื้อ ก็ได้เร่งซื้อไปตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับกำลังซื้อจากชาวต่างชาติปีนี้ ยังเกิดปัญหาเพราะการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว และการเดินทางยังไม่สามารถทำได้สะดวก ทำให้นักท่องเที่ยว นักลงทุนต่างชาติ ชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยลงไปด้วย

ทั้งนี้ประเมินว่า ในปีนี้ จะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 353,236 หน่วย ลดลง 1.5% จากปี 63 และมีมูลค่าการโอนลดลงกรรมสิทธิ์ประมาณ 876,121 ล้านบาท ติดลบ 5.6% จากปี 63 โดยส่วนใหญ่เป็นการลดลงของที่อยู่อาศัยแนวราบ บ้านจัดสรรลดลง 7.7% และคอนโดมิเนียม ลดลง 1.4%

นายวิชัยกล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยประเมินว่า ในปีนี้ะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประมาณ 595,141 ล้านบาท จะลดลง 2.8% จากปีก่อน ส่วนยอดการเปิดตัวใหม่ปีนี้ ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นตามฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยบ้านจัดสรรเปิดตัวใหม่ในปีนี้ ประเมินว่าเพิ่มขึ้น 22.5% หรือมีจำนวนหน่วยประมาณ 43,732 หน่วย ส่วนโครงการอาคารชุดเปิดตัวใหม่ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 46.5%

สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 4 ปี 63 หดตัวลดลงเหลือ -4.2% สรุปทั้งปีหดตัว -6.1% พร้อมปรับลด GDP ปี 64 เหลือโต 2.5 - 3.5% จากเดิมคาด 3.5 - 4.5% หลังโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลกระทบเศรษฐกิจช่วงต้นปี

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4/63 หดตัว -4.2% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัว -6.4% ในไตรมาส 3/63 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไตรมาส 4/63 จะขยายตัว 1.3% จากไตรมาส 3/63 เนื่องจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าลดลงในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่การใช้จ่ายและภาคลงทุนภาครัฐขยายตัว

แต่ภาพรวมทั้งปี 63 เศรษฐกิจไทยหดตัว -6.1% เทียบกับการขยายตัว 2.3% ในปี 62 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมลดลง 6.6%, 1.0% และ 4.8% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ -0.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.3% ของ GDP

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 สภาพัฒน์ ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 64 เหลือเติบโต 2.5-3.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3.5-4.5% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้ นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงจากประสิทธิภาพการกระจายวัคซีน ความล่าช้าจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และภัยแล้ง

ส่วนปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ, การกลับมาขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 63

ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดว่ามูลค่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัว 5.8% การอุปโภคบริโภคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.0% และ 5.7% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 1-2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP)

สำนักข่าวต่างประเทศ NPR ได้ติดตามชีวิตผู้ให้บริการทางเพศ (Sex Workers) ในประเทศไทย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุว่าอุตสาหกรรมทางเพศในประเทศไทยกำลังหยุดชะงัก

ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ปิดประเทศและยกเลิกเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวประเทศไทยซบเซา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมทางเพศที่ได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าต่างชาติพังทลายลงเช่นกัน

การวิเคราะห์ในปี 2015 โดย Havocscope บริษัทวิจัยที่ศึกษาตลาดมืด คาดว่า การค้าบริการทางเพศของไทยมีมูลค่าสูงถึง 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (190,000 ล้านบาท) ต่อปี หรือประมาณ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แม้ว่าจะยังคงเป็นงานผิดกฎหมายอยู่ก็ตาม

แต่เมื่อต้องเผชิญกับมาตรการจำกัดการท่องเที่ยวนานแรมปี บวกกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการปิดล็อคอีกครั้งในหลายจังหวัด รวมถึงพัทยาซึ่งถูกประกาศเป็นเขตควบคุมสูงสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 63 เพราะเจอผู้ติดเชื้อสูงถึง 144 ราย จนทำให้สถานที่สาธารณะส่วนใหญ่รวมถึงผับบาร์ต้องปิดตัว

รายงานข่าวจาก NPR ได้มีการพูดคุยกับพนักงานวัย 26 ปี ทำงานอยู่ที่บาร์เกย์แห่งหนึ่งในพัทยา โดยเผยว่า แต่เดิมอาชีพของเขารายได้ดีมากเมื่อเทียบกับพนักงานทั่วไปหรืองานบริการอื่น ๆ เขาสามารถสร้างบ้านเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบาย แต่เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เขาต้องประสบปัญหาอย่างหนัก ไม่มีเงินแม้แต่จะจ่ายค่าเช่าห้องพัก จึงตัดสินใจกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ก่อนที่เงินออมจะหมดลงในเดือนตุลาคม และรู้สึกหดหู่ซ้ำเข้าไปอีก เพราะหลังจากโควิดระบาดใหม่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการปิดพรมแดน จนยากที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาในเร็ววัน

อีกรายหนึ่งเป็นผู้ค้าบริการทางเพศวัย 28 ปี ก็ได้เผยว่า เมื่อก่อนอาชีพนี้อาจทำเงินได้มากถึง 3,000 ถึง 6,000 บาทต่อคืน แต่ตอนนี้พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้เงินเลย และขณะนี้บาร์เปิดให้บริการน้อยลงกว่าแต่ก่อน ซึ่งนั่นแปลว่าพวกเขาต้องทำงานหนักมากขึ้น ในขณะที่ได้เงินน้อยลง

ผู้ให้บริการทางเพศหลายคนต้องหันไปทำงานอื่นอย่างเช่น การขายอาหาร หรือหันไปให้บริการทางออนไลน์ โดยการให้บริการผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และรับเงินผ่านทาง PayPal

NPR ยังได้พูดคุยกับผู้จัดการบาร์ Cheap charlie's bar ซึ่งเป็นชาวอังกฤษและได้รับคำตอบว่า บาร์ของเขาตอนนี้มีแต่ชาวต่างชาติที่มีรายได้น้อยและพวกเขามักปฏิเสธที่จะซื้อเครื่องดื่มและใช้บริการเด็กนั่งดริ๊งก์ “อุตสาหกรรมนี้กำลังจะตาย” ผู้จัดการบาร์กล่าว

อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคที่เข้มงวดและยอมรับในการปิดพรมแดน แม้ว่าพวกเขาจะต้องลำบากหรือตกงานแต่เขาก็ต้องการได้เงินอย่างปลอดภัยเช่นกัน


ที่มา: https://www.posttoday.com/world/644895

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/02/03/960848011/how-the-pandemic-has-upended-the-lives-of-thailands-sex-workers

เมื่อ 20 ปี ที่แล้ว ใครจะคิดว่าสมาร์ทโฟนจะกลายเป็นสิ่งของประจำตัวผู้คนได้เหมือนทุกวันนี้ และใครจะรู้ว่าโลกจะถูกย่อให้เล็กลงด้วยโซเชียลมีเดีย

และยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายที่ไหลวนเข้ามาในชีวิตแบบไม่มีหยุด อย่างตอนนี้ โลกของเราก็จะกำลังจะเป็นเหมือนหนังไซไฟที่โลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงเริ่มเชื่อมติดกัน เช่น มีการนำความสนุกออฟไลน์กับเกมออนไลน์ผสมผสานเข้ากันในทุกมิติของการใช้ชีวิตประจำวัน

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับกรณีศึกษาดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า อนาคตต่อจากนี้ กำลังจะเกิดปรากฏการณ์ใหม่และยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า ‘เมทาเวิร์ส’

ถ้าใครยังไม่เคยได้ยินคำว่า ‘เมทาเวิร์ส’ (Metaverse) ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาสนใจ เพราะโลกยุคใหม่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคเมทาเวิร์สอย่างรวดเร็ว

เมทาเวิร์สเป็นคำที่มาจากนิยายไซไฟ ถ้าคุณเคยดูภาพยนตร์อย่าง The Matrix หรือ Ready Player One ก็อาจจะพอนึกภาพการผสมผสานระหว่าง ‘โลกแห่งความเป็นจริง’ กับ ‘โลกเสมือนจริง’ อย่างกลมกลืน และแทรกซึมในทุกส่วนของชีวิตประจำวัน

ลองนึกตามดูครับว่า คุณเดินเข้าไปในห้างเสมือนจริง เพื่อซื้อชุดนักรบให้กับตัวคุณที่เป็นขุนศึกในเกมสามก๊กออนไลน์ จากนั้นไปที่ฟู้ดคอร์ตเพื่อกดซื้ออาหารให้ Grab Car ส่งกลับไปที่คอนโด

จากนั้นก็ไปฟังคอนเสิร์ตที่คอนเสิร์ตฮอลล์ ฟังไปครึ่งทางก็สามารถเชื่อมถ่ายทอดเสียง Live เข้ากับหูฟัง และเดินออกมาก่อนเพื่อไปวิ่งในยิมพร้อมกับฟังการแสดงสดไปพร้อมกัน ระหว่างที่วิ่งในยิมก็ใส่แว่นเชื่อมต่อกับโลก Virtual เพื่อวิ่งแข่งกับเพื่อนที่วิ่งอยู่ที่บ้าน โดยสนามที่วิ่งแข่งกันเป็นสนามเขาวงกตที่ปรากฏผ่านแว่นตาในโลก Virtual…

เมทาเวิร์สมีคนแปลไทยว่า ‘โลกพหุภพ’ ที่เชื่อมทั้งภพโลกความเป็นจริง เข้ากับภพโลกเสมือนจริง และภพโลกดิจิทัล ผู้คนสามารถจับจ่ายใช้สอยและส่งถ่ายข้อมูลข้ามแพลตฟอร์ม ข้ามโลก ข้ามภพได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา เราได้เห็นพัฒนาการของอินเตอร์เน็ต จากโลกของคอมพิวเตอร์ Desktop เป็นโลกของสมาร์ทโฟน (Mobile) หลายคนบอกเรากำลังก้าวเข้าสู่โลก Internet of Things ที่ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นอุปกรณ์สมาร์ตที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ทั้งสิ้น

แต่โลกเมทาเวิร์สไปไกลกว่านั้นอีกครับ เพราะเป็นการผสานเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) AR (Augmented Reality) ที่กำลังรุดหน้าแบบติดจรวดเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง รวมทั้งกับโลกดิจิทัลแพลตฟอร์มจนเป็นเนื้อเดียวกัน

เมทาเวิร์สยังเป็นโลกที่ผสานเกมและความบันเทิงเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงอย่างไร้รอยเชื่อมต่อ ผลคือจะเป็นการขยายขอบเขตและพื้นที่ของเศรษฐกิจให้ใหญ่โตขึ้นหลายเท่าจากปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่อินเทอร์เน็ต และโลกดิจิทัลได้เปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจและสร้างโอกาสธุรกิจใหม่มหาศาล โลกเมทาเวิร์สก็มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนเกมธุรกิจชนิดพลิกโฉม

มีนักวิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจในจีนอธิบายว่า ยุทธศาสตร์ธุรกิจของ Google และ Facebook ที่เริ่มเปลี่ยนจากการพัฒนา และสร้างสรรค์แพลตฟอร์มของตัวเอง มาเป็นการเข้าซื้อกิจการ และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น Google เข้าซื้อ Android, Youtube, DoublicClick และ Facebook เข้าซื้อ Instagram, Oculus และ WhatsApp ทั้งหมดล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกเมทาเวิร์สที่จำเป็นต้องกระจาย และเชื่อมโยงหลายแพลตฟอร์มเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ

ล่าสุด Packy Mccormick บล็อคเกอร์ชื่อดังแห่งบล็อก Not Boring ที่เขียนเกี่ยวกับเทรนด์การลงทุนใหม่ ๆ ได้วิเคราะห์ว่า วงการ Tech จีน อาจเป็นผู้นำการผลักโลกเข้าสู่ยุคเมทาเวิร์สสมบูรณ์แบบ โดยบริษัท Tech จีนที่มีศักยภาพ และมีทิศทางชัดเจนในการสร้างเศรษฐกิจเมทาเวิร์ส ก็คือ Tencent

เพราะ Tencent มีพื้นฐานครบถ้วน ทั้งในการเป็นเจ้าตลาดเรื่องเกมออนไลน์ เรื่องความบันเทิงที่หลากหลาย รวมทั้งเรื่องโซเชียลมีเดียผ่านแพลตฟอร์ม Wechat ในจีน แถมตอนนี้ Tencent กำลังทุ่มทุนเต็มที่กับการพัฒนาเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality)

เครือ Tencent ยังเข้าร่วมลงทุนในบริษัทอย่าง Epic Games ซึ่งได้เข็นเกม Fortnite ที่โด่งดังออกมา หลายคนมองว่า Fortnite เป็นเกมรูปแบบใหม่ที่จะเป็นฐานต่อยอดการสร้างเศรษฐกิจเมทาเวิร์สในอนาคตได้ นอกจากนั้น Tencent ยังลงทุนใน Snap ซึ่งเป็นผู้นำในการสร้างโอกาสทางธุรกิจจากเทคโนโลยี AR (Augmented Reality)

มีนักวิเคราะห์ในจีนมองว่า ไม่ใช่เฉพาะ Tencent เท่านั้น แต่บริษัท Tech ชั้นนำของจีนเริ่มมีการวางรากฐานเพื่อก้าวสู่โลกเมทาเวิร์สมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด New Retail ของ Alibaba ที่ต้องการผสานโลกช็อปปิ้งออฟไลน์ และออนไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ หรือโมเดลโซเชียลคอมมิร์ซของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซรายใหม่ในจีนอย่าง Pinduoduo โมเดลโซเชียลคอมเมิร์ซจะมีศักยภาพมหาศาลเมื่อเปลี่ยนจากโลกช็อปปิ้งออนไลน์มาเป็นโลกเมทาเวิร์ส

อนาคตมักมาถึงเร็วกว่าที่เราคิดเสมอนะครับ


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10157561741235025&id=520965024

Cr : ภาพ Exzy VR Lab

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยโควิด -19 ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลกระทบหนัก ยอดขายดิ่ง 10 - 30% วอนภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือด่วน เติมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เผยสภาพคล่องที่เหลือใช้ดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 6 เดือน

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า จากข้อมูลผลของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนมกราคม 2564 (รอบการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 19-26 มกราคม 2564) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการสำรวจเป็นรายเดือน พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือนมกราคม 2564 ลดลงทันทีอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม

และเป็นการปรับลดลง จากความอ่อนไหวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19ระลอกใหม่ แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการเข้มข้นเพียง 28 จังหวัด ดัชนีความเชื่อมั่นก็ยังคงปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก ที่ภาครัฐมีมาตรการ Lock Down ทั้งประเทศ

ทั้งนี้ สมาคมฯ มองว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น รวมทั้งหวังว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นน่าจะมีทิศทางเดียวกับดัชนีเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2563

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมแยกตามภูมิภาค ทางด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาค ปรับลดลงจากเดือนธันวาคมในทุกภูมิภาค สะท้อนถึงสภาวะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างชัดเจน

โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งได้รับผลกระทบจาก super spreader ที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพ และปริมณฑล ที่มีอาณาเขตต่อเนื่องจากจังหวัดสมุทรสาคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มการบริโภคที่ขยายตัวได้ปานกลาง เนื่องจากประชากรส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายจากอุตสาหกรรมสู่ภูมิลำเนา ผสานกับแรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนสภาพคล่องและการใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยประคับประคองการบริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมองว่าแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเช่นกัน เนื่องจากมั่นใจว่าภาครัฐมีบทเรียนจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อไตรมาสที่สอง 2563 และคาดหวังว่าคงต้องมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐเช่นที่ผ่านมา

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นแยกตามประเภทร้านค้าเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคมและเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกประเภทของร้านค้าปลีกลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบของมาตรการภาครัฐที่ประกาศปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารในเวลา 3 ทุ่ม

อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้มาตรการการทำงานจากบ้าน (WFH) ทำให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ซ่อมบำรุง เฟอร์นิเจอร์ กลับมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสวนทางกลับดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าปลีกอื่น ๆ

ด้านผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า มีความวิตกต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมากสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม 2564 ที่ลดลงอย่างทันที ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 หรือลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งอย่างชัดเจน ในขณะที่ในเดือนธันวาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 ทั้งนี้สำหรับแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ายังคงมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยกลาง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม ลดลงมากและรวดเร็ว จากที่ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนธันวาคมยังอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงอย่างมาก เมื่อเทียบดัชนีประเภทร้านค้าทั้งสามประเภท ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต รู้สึกวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มากกว่าผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตกลับมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น สูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า

พร้อมกันนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการประเภท ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ในเดือนมกราคม มีความเชื่อมั่นดีขึ้นสวนทางกับทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าประเภทอื่น ๆ ที่ลดลงอย่างรุนแรง

สะท้อนได้ว่าร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับวิถีทำงานจากที่บ้าน (WFH) ทำให้มีความนิยมในการปรับภูมิทัศน์ภายในที่อยู่อาศัย ประกอบกับช่วงจัดซื้อจัดจ้างงบประมาณก่อสร้างภาครัฐ และวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างมีการปรับราคาที่สูงขึ้น

ผลจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ประเภทร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม มีความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมีนัยยะชัดเจน มากกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ค่อนข้างมากและเมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นในเดือนธันวาคม 2563 ก็ยังลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะร้านอาหารมักเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดเวลาการให้บริการและจำนวนการให้บริการแต่ละรอบที่ลดลงจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

นายญนน์ กล่าวว่า การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อและผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ จากมุมมองผู้ประกอบการ คือ 1.) ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบด้านยอดขาย ที่ลดลง 10-30% 2.) ผู้ประกอบการกล่าวว่า ด้วยยอดขายที่หายไป สภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 6 เดือน หากไม่มีมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงเป้า 3.) ผู้ประกอบการกว่า 80% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงมากว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2563

สำหรับข้อ 4.) หากเปรียบเทียบยอดขายจากมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" เมื่อช่วงสิ้นปี 2563 (วงเงิน 30,000 บาท) เมื่อเทียบกับมาตรการช้อปช่วยชาติ (วงเงิน 15,000 บาท) ในปี 2561 - 2562 ผู้ประกอบการ 55% ตอบว่า มียอดขายเท่าเดิมและน้อยกว่าเดิม ขณะที่ผู้ประกอบการ 43% ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นไม่ถึง 25% และมีเพียง 2% ที่ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 25%

ขณะที่ 5.) ผู้ประกอบการกว่า 90% อยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เข้าร่วมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ โครงการคนละครึ่ง 6.) ผู้ประกอบการเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน ด้วยมาตรการภาษีลดภาระค่าใช้จ่าย และ สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แก่ผู้ประกอบการโดยเร็ว เนื่องจากด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม ข้อ 7.) ผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐประกาศการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน

‘เอ็มบีเค เซ็นเตอร์’ หรือ ที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘มาบุญครอง’ จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากหนึ่งในแผนการรีโนเวตศูนย์การค้าครั้งใหม่ในรอบ 36 ปีนั้น มีชื่อของ ‘ดองกิ’ ราชาแห่งร้านดิสเคาน์สโตร์จากญี่ปุ่นติดเข้ามาอยู่ในโผด้วย

นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำการรีโนเวตครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปี โดยมีการปรับเปลี่ยน จัดโซนนิ่งและพื้นที่ภายในใหม่ เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการเดินช็อปปิ้ง รองรับความต้องการได้อย่างตรงจุด หลังจากห้างสรรพสินค้าโตคิวได้ปิดตัวลง

สำหรับการรีโนเวตพื้นที่บางส่วนภายในศูนย์ฯ จัดวางผังร้านค้าใหม่ เพิ่มเติมร้านค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ ทั้งวัยทำงาน นักเรียน นักศึกษา และ กลุ่มครอบครัว

โดยแบ่งพื้นที่แต่ละชั้น ดังนี้

• ชั้น 1 จับมือกับเครือสหพัฒน์ทั้งในส่วนของไอ.ซี.ซี ,โอ.ซี.ซี. และร้านซูรูฮะ

• ชั้น 2 เปิดตัวร้านดองกิ (DON DON DONKI) สาขาแฟล็กชิฟสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงและเน้นบริการสินค้าในกลุ่มอาหารเป็นหลัก

• ชั้น 3 อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ในการเช่าพื้นที่

• ชั้น 4 เป็นโซนสินค้าไอทีทั้งหมด

ทั้งนี้ศูนย์การค้าเอ็มบีเค มีแผนเปิดตัวการรีโนเวตอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 3 นี้ ให้ได้อย่างน้อย 80% และจะเปิดได้เต็ม 100% ในช่วงปลายปี เพื่อรองรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ ทั้งวัยทำงาน นักเรียน นักศึกษา และ กลุ่มครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการราว 2-3 หมื่นคนต่อวัน โดยคาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาส 3 หลังวัคซีนโควิด-19 เริ่มถูกนำมาใช้ น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการในศูนย์ได้อีกครั้ง

สำหรับไฮไลท์ของการรีโนเวต เอ็มบีเค ในครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะอยู่ที่การเปิดตัวร้านดองกิ สาขาแฟล็กชิฟสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย ต่อจากทองหล่อ และ The Market ราชดำริ เพราะจะเป็นจิ๊กซอว์เติมเต็มการจากหายไปของโตคิวได้ด้วย

...ว่าแต่ทำไม เอ็มบีเค ถึงสนใจในตัว ‘ดองกิ’

‘ดองกิ’ หรือ ‘DON DON DONKI’ (ชื่อในไทย) ถือเป็นดิสเคาน์สโตร์ที่คนไทยที่ชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นคุ้นเคยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว หรือเรียกว่าเป็นร้านที่ใครไปญี่ปุ่น ก็ต้องแวะ โดยชูคอนเซ็ปต์ ‘ร้านค้าที่ขายเฉพาะแบรนด์ญี่ปุ่น’ ที่ตั้งใจเจาะกลุ่มคนญี่ปุ่นที่อาศัยในไทย คนไทยและนักท่องเที่ยว

ฉะนั้นการที่ ดองกิ มาเปิดในไทย และรวมถึงมาเปิดใหม่ในเอ็มบีเค จึงเป็นการตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยๆ นี่คือโอกาสทางตรง

ขณะเดียวกันโอกาสทางอ้อม เชื่อว่าจะมาจากการพลิกวิกฤติโควิด-19 ลามกรุง และทั่วโลกมาเป็นตัวผลักดัน หลังจากช่วงเวลานี้ในอดีตมักมีคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนมาก แต่พอเจอโรคระบาดหนัก ก็ทำให้อดไป การได้มา ดองกิ ก็เหมือนได้ซึมซับความรู้สึกที่คุ้นเคยทดแทนไปกลายๆ

สำหรับผลตอบรับของ ดองกิ ในช่วงที่ผ่านมากับ 2 สาขาที่เปิดอยู่ ถือว่าน่าสนใจ เพราะแค่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในบ้านเราได้ 2 ปี แต่ก็มีผลประกอบการที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยผลประกอบการ บริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด

• ปี 2562 มีรายได้ 160 ล้านบาท

• ปี 2563 มีรายได้ 728 ล้านบาท

เหตุผลที่ทำให้รายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดของดองกิ มาจาก...

1.) รูปแบบธุรกิจมีความเฉพาะเจาะจง ยากต่อการเลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบร้าน การจัดวางสินค้าที่ดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาสำรวจ และค้นหาหรือแม้แต่การใช้ปากกาเมจิก เขียนป้ายบอกราคา

2.) มอบประสบการณ์ที่แตกต่าง นอกจากจะมีสินค้าที่เป็นซิกเนเชอร์ หาไม่ได้จากที่ไหน เสน่ห์อีกอย่างของดองกิ คือ การมอบประสบการณ์ที่มากกว่ามาช้อปปิ้ง อย่างดองกิ สาขาทองหล่อ นอกจากจะมีร้านค้า ร้านอาหาร เครื่องดื่ม คาเฟ่ เบเกอรี และคาราโอเกะ ส่วนด้านบน ก็ยังทำเป็นสวนสนุก และสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์ นำเข้าจากญี่ปุ่น ถือเป็นอีกหนึ่งกิมมิกที่ทำให้หลายคนอยากไปเช็คอิน

สำหรับ ดองกิ ในไทยนั้น ตั้งเป้าขยายให้ได้ 20 สาขาใน 5 ปี โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังมองไปถึงเมืองท่องเที่ยว อย่าง ภูเก็ต, เชียงใหม่ และ ระยอง อีกด้วย


ที่มา:

https://www.prachachat.net/marketing/news-605213

https://www.facebook.com/1387231808035873/posts/3635479016544463/

ส่องไส้ใน ส่องออกไทย รู้แล้วจะอึ้ง ! พบผู้ส่งออก 50 อันดับแรกของไทย เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ถึง 80% มีบริษัทคนไทยเพียง 20% เท่านั้น ขณะที่จำนวนบริษัทส่งออกในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 36,164 ราย

ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการส่งออกของไทย เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่บางปีก็เครื่องสะดุดติดลบบ้างจากหลายเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันของโลก

โดยปี 2563 ล่าสุด ส่งออกไทยสะเทือนจากพิษโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ทำตัวเลขส่งออกได้มูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลงจากปีก่อน -6% ส่วนในรูปเงินบาทมีการส่งออก 7.17 ล้านล้านบาท ขยายตัวลดลง -5.9% โดยปี 2563 มีบริษัทส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,164 ราย โดยในจำนวนนี้จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ”ที่ได้รับจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร เผยถึง ผู้ส่งออกรายใหญ่ใน 50 อันดับแรก พบสัดส่วน 80% เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่สัดส่วน 20% เป็นบริษัทคนไทย โดยรายชื่อบริษัทส่งออก 50 อันดับแรกที่มี่มูลค่าส่งออกสูงสุดตามลำดับ ประกอบด้วย

1.) บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย)จำกัด (บจก.)

2.) บจก.วาย แอล จี บลูเลียน อินเตอร์เนชั่นแนล

3.) บจก.เอชจีเอสที (ประเทศไทย)

4.) บจก.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

5.) บจก.เอ็มทีเอสโกลด์ (หรือห้างทองแม่ทองสุก)

6.) บจก.โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิปิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง

7.) บจก.ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช

8.) บจก.ซิเลซติกา (ประเทศไทย)

9.) บจก.มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย)

10.) บจก.เวสเทิร์น ดิติตอล (ประเทศไทย)

11.) บจก.บริงค์ส (ประเทศไทย)

12.) บจก.เอเชียนฮอนด้ามอเตอร์

13.) บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (บมจ.)

14.) บจก.ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย)

15.) บจก.เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย

16.) บจก.นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย)

17.) บจก.ฟาบริเนท

18.) บจก.ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์

19.) บจก.โซนี เทคโนโลยี (ประเทศไทย)

20.) บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)

21.) บจก.อีซูซุมอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่น (ประเทศไทย) 22.) บจก.ไทย ไลอ้อน เมนทารี

23.) บจก.แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์ (ประเทศไทย)

24.) บจก.ไมโครชิพ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์)

25.) บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย)

26.) บจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)

27.) บจก.ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย)

28.) บจก.ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย)

29.) บจก.ยูแทคไทย

30.) บจก.มิตซูบิชิ อีเลคทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย)

31.) บจก.พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง

32.) บมจ.การบินไทย

33.) บจก.สยามมิชลิน

34.) บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (สาขา 1)

35.) บจก.บีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย)

36.) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล

37.) บจก.โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์)

38.) บจก.ค้าผลผลิตน้ำตาล

39.) บจก.ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม

40.) ราชการกองบัญชาการกองทัพไทย

41.) บจก.แอลแอลไอที (ประเทศไทย)

42.) บจก.ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์)

43.) บจก.สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น

44.) บจก.ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม

45.) บจก.ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง

46.) บจก.เอสซีจี เพอร์ฟอร์มานซ์ เคมิคอลส์

47.) บจก.โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย)

48.) บจก.แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย)

49.) บจก.สแนชั่น (ไทยแลนด์)

และ 50.) บจก.แคนนอน ปราจีนบุรี (ประเทศไทย)

ทั้งนี้ในภาพรวมปี 2563 มีบริษัทส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,164 ราย ในจำนวนนี้ที่มีมูลค่าส่งออกระดับแสนล้านบาทมีจำนวน 5 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 630,687 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.79% ของมูลค่าการส่งออกรวม

ส่วนบริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกระดับหมื่นล้านบาท มีจำนวน 108 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 2.83 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 39.47% บริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกระดับพันล้านบาทมีจำนวน 859 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 2.28 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 31.85% มูลค่าการส่งออกระดับร้อยล้านบาทมีจำนวน 3,521 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 1.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.76% และมูลค่าการส่งออกระดับน้อยกว่าร้อยล้านบาท มีจำนวน 31,671 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 296,655 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.13% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม

จากข้อมูลแสดงให้เป็นว่าบริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกสูง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยรวมถึงบริษัทส่งออกแถวหน้าของไทย ขณะที่บริษัทส่งออกของไทยโดยรวมมีมูลค่าส่งออกน้อยกว่าร้อยล้านบาทเป็นส่วนใหญ่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การที่บริษัทส่งออกในกลุ่ม 50 อันดับแรกที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากต่างประเทศ หรือบริษัทข้ามชาติสะท้อนให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วประเทศไทยเป็นฐานผลิตให้กับประเทศอื่น

ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มตัวเลขส่งออกให้กับประเทศก็จริง แต่ถ้าพูดถึงเม็ดเงินที่ตกถึงคนไทยเองก็ไม่ได้มาก แต่ตัวเลขส่งออกส่วนใหญ่จะไปตกกับบริษัทแม่ต่างชาติเสียส่วนใหญ่ หากในอนาคตบริษัทแม่เหล่านี้พิจารณาลงทุนหรือขยายฐานการลงทุนในประเทศอื่นที่มีข้อได้เปรียบด้านต่าง ๆ ดีกว่าไทย การส่งออกที่เป็นของประเทศไทยหรือผู้ประกอบการไทยจริง ๆ จึงอยู่ในสถานการณ์ที่น่าห่วง

ด้านดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ภาคการส่งออกของไทยส่วนใหญ่อยู่ในมือของบริษัทต่างชาติแม้จะช่วยสร้างงานและสร้างเงินให้กับประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นในหลายประเด็น เช่น การผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของบริษัทไทยยังใช้เทคโนโลยี หรือใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ายังไม่มาก

ทำให้มูลค่าการส่งออกยังไม่สูง, ในสินค้าเกษตร หรือเกษตรแปรรูป ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยี หรอนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามาก ส่วนใหญ่ยังส่งออกในรูปวัตถุดิบ หรือแปรรูปเล็กน้อย และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ที่เข้ามาลงทุนในไทยไม่ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย ผิดกับ FDI ที่ไปลงทุนในจีนจะถูกบังคับเงื่อนไขให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ทำให้จีนมีการพัฒนาสินค้ารุดหน้าไปกว่าไทยมาก เป็นต้น

"สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งทำเพื่อผลักดันมูลค่าการส่งออกให้เพิ่มขึ้น ได้แก่

1.) ประเมินตัวเองว่าอยู่ตรงไหนของอุตสาหกรรม 4.0 เพราะบางคนอาจจะยังอยู่ 1.0 2.0 หรือ 3.0 ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาช่วยมาก ซึ่งต้องเร่งปรับตัว

2.) ปรับโครงสร้างการการผลิตให้ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกในเรื่องเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว)

3.) บริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำสุดและประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด และ

4.) รัฐบาลต้องประกาศตัวเองว่าจะผลักดันสินค้าใดของไทยบ้างให้เป็นสินค้าโปรดักส์แชมป์เปี้ยนของโลก และมีแผนงานยุทธศาสตร์ในการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top