Thursday, 18 April 2024
INSIGHT

ถอดรหัส!! แผนฟื้นฟู​ใหม่ ดัน​ 'บินไทย'​ ทะยานฟ้า เปิดโอกาส 'ธุรกิจ​ -​ ประเทศ'​ ที่น่าคิดตาม

เป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กำลังอยู่ในกระบวนการทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีกำหนดการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการและโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ประกอบด้วยส่วนที่เป็นสาระสำคัญหลายประการ เช่น... 

1) วิเคราะห์และกำหนดรูปแบบการปรับโครงสร้างหนี้ 

2) โครงสร้างทุน 

และ 3) โครงสร้างองค์กร ตลอดจนแผนธุรกิจและแผนการเงิน ที่จะสะท้อนความสามารถในการดำเนินกิจการและความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้ข้อกฎหมาย ข้อสัญญาที่มีกับพนักงานและคู่ค้าตลอดจนเจ้าหนี้ทั้งหลาย 

อย่างไรก็ตามข้อแตกต่างของแผนฟื้นฟูการบินไทยที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อเทียบกับแผนฟื้นฟูกิจการอื่นๆ นั้น ต้องยอมรับว่ามีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงและเป็นการร่างแผนฟื้นฟูกิจการแบบ “นอกตำรา” 

เนื่องจากปกติแผนฟื้นฟูกิจการส่วนใหญ่ ที่เกิดจากความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของบริษัท มักปล่อยให้บริษัทล้มละลาย​ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า (ทั้งต่อเจ้าหนี้ เจ้าของ และสังคม) จึงมักจะมีบริษัทกระทำโดยการ 'ลดหนี้​ ลดทุน'​ แล้วดำเนินการ เป็นส่วนใหญ่แทน

แน่นอนว่า​ กรณีการฟื้นฟูกิจการของบริษัททั่วไป​ รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสายการบิน​ ก็มักจะลดหนี้ลดทุนแล้วดำเนินการทั้งสิ้น!! 

แต่กรณีการบินไทย โดยผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ดำเนินการเช่นนั้น!! 

เพราะปัญหาการบินไทยแท้จริงแล้วมีสองสามปัญหาใหญ่ๆ คือ... 

1) การบริหารจัดการ 

2) โครงสร้างองค์กร 

และ 3) การแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ 

การฟื้นฟูกิจการการบินไทยที่อยู่บนฐานคิดที่ว่า ธุรกิจต้องไปรอดและเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้เสร็จสิ้น เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดี มีระบบและกลไกในการป้องกันการแทรกแซง​ ที่จะส่งผลเสียต่อธุรกิจของการบินไทย

ในฐานะที่ติดตามเรื่องการฟื้นฟูการบินไทย ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ตั้งแต่มีการเตรียมเรื่องการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น โครงสร้างองค์กรและโครงสร้างธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นองค์กรที่มีพนักงานในจำนวนที่เหมาะสมเพียงพอ และมีประสิทธิภาพในการบริหารงาน 

นั่นก็เพราะ โครงสร้างพนักงานใหม่​ ที่จะใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 นั้น​ จะมีพนักงานที่ทำสัญญาเริ่มต้นกันใหม่ ทำให้เหลือพนักงานทั้งหมดราว 1.4 -​ 1.5 หมื่นคน จากจำนวนพนักงานมากกว่าสองหมื่นคนในอดีต และปรับลดการจ้างงานภายนอกลง รวมถึงการปรับฝูงบินที่ทำให้เหลือชนิดและประเภทของเครื่องบินและเครื่องยนต์น้อยลง 

ทั้งสองกรณีนำไปสู่การปรับลดต้นทุนอย่างมีนัยยะสำคัญ!! 

ข้อดีของวิกฤติโควิด-19 ทำให้การปรับลดต้นทุนนี้ทำได้ง่ายขึ้น ทั้งการเจรจาเจ้าหนี้เครื่องบิน และการปรับลดพนักงาน 

แต่ข้อเสียของโควิค-19 ทำให้การดำเนินธุรกิจที่สร้างรายได้ชะงักไป โดยเฉพาะธุรกิจหลักอย่างการให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ

กลับมาที่ตัวแผนฟื้นฟูฯ เนื่องจากแผนฟื้นฟูฯ ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายนั้น ผ่านการเจรจาเจ้าหนี้จำนวนมาก และอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เป็นแผนฟื้นฟูฯ ที่นอกตำรา และอาจกล่าวได้ว่าทั้งชีวิตอาจจะเห็นได้ครั้งเดียว 

เนื่องจากเป็นแผนฟื้นฟูฯ ที่มีการลดหนี้ไม่มาก และไม่ได้ลดทุนโดยตรง ซึ่งตามปกติของแผนฟื้นฟูฯ จะทำโดยการ ลดหนี้ ลดทุน ใส่เงินใหม่ และดำเนินกิจการ

อย่างไรก็ตาม​ ผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ เสนอแผนบนฐานที่ 'เจ้าหนี้'​ และ 'เจ้าของ'​ ต้องร่วมกันสนับสนุนการบินไทย และช่วยกันกับผู้บริหารแผนเพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการเสนอแผนฟื้นฟูฯ โดยการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ และกำหนดให้เจ้าหนี้และเจ้าของต้องร่วมกัน “ใส่เงินใหม่” เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ 

ดังนั้น โอกาสที่เจ้าหนี้จะโหวตเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูดังกล่าว​ จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง โดยทุนใหม่ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในแผนนั้นกำหนดไว้ตามแผนฟื้นฟูฯ ที่ 5 หมื่นล้านบาท ภายใต้ หลักการคร่าวๆ คือ ยืดหนี้ เจ้าหนี้​ และเจ้าของใส่เงิน “คนละครึ่ง” และดำเนินกิจการต่อไป

โดยเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นนั้น ก็ไม่ได้ถูกลดมูลค่าหุ้นลงจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของการบินไทย ก็ยังเป็นกระทรวงการคลัง (ราวร้อยละ 48) และกองทุนวายุภักษ์ (ราวร้อยละ 16-17) หากเป็นแผนฟื้นฟูฯ อื่น หุ้นจะถูกปรับลดเหลือ 1 สตางค์ หากมีการขาดทุนจำนวนมากๆ

ในขณะที่เจ้าหนี้มีหลายกลุ่มมีการปรับลดหนี้ลงเล็กน้อย เช่น เจ้าหนี้การค้า ผู้ให้กู้ สถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ พนักงาน และอื่นๆ โดยมีเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ธนาคาร สถาบันการเงิน และกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ นอกจากนั้น กระทรวงการคลังยังนับเป็นเจ้าหนี้อีกด้วย 

คำถามสำคัญ คือ เจ้าหนี้และเจ้าของควรใส่เงินใหม่หรือไม่?

โจทย์นี้ จะเกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนาคตธุรกิจเป็นสำคัญ 

เพราะตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โครงสร้างสำคัญได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะโครงสร้างพนักงาน โครงสร้างธุรกิจ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการเครื่องบินเครื่องยนต์ การปรับกลไกการจำหน่ายตั๋ว และอื่นๆ 

นอกจากนั้น เรื่องราวความซ่อนเงื่อนของการบินไทยได้ถูกตีแผ่จากทั้งสื่อสารมวลชน คณะกรรมการที่มาตรวจสอบ และเป็นที่สนใจของสาธารณชน 

พูดง่ายๆ ว่า การบินไทย ในอนาคตจะอยู่ในที่​ 'สว่าง'​ กว่าเดิม และต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและโปร่งใส 

ดังนั้น ในด้านต้นทุนจะมีความสมเหตุสมผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น!!

นอกจากนั้น รายได้ของการบินไทย ที่มาจากธุรกิจการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสิ่งของแล้ว ยังมีธุรกิจที่มีอนาคตดีหลังจากโควิด-19 เช่น 

>> ธุรกิจอาหารที่แตกไลน์จากการบริการอาหารให้สายการบิน 
>> สู่การบริการอาหารผ่านร้านสะดวกซื้อ 
>> ธุรกิจการเทรนนิ่งนักบินและบุคลากรสืบเนื่อง ธุรกิจการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ฯลฯ 

การประมาณการรายได้ที่ระบุในแผนมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ​ จากการใส่เงินใหม่จำนวน 5 หมื่นล้าน ซึ่งมีความสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง และในแผนฟื้นฟูฯ แถมยังกำหนดสิทธิพิเศษสำหรับผู้ใส่เงินใหม่ที่จะได้สิทธิในการแปลงหนี้เดิมเป็นทุนได้อีกด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องรอเวลาการชำระหนี้ที่ถูกยืดออกไปนาน และจะได้รับการชำระหนี้เพิ่มเติมหากมีกระแสเงินสดมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

สำหรับภาครัฐโดยกระทรวงการคลัง ที่เป็นทั้งเจ้าหนี้และเจ้าของนั้น การใส่เงินใหม่ในรูปแบบที่เหมาะสม จะทำให้รัฐไม่เสียประโยชน์ เพราะหากการฟื้นฟูกิจการการบินไทยเริ่มต้นด้วยการลดหนี้ลดทุนตามตำราฝรั่ง เงินของรัฐที่อยู่ในการบินไทยก็จะลดลงทันที ซึ่งเงินของรัฐที่อยู่ในการบินไทยนั้นมีมากกว่า 2.5 หมื่นล้าน

แต่ที่สำคัญที่สุด เวลาพูดถึงการบินไทย สิ่งที่รัฐควรพิจารณาคือ ห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องของการบินไทยทั้งหมด ทั้งผู้ทำธุรกิจร่วม พนักงาน เจ้าหนี้ ภารกิจที่ต้องใช้สายการบินแห่งชาติ และเศรษฐกิจโดยรวม

ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังประสบปัญหาเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 การปล่อยให้ธุรกิจที่มีอนาคตหลังปรับโครงสร้างอย่างหนักอย่างการบินไทยให้ล้มไป กระทบกับภาพรวมทางเศรษฐกิจไม่น้อย 

ฉากทัศน์ที่คาดการณ์ได้อย่างชัดเจน คือ การปล่อยล้มนั้น​ จะทำให้เม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับการบินไทยผ่านสถาบันการเงิน กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ต้องเสียหายอย่างมาก เพราะสถาบันการเงิน และกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ต้องตั้งสำรอง ทำให้กิจการเหล่านั้น ไม่สามารถจ่ายปันผลได้ตามปกติ จนกระทบกับกระแสเงินสดของประชาชนจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน พนักงานการบินไทยที่มีอนาคตกว่า 1.5 หมื่นคน และพนักงานของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินไทยที่จะตกงานอีกกว่า 3 หมื่นคน

การใส่เงินใหม่ของกระทรวงการคลัง​ จึงสำคัญยิ่ง ขณะที่การใส่เงินใหม่ของเจ้าหนี้​ ก็สำคัญยิ่งไม่แพ้กัน

สำหรับเม็ดเงินใหม่นั้น ถูกกำหนดให้มีการจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในหกปี รวมถึงมีหลักประกันที่เป็นทรัพย์ก้นถุงของการบินไทยที่เริ่มดำเนินธุรกิจมากว่า 60 ปี นั่นหมายถึง การใส่เงินใหม่มีความเสี่ยงที่ไม่มากนักเพราะมีหลักประกัน และมีผลตอบแทนที่เหมาะสม

การร่วมมือร่วมใจของเจ้าหนี้และเจ้าของในครั้งนี้จะมีส่วนผลักดันให้โอกาสธุรกิจมีมากขึ้น และประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการอย่างยั่งยืน เพราะมีการแก้ไขปัญหาภายใน และนำธุรกิจขึ้นมาอยู่ในที่ที่การแทรกแซงทำได้ยาก และกำจัดจุดอ่อนจำนวนมากในการบินไทยออกไป 

นอกจากนั้น การฟื้นฟูกิจการการบินไทยจะมีการบริหารแผนและมีคณะกรรมการเจ้าหนี้ในการทำให้แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยประสบความสำเร็จตามแผน ซึ่งคงไม่ง่ายนักที่จะมีการแทรกแซงและรุมทึ้งการบินไทยโดยการวางโครงสร้างที่บิดเบี้ยวและไร้ประสิทธิภาพเช่นในอดีต และเชื่ออย่างยิ่งว่าพนักงานการบินไทยและประชาชนไทยที่รักการบินไทยจะไม่ยอมให้เกิดการผิดพลาดซ้ำรอยสร้างความเสียหายซ้ำๆ จากคนที่ฉวยโอกาสอย่างแน่นอน

โอกาสทางธุรกิจของการบินไทยและโอกาสของประเทศ จึงอยู่ในมือของ​ 'เจ้าหนี้'​ และ 'เจ้าของ'​ แล้ว

การร่วมมือร่วมใจในการทำให้การบินไทยรอด ก็จะทำให้เจ้าหนี้และเจ้าของได้ประโยชน์ ประเทศก็จะได้ประโยชน์จากสายการบินแห่งชาติที่ชื่อ... 

การบินไทย—รักคุณเท่าฟ้า

เรื่อง: ผศ. ดร.ประชา คุณธรรมดี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยภาพรวมการผลิตในอุตสาหกรรมหลักปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมดัชนี ผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2564 มีระดับอยู่ที่ 107.73 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.12 เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 22 เดือน (พ.ค. 62 – ก.พ. 64) หลังจากที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และการแพร่ระบาด โควิด-19

โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อยู่ที่ร้อยละ 69.59 เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองคำและรายการพิเศษ เดือน มีนาคม 2564 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 25.77 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นการขยายตัวระดับ 2 หลักในรอบ 31 เดือน ซึ่งจากการกลบัมาขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมนี้ทำให้ในไตรมาสที่ 1/2564 ดัชนีผลผลติอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 0.25

ธุรกิจสปา กระอักพิษโควิด-19 ปิดกิจการถาวรแล้วกว่า 9,000 ราย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% เชื่อถ้าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย จะเหลือเพียงรายใหญ่สายป่านยาว 10% เท่านั้นที่รอด โอด รัฐบาลไม่เยียวยา ตั้งแต่ระบาดระลอกแรก

นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยว่า หลังกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อปิดสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ จำนวน 31 แห่ง มีผลบังคับใช้ 14 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 เมษายนนี้ เป็นต้นไป ส่งผลให้ธุรกิจนวดสปาได้รับผลกระทบเต็ม ๆ โดยปัจจุบันมีธุรกิจนวดสปา ในระบบกว่า 9,000 ราย แต่สามารถประกอบธุรกิจได้เพียง 20% เท่านั้น ที่เหลืออีกกว่า 70% ได้ปิดกิจการถาวรแล้ว และอีก 10% ปิดกิจการชั่วคราว

“ประเมินว่า หากครบ 14 วันตามประกาศสั่งล็อกดาวน์แล้ว สถานการณ์การระบาดยังไม่ดีขึ้น น่าจะได้เห็นภาพธุรกิจสปาปิดตัวลงอีก เหลือประกอบธุรกิจอีกเพียง 10% เท่านั้น และส่วนมากจะเป็นผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่ มีสายป่านยาว แต่หากเป็นร้านนวดสปาเพียงอย่างเดียว คงไปต่อลำบาก”

ทั้งนี้สมาคมฯ ยอมรับว่า ตั้งแต่การระบาดรอบแรกจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจนวดสปา จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการออกมาเยียวยาด้านการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้กับผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กที่มีจำนวนมาก และต้องการให้รัฐพิจารณาให้ธุรกิจนวดสปามีส่วนร่วมกับมาตรการของรัฐที่จะออกมาด้วย โดยเฉพาะคนละครึ่ง


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

กระทรวงพาณิชย์ เผยการส่งออก มี.ค.64 มีมูลค่า 24,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.47% เมื่อเทียบ มี.ค.63 สูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่ พ.ย.61 จากปัจจัยบวกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน มี.ค.64 มีมูลค่า 24,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.47% เมื่อเทียบเดือน มี.ค.63 โดยมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ย.61 โดยมีปัจจัยบวกจากการกระจายวัคซีนในวงกว้าง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก

ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,511 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.12% ส่งผลให้เดือนมี.ค.เกินดุลการค้า 710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับยอดการส่งออกสะสม 3 เดือน ปี64 มีมูลค่า 64,148 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.27% และการนำเข้ามีมูลค่ารวม 63,632 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 9.37% เกินดุลการค้า 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายภูสิต กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกเดือนมี.ค.64 ที่อยู่เหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อีกทั้งมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือน พ.ย.61 สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวได้ดีในเดือนมี.ค.นี้ อันดับหนึ่งเม็ดพลาสติกขยายตัว 52.9% รองลงมาผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 50.6% เนื่องจากความต้องการถุงมือยาง ยางล้อเพิ่มขึ้น สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 43.1% ซึ่งสินค้าอุตสาหกรรมทั้ง 3 กลุ่มนี้ยังมีมูลค่าการส่งออกเดือนมี.ค. สูงสุดเป็นประวัติการณ์


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

'ดร.สามารถ' ติงข้อเสนอคมนาคม ชง กทม.เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 50 บาท สร้างกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ได้จริงหรือ?

'ดร.สามารถ' ติงข้อเสนอคมนาคม ชง กทม.เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 50 บาท สร้างกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ได้จริงหรือ? พร้อมวิเคราะห์เจาะลึกสูตรคำนวณ พบจากที่มองเห็นเป็นกำไร อาจขาดทุนถึง 7.4 หมื่นล้าน อีกทั้งยังเสี่ยงถูก ‘บีทีเอส’ ฟ้องผิดสัญญา

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte ถึงข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ในการกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 50 บาท และจะได้กำไรถึง 380,200 ล้านบาท โดยระบุว่า

คมนาคมชงค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว 50 บาท ฟุ้งกำไร 3.8 แสนล้าน! จริงหรือราคาคุย?

เมื่อไม่นานมานี้กระทรวงคมนาคมเสนอแนะค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 50 บาท คุยว่าจะได้กำไรถึง 380,200 ล้านบาท ถ้าได้กำไรจริงก็น่าสน แต่จะได้กำไรหรือจะขาดทุนต้องอ่านบทความนี้

เป็นข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมที่น่าติดตาม โดยอ้างว่าถ้า กทม. จ้างเอกชนให้เดินรถตั้งแต่ปี 2573-2602 เก็บค่าโดยสารสูงสุด 50 บาท ให้ กทม.รับภาระหนี้เองทั้งหมด จะทำให้ กทม. มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ดีกว่าขยายเวลาสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2573-2602 โดยมีเงื่อนไขให้บีทีเอสเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท และแบ่งรายได้ให้ กทม.ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงวิเคราะห์เจาะลึกถึงวิธีการคิดกำไรของกระทรวงคมนาคม ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1.) รายรับ

กระทรวงคมนาคมคิดรายรับได้ 714,000 ล้านบาท ซึ่งคลาดเคลื่อนเพราะไม่ได้คิดรายรับในช่วงปี 2564-2572 ด้วย หากคิด จะได้รายรับประมาณ 1,047,000 ล้านบาท โดยให้ผู้โดยสารเพิ่มปีละ 2% รายรับนี้ได้หักค่าชดเชยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) ประมาณ 17,000 ล้านบาท ออกไปแล้ว

2.) รายจ่าย

(2.1) หนี้

กระทรวงคมนาคมคิดหนี้ที่ กทม. จะต้องจ่ายถึงปี 2572 ได้ 76,000 ล้านบาท ไม่ได้คิดหนี้ในช่วงปี 2573-2602 และไม่ได้คิดหนี้ครบทุกรายการ ถ้าคิดหนี้ให้ถูกต้องตั้งแต่ปี 2564-2602 จะได้หนี้รวมประมาณ 121,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยงานโยธา 90,650 ล้านบาท หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 20,768 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถค้างจ่าย 9,602 ล้านบาท

(2.2) ปันผล

กระทรวงคมนาคมเสนอแนะให้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และระดมทุนจากผู้ร่วมลงทุนมาจ่ายหนี้ ผู้ร่วมลงทุนจะได้เงินปันผลปีละ 5% ทุกปี ในช่วงปี 2573-2585 รวมเป็นเงิน 9,800 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงจะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ เพราะเป็นกองทุนที่ขาดทุน คงยากที่จะมีผู้สนใจมาร่วมลงทุน จึงไม่สามารถจัดตั้งกองทุนฯ ได้

(2.3) ค่าจ้างเดินรถ

กระทรวงคมนาคมคิดค่าจ้างเดินรถเฉพาะส่วนต่อขยายในช่วงปี 2573-2602 ได้ 248,000 ล้านบาท ซึ่งคลาดเคลื่อนเพราะ

- ไม่ได้คิดค่าจ้างส่วนต่อขยายในช่วงปี 2564-2572

- ไม่ได้คิดค่าจ้างส่วนหลักซึ่งประกอบด้วยช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ในช่วงปี 2573-2602

หากคิดให้ครบถ้วน จะได้ค่าจ้างรวมทั้งหมดประมาณ 841,000 ล้านบาท

(2.4) ค่าซ่อมบำรุงรักษาใหญ่

กระทรวงคมนาคมไม่ได้คิดค่าซ่อมบำรุงรักษาใหญ่ในช่วงปี 2573-2602 เช่น ค่าเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้งานมานานหลายปี หากคิดจะต้องใช้เงินประมาณ 93,000 ล้านบาท

3.) การคิดกำไรหรือขาดทุน

กระทรวงคมนาคมคิดกำไรได้ถึง 380,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากใช้รายรับ (ในข้อ1) ลบด้วยรายจ่าย (ในข้อ2.1-2.4) โดยไม่ได้แปลงให้เป็นมูลค่าในปีปัจจุบัน (Present Value) หรือปี 2564 ก่อน ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ซึ่งไม่ถูกต้อง หากคิดรายรับและรายจ่ายให้ถูกต้อง พร้อมทั้งแปลงให้เป็นมูลค่าในปี 2564 จะพบว่า กทม. จะขาดทุนถึงประมาณ 74,000 ล้านบาท

ดังนั้น หากลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหลือ 25 บาท ตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอแนะ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายหรือค่าโดยสารสูงสุด กทม. จะขาดทุนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนล้านบาท ไม่ใช่ได้กำไร 23,200 ล้านบาท แต่ผมไม่ตำหนิสภาองค์กรของผู้บริโภคที่คำนวณได้ผลลัพธ์เช่นนี้ เนื่องจากใช้วิธีคำนวณของกระทรวงคมนาคมซึ่งสมควรใช้อ้างอิง แต่เมื่อวิธีคำนวณของกระทรวงคมนาคมคลาดเคลื่อนก็ย่อมทำให้ผลลัพธ์ของสภาองค์กรของผู้บริโภคคลาดเคลื่อนตามไปด้วย

 

สรุป

1.) หากเก็บค่าโดยสารสูงสุด 50 บาท กทม. จะขาดทุนประมาณ 74,000 ล้านบาท ไม่ใช่ได้กำไร 380,200 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมคิด

2.) หากเก็บค่าโดยสาร 25 บาท กทม. จะขาดทุนไม่น้อยหนึ่งแสนล้านบาท ไม่ใช่ได้กำไร 23,200 ล้านบาท ตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคคิด

3.) นอกจากจะขาดทุนจำนวนมากแล้ว หาก กทม. จะจ้างเอกชนรายอื่นให้มาเดินรถในช่วงปี 2573-2602 จะมีปัญหาดังนี้

(3.1) บีทีเอสอาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กทม. เนื่องจาก กทม.ได้ทำสัญญาจ้างบีทีเอสให้เดินรถทั้งส่วนหลักและส่วนขยายถึงปี 2585 ไว้ก่อนแล้ว

(3.2) กทม. จะต้องหาเงินสำหรับจ่ายหนี้และค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายช่วงปี 2564-2572 รวมทั้งค่าชดเชยกองทุน BTSGIF เป็นเงินประมาณ 135,000 ล้านบาท จะหาได้หรือ?

ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายถูกลง ไม่เฉพาะสายสีเขียวเท่านั้น แต่ในกรณีสายสีเขียวเมื่อได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแล้ว กระทรวงคมนาคมจะแก้ปัญหาได้อย่างไร?

ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2349710735173816&id=232025966942314


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ปิดฉาก Motor Show 2021 ยอดจองในงานทะลักกว่า 2.7 หมื่นคัน ทะลุเป้าโต 51.5% เงินสะพัด 3 หมื่นล้าน ส่วนยอดเข้าชมกว่า 1.34 ล้านคน

นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะรองประธานจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 42 เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 42 ปี ที่งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ได้รับความเชื่อมั่นจากค่ายรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ต่างมั่นใจในศักยภาพของงานว่า มีส่วนช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายในช่วงที่เหลือของปีดังที่ปรากฏมาโดยตลอด และยังเป็นงานที่ผู้บริโภคต่างรอคอย เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการหาซื้อรถยนต์คันใหม่ เนื่องจากจะมีโปรโมชั่นและแคมเปญหลากหลายมากระตุ้นยอดขายในช่วงนี้

โดยที่ผ่านมาต้องเจอผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดจองลดลงจากช่วงปรกติ แต่ด้วยตัวเลขยอดจองในปีนี้ มีการเติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 51.5 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่ากำลังซื้อของคนไทยไม่ได้หายไปไหน แค่รอเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ในการออกแคมเปญ และโปรโมชั่นของค่ายรถช่วยให้ทุกคนเป็นเจ้าของรถคันใหม่ได้สะดวกขึ้น

ขณะที่ในส่วนพฤติกรรมของผู้บริโภคเองปีนี้ต่างให้การตอบรับกับรถยนต์รุ่นใหม่ที่เปิดตัวก่อนหน้างาน และเปิดจองภายในงานมอเตอร์โชว์เป็นครั้งแรก เห็นได้จากบรรยากาศการเจรจาที่หนาแน่นดังเช่นทุกปีโดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์ที่มียอดจองเป็นสองเท่าของวันธรรมดา แต่ด้วยพฤติกรรมของคนผู้บริโภคเปลี่ยนไป เพื่อให้สมกับช่วงที่ต้องรัดเข้มขัด จึงหันมาซื้อหารถใหม่ที่ตอบโจทย์ความคุ้มค่ามากขึ้น ขณะที่ตลาดรถหรูยังคงเติบโตตามเป้าด้วยสาเหตุที่ค่ายรถเองต่างชิงเปิดตัวสินค้าใหม่แทบทุกรุ่น เพื่อกระตุ้นยอดขาย

ส่วนในด้านเทคโนโลยีปีนี้เป็นปีของยานยนต์ไฟฟ้า ผู้บริโภคต่างให้ความสนใจพร้อมเปิดรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อค่ายรถหันมาทำตลาดรถยนต์ไฮบริด หรือรถปลั๊กอินไฮบริด เพิ่มมากขั้น ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าต่อจากนี้คงต้องจับตาเมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่หันมาชิงตลาดนี้ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับแบรนด์ที่เกิดใหม่อย่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) ที่เมื่อ 7 ปีที่แล้วเคยเข้ามาร่วมงานกับเราครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งการกลับมาในปีนี้พร้อมนำผลิตใหม่ ๆ เข้ามาสร้างสีสันภายในงาน คงต้องคอยดูว่า ในปีหน้าจะนำนวัตกรรมใหม่ๆอะไรบ้างเข้ามาร่วมงาน เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้เหนือสิ่งอื่นใด มาตรการป้องกันการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทางผู้จัดฯ วางไว้อย่างเข้มข้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ทำให้ภาพรวมงานในปีนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี เหมือนกับธีมงานมอเตอร์โชว์ วิถีชีวิตใหม่ใจเป็นสุข เนื่องจากการจัดงาน นอกจากเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องของการจ้างงาน เพราะตั้งแต่การก่อสร้างจนลื้อถอน ต้องใช้แรงงานนับ 10,000 คนต่อวัน ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนตลอดระยะเวลาของการจัดงานกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย

สำหรับปริมาณยอดจองรถยนต์ภายในงานมีจำนวนทั้งสิ้น 27,868 คัน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 30,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 51.5% จากปีที่ผ่านมา และมีตัวเลขผู้เข้าชมงานสูงถึง 1.34 ล้านคน จากเดิม 1.049 ล้านคน เพิ่มขึ้น 28.6% ซึ่งบริษัทที่ทำยอดจองสูงสุดภายในงานได้แก่ อันดับ 1 โตโยต้า ยอดจองรวม 4,406 คัน,อันดับ 2 มาสด้า ยอดจองรวม 3,454 คัน,อันดับ 3 ฮอนด้า ยอดจองรวม 3,305 คัน,อันดับ 4 อีซูซุ ยอดจองรวม 2,829 คัน,อันดับ 5 ซูซูกิ ยอดจองรวม 2,689 คัน,อันดับ 6 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยอดจองรวม 1,863 คัน,อันดับ 7 เอ็มจี ยอดจองรวม 1,629 คัน,อันดับ 8 มิตซูบิชิ ยอดจองรวม 1,462 คัน,อันดับ 9 ฟอร์ด ยอดจองรวม 1,212 คัน และอันดับ 10 นิสสัน ยอดจองรวม 1,144 คัน

ส่วนแบรนด์รถจักรยานยนต์มียอดจองภายในงานรวมทั้งสิ้น 1,155 คัน ที่ทำยอดจองสูงสุดได้แก่ อันดับ 1 ยามาฮ่า ยอดจองรวม 815 คัน,อันดับ 2 ซูซูกิ 131 คัน,อันดับ 3 ฮาเลย์-เดวิสัน ยอดจองรวม 126 คัน,อันดับ 4 วรูม ผู้จัดจำหน่าย เคทีเอ็ม,บาจาจ และฮัสควาร์น่า ยอดจองรวม 83 คัน สำหรับยอดจองขอรถจักรยานยนต์ฮอนด้านั้น ทางบริษัทของดแจ้งยอด

ทีคิวเอ็ม เกาะกระแส ‘Surf Skate’ ฟีเวอร์ ผนึก 2 พันธมิตร ‘กรุงเทพประกันภัย - สินทรัพย์ประกันภัย’ ออกประกันออกประกันอุบัติเหตุ ‘Surf Skate’ คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ความเสียหายอุปกรณ์ รวมทั้งร่างกายและทรัพย์สินบุคคลอื่นด้วย

นายอัญชลิน พรรณนิภา ประธาน บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ได้จับมือกับ 2 พันธมิตร คือ บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) และบมจ.สินทรัพย์ประกันภัย ออกผลิตภัณฑ์ประกัน Surf Skate ผ่านคอนเซปต์ ‘Safe Before Surf’ เจ็บมา พังมา TQM ดูแล

เน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค กลุ่มลูกค้า Gen Y – Millennium ที่กำลังเกิดกระแส Surf Skate ฟีเวอร์ คาดว่า ปัจจุบันมีผู้เล่นมากกว่า 2 แสนคน โดยกรมธรรม์ดังกล่าว จะให้ความคุ้มครองทั้งค่ารักษาพยาบาล ความเสียหายของอุปกรณ์เซิร์ฟสเก็ต และค่าเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินบุคคลอื่น ด้วยเบี้ยเริ่มต้นหลักร้อยบาท

ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายเอาไว้ราว 10,000 กรมธรรม์ภายในปีนี้ แบ่งเป็นกรุงเทพประกันภัย 5,000 กรมธรรม์ และ สินทรัพย์ประกันภัย 5,000 กรมธรรม์

นายแพนพิทย์ พรรณนิภา Project Owner บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการคิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกัน ‘Surf Skate’ ครั้งนี้ว่ามาจากประสบการณ์ของตนเองที่เป็นคนชื่นชอบการเล่นเซิร์ฟสเก็ตและกีฬาเอ็กซ์สตรีม เห็นโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บต่อตัวผู้เล่น รวมถึงอุปกรณ์เซิร์ฟสเก็ตที่มีโอกาสเกิดความเสียหาย ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวในปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูงมาก นอกจากนี้ในระหว่างการเล่นยังมีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือทำให้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้รับความเสียหายได้

ดังนั้น จึงร่วมมือกับพันธมิตรทั้ง 2 บริษัทออกแบบและพัฒนาประกันภัยดังกล่าว ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่รักการเล่นเซิร์ฟสเก็ตได้เป็นอย่างดี และประกันภัยดังกล่าวจะสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคกลุ่มวัยรุ่นให้เข้าใจถึงความสำคัญของประกันภัยมากขึ้น และในอนาคตสามารถต่อยอดไปยังประกันภัยชนิดอื่นได้ เช่น ประกันชีวิตหรือประกันอุบัติเหตุอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ด้านนายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BKI กล่าวว่า จากกระแสการกลับมาของเซิร์ฟสเก็ต ทำให้บริษัทเห็นโอกาสการนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนให้ได้เล่นเซิร์ฟสเก็ตได้อย่างมั่นใจ จึงร่วมกับ TQM พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความคุ้มครองรองรับการผู้เล่นเซิร์ฟสเก็ตโดยเฉพาะ ซึ่งทางบริษัทมีประกันภัยให้เลือก 2 แบบแผน คือ เบี้ย 999 และ 1,999 ต่อปี โดยให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุม ทั้งค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ ความเสียหายของตัวบอร์ดจากอุบัติเหตุ

ขณะที่ นายสุริยน ศรีอรทัยกุล ผู้อำนวยการ บมจ.สินทรัพย์ประกันภัย กล่าวว่า สำหรับแผนประกัน Surf Skate ของสินทรัพย์ประกันภัยที่มีแผนประกันให้เลือกหลากหลายตามความต้องการ ซึ่งมีทั้งหมด 4 แบบแผน คือ เบี้ย 499, 799, 999 และ 1,799 บาทต่อปี

โอกาสของแบรนด์เสื้อผ้าไทย เมื่อชาวจีนพร้อมใจคว่ำบาตร เสื้อผ้าจาก สหรัฐอเมริกา และ ชาติพันธมิตร

Special Scoop

-----------------

เป็นที่ฮือฮากับปรากฎการณ์ที่ประชาชนชาวจีนได้ออกมาแสดงพลังของผู้บริโภค ในประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก

ด้วยการที่ศิลปินดาราจีนกว่า 30 ราย ได้ออกมายกเลิกสัญญากับแบรนด์เครื่องแต่งกายของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร อย่าง H&M, Nike, Adidas, Puma, Burberry, Uniqlo, Lacoste, CK, Tommy Hilfiger, Converse, New Balance

----------------------

ตอบโต้ข้อกล่าวหาของชาติตะวันตก

----------------------

ปรากฎการณ์ที่ศิลปินดารา รวมถึงโซเชียลมีเดียของชาวจีน ออกมา Call Out ในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการตอบโต้ข้อกล่าวหาของสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ

โดยองค์กรเหล่านั้นได้ออกมากล่าวหาว่า “จีนบังคับใช้แรงงานทาสชาวซินเจียงอย่างโหดร้ายทารุณ” จนแบรนด์ดังของฝั่งตะวันตกและญี่ปุ่น ได้ออกมาขานรับแคมเปญ "ไม่รับซื้อผ้าฝ้ายจากซินเจียง"

ในขณะที่ชาวจีนต่างมองว่านี่เป็นเกมการเมืองของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรที่ใส่ร้ายป้ายสีและต้องการบีบประชาชนชาวจีน

โดยเอากรณีที่รัฐบาลจีนจับกุมกลุ่มก่อการหัวรุนแรงในซินเจียง เพื่อนำไปเข้าค่ายฝึกอาชีพ และ ปรับทัศนคติ ไปเหมารวมว่าชาวจีน "มีการกดขี่ข่มเหงชาวอุยกูร์เพื่อใช้แรงงานทาส"

----------------------

ปฏิบัติการ Call Out และ Social Sanction

----------------------

แบรนด์แรกที่โดนคว่ำบาตรจากชาวจีนคือ H&M ซึ่งได้ออกมาแถลงการณ์ออกมาขานรับกับองค์กรสิทธิมนุษยชนจากฝั่งตะวันตก ในสัปดาห์ที่แล้ว

จนเกิดเป็นกระแสในโซเชียลมีเดียของจีนอย่าง Weibo เรียกร้องให้มีการ Call Out เพื่อตอบโต้ต่อการกล่าวหาของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรด้วยการคว่ำบาตร H&M จากตลาดจีน

การคว่ำบาตร เริ่มจากการที่เว็บซื้อขายออนไลน์ของจีนอย่าง Tmall, Pinduoduo, JD.com ได้นำการค้นหาแบรนด์ดังกล่าวออกจากเว็บ

และการเริ่มทยอยนำชั้นจำหน่ายสินค้าแบรนด์ดังกล่าวออกจากห้างสรรพสินค้าในประเทศจีน รวถมึงปลดป้ายโฆษณาของแบรนด์เหล่านี้ลงพืน้ที่โฆษณา

จนมาถึงการประกาศยกเลิกสัญญาของศิลปินดารากว่า 30 รายกับแบรนด์ชั้นนำที่ออกมาขานรับข้อกล่าวหาของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร

ที่น่าสนใจคือ ดาราสาวชาวอุยกูร์ ตี่ลี่เลอปา ที่เกิดใน อุรุมชี มณฑลซินเจียงเอง ก็เป็นหนึ่งในดาราดังที่ออกมา Call Out และประกาศยกเลิกสัญญากับทาง Adidas ด้วย

ในโซเชียลมีเดียของจีนมีการวิพากษ์ถึงพฤติกรรมของแบรนด์ดังหลายยี่ห้อว่า “ในขณะที่พวกคุณต้องการหารายได้จากในประเทศจีน แต่กลับเผยแพร่ข่าวลือเท็จ และเรียกร้องให้คว่ำบาตรผ้าฝ้ายจากซินเจียงหรือ?”

หมายเหตุ : ด้าน Muji แบรนด์ดังจากญี่ปุ่น ได้ไล่ลบโพสต์ที่เขียนสนับสนุนการคว่ำบาตรไม่ซื้อผ้าฝ้ายจากซินเจียงออกจากเว็บและเพจต่างๆ ในโซเชียลมีเดียจนหมด ซ้ำยังขึ้นป้ายผ้าทุกชิ้นที่ขาย ว่ามาจากซินเจียงด้วย จนทำให้ชาวจีนบอกว่า “Muji อยู่เป็น”

----------------------

โอกาสมูลค่านับแสนล้านของแบรนด์เสื้อผ้าไทย

----------------------

ในขณะที่จีนเริ่มตอบโต้ต่อสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร ด้วยการคว่ำบาตรแบรนด์ดังเหล่านั้น

อีกด้านผู้ขายสินค้าและห้างสรรพสินค้าในจีน เริ่มมองหาแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำจากประเทศอื่นที่ไม่นำเรื่องการเมืองมาเป็นเครื่องมือทางการค้า

โดยไทยเป็นหนึ่งในชาติที่มีความสัมพันธ์อันดีกับชาวจีนมาอย่างยาวนาน รวมถึงกระแสภาพยนตร์หลายเรื่องจากไทย ผลไม้ไทย การท่องเที่ยวของไทย และอัธยาศัยที่เป็นมิตรของชาวไทย อยู่ในความนิยมของชาวจีนไม่น้อย

ปัจจุบันผู้ประกอบการและห้างร้านของจีน เริ่มมีการติดต่อผู้ค้าชาวไทย เพื่อหาแบรนด์เสื้อผ้าจากไทยไปลงในตลาดจีน

ซึ่งนี่เป็นโอกาสสำคัญที่แบรนด์เสื้อผ้าไทยจะได้ไปทำตลาดในประเทศที่มีประชากรถึง 1.4 พันล้านคน

และเมื่อเราลองพิจารณาดูจากรายได้ของ H&M ในตลาดจีนที่สูงถึง 1.05 หมื่นล้านบาทใน 1 ปี จะพบว่าหากแบรนด์สินค้าจากไทย สามารถเข้าไปแทนที่รายได้ดังกล่าวของ H&M และแบรนด์อื่นๆ ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้าน

ต้องถือว่าปรากฎการณ์ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญครั้งใหญ่ สำหรับการบุกเบิกตลาดแบรนด์เสื้อผ้าไทย ซึ่งจะนำรายได้กลับมาสู่ผู้ประกอบการชาวไทยอย่างมหาศาล

โอกาสมาถึงแล้วครับ!!!

----------------------

เรื่อง: อ.ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์

อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (KMITL) เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมทางศาสนา ระบบสัญลักษณ์ในศิลปะสถาปัตยกรรมและตำนานวิทยา เคยสอนพิเศษด้านปรัชญาการเมืองและทฤษฎีสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความสนใจด้านพัฒนาการของมนุษย์ผ่านหน้าประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมร่วมสมัย

----------------------

อ้างอิง

----------------------

- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-03-24/h-m-blasted-on-chinese-social-media-for-pulling-xinjiang-cotton?sref=CVqPBMVg

- https://www.globaltimes.cn/page/202103/1219474.shtml

- https://www.businessoffashion.com/articles/china/nike-loses-china-brand-ambassadors-over-xinjiang-other-brands-under-fire

----------------------

เครดิตภาพ 

https://entertain.teenee.com/chinese_star/216440.html


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ไทยครองแชมป์ดื่มเบียร์แห่งเอเชีย หลัง Expensivity เผยรายงาน World Beer Index 2021 หรือดัชนีเบียร์โลก ประจำปี 2021 โดยทำการรีเสิร์ชราคาเบียร์จากซูเปอร์มาเก็ตทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ numbeo.com ว่า…

ใน 5 ประเทศแรกที่มีประชากรดื่มเบียร์มากสุดในเอเชีย ปี 2021 (เกณฑ์วัด: เบียร์ขวด 330 มล.) ผลปรากฎว่า ประเทศไทยครองแชมป์ โดยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 142 ขวดต่อคนต่อปี ตามมาด้วย 2.) เกาหลีใต้ (130 ขวด/คน/ปี) 3.) จีน (127 ขวด/คน/ปี) 4.) ฟิลิปปินส์ (114 ขวด/คน/ปี) และ 5.) ญี่ปุ่น (88 ขวด/คน/ปี)

ขณะเดียวกันประเทศแรกที่มีค่าใช้จ่ายในการดื่มเบียร์สูงที่สุดในเอเชีย เฉลี่ย ก็ยังเป็นประเทศไทยที่ครองแชมป์อีกด้วย เฉลี่ย 686 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี 2.) เกาหลีใต้ (595 ดอลลาร์/คน/ปี) 3.) ญี่ปุ่น (544 ดอลลาร์/คน/ปี) 4.) ฟิลิปปินส์ (485 ดอลลาร์/คน/ปี) และ 5.) สิงคโปร์ (439 ดอลลาร์/คน/ปี)

นอกจากนี้ World Beer Index 2021 ยังมีรายงานผลในส่วนอื่นๆ อีก โดยประชากรดื่มเบียร์มากสุดในโลก ปี 2021 ได้แก่ 1.) สาธารณรัฐเช็ก (468 ขวด/คน/ปี) 2.) สเปน (417 ขวด/คน/ปี) 3.) เยอรมนี (411 ขวด/คน/ปี) 4.) โปแลนด์ (398 ขวด/คน/ปี) และ 5.) ออสเตรีย (389 ขวด/คน/ปี)

ประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการดื่มเบียร์สูงที่สุดในโลก ปี 2021 คือ 1.) เยอรมนี (1,908 ดอลลาร์/คน/ปี) 2.) โปแลนด์ (1,738 ดอลลาร์/คน/ปี) 3.) ลิธัวเนีย (1,586 ดอลลาร์/คน/ปี) 4.) ออสเตรีย (1,554 ดอลลาร์/คน/ปี) และ 5.) อังกฤษ (1,554 ดอลลาร์/คน/ปี)

ส่วนประเทศที่มีราคาเบียร์แพงสุดในเอเชีย ปี 2021 ได้แก่ 1.) จีน (7.71 ดอลลาร์/ขวด) 2.) ญี่ปุ่น (6.16 ดอลลาร์/ขวด) 3.) สิงคโปร์ (5.17 ดอลลาร์/ขวด) 4.) ไทย (4.82 ดอลลาร์/ขวด) และ 5.) มาเลเซีย (4.74 ดอลลาร์/ขวด)


ที่มา: https://www.bltbangkok.com/news/33715/?fbclid=IwAR0_lOrfe-mHhG095snyLkaeH4Nh79xYCW5P6SuHLGZDoLjjtpYSusP8RUg

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 64 อยู่ที่ 49.4 จาก 47.8 ในเดือน ม.ค.ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังสถานการณ์โควิดเริ่มซา พร้อมได้อานิสงส์มาตรการรัฐหนุน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.พ.64 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการกลับมาปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 63 เป็นต้นมา โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 47.8 เป็น 49.4 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มปรับตัวลดลง รวมทั้งมีการเริ่มต้นการฉีดวัคซีนเกิดขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ หากการฉีดวัคซีนในประเทศมีแผนการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นและการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศดำเนินการได้กว้างขวางขึ้นในอนาคต เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไป และจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไปด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ประเมินว่า ผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการควบคุมโควิด-19 ในไทยว่าจะคลี่คลายลงได้เร็วแค่ไหน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาเยียวยาผลกระทบรอบใหม่ของรัฐบาลในช่วงไตรมาสที่ 2 จาก โครงการ “เราชนะ” “คนละครึ่ง” และ “ม33เรารักกัน” ว่าจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลง อย่างไรหลังจากการปรับครม.ไปแล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top