Tuesday, 3 December 2024
COLUMNIST

เชื่อหรือไม่ ศิลปะบำบัด...แก้ปวดนิ้วจากการเล่นมือถือ

มือเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายและใช้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น จากการเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานการล้างหน้า การแปรงฟัน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำเป็นประจำทุกวัน เป็นต้น ทุกคนใช้มือเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการประกอบอาชีพ ดังนั้นมือจึงควรได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เมื่อมือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการใช้งาน อาจส่งผลให้มือชาหรืออ่อนแรง เช่น อาการชาจากการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) ส่งผลให้ความสามารถในการใช้งานของมือลดลง เช่น การหยิบจับสิ่งของ การฝึกทักษะของมือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูให้มือกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีเช่นเดิม

กิจกรรมฝึกทักษะมือ
โดยปกติแล้วนักกิจกรรมบำบัดมีบทบาทในการตรวจประเมิน ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูความสามารถมือ เมื่อพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมือ เช่น ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อติด มีปัญหาการใช้งานของมือหรือการหยิบจับวัตถุ นักกิจกรรมบำบัดใช้กิจกรรมที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาเป็นสื่อในการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูให้เหมาะสมกับปัญหา โดยเริ่มปรับกิจกรรมจากง่ายไปยาก เพื่อพัฒนาความสามารถอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังนี้

1.) การบริหารมือและนิ้วมือ
กำมือ-แบมือ-กางนิ้วมือ-หุบนิ้วมือ-นิ้วตูมเข้าหากัน-พับนิ้วมือ-จีบนิ้วมือ

2.) การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังมือและนิ้วมือ
ออกแรงบีบวัตถุต่าง ๆ เช่น ลูกบอล ดินน้ำมัน แป้งโดว์ ตัวหนีบผ้า

3.) การฝึกหยิบจับวัตถุรูปแบบต่างๆ จากวัตถุขนาดใหญ่ไปจนถึงวัตถุขนาดเล็ก

นอกจากนี้สามารถผสมผสานกิจกรรมต่างๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา การทำอาหาร มาร่วมในการฝึกทักษะมือ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ทั้งนี้ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและเป็นการกระตุ้นให้รู้สึกอยากทำกิจกรรมมากขึ้น 

ศิลปะบำบัดกับการบริหารมือ

1.) กิจกรรมปั้นดินน้ำมัน หรือแป้งโดว์

เริ่มจากออกแรงนวดดินน้ำมันเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อมือ

ใช้นิ้วมือกดดินน้ำมันให้แบน

ใช้ปลายนิ้วบีบดินน้ำมันให้แบน

ปั้นดินน้ำมันเป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

2.) กิจกรรมตัวหนีบผ้า

จับตัวหนีบผ้าด้วยปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้

    

ฝึกจับตัวหนีบผ้าด้วยปลายนิ้วโป้งและด้านข้างของนิ้วชี้

หนีบตัวหนีบผ้าเป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

3.) กิจกรรมตัวปั๊ม

เลือกตัวปั๊มที่ชอบและออกแรงกดตัวปั๊มลงบนแป้นหมึก

ออกแรงกดตัวปั๊มลงบนกระดาษ
ปั๊มเป็นรูปภาพหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

4.) กิจกรรมเสียบหมุดให้เป็นรูปภาพ

ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งหยิบหมุด

อาจใช้นิ้วกลางและนิ้วโป้งหรือนิ้วอื่น ๆ หยิบหมุด

เสียบหมุดเป็นรูปภาพหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ
 

5.) กิจกรรมระบายสี

เลือกรูปภาพและสีที่ชอบ ระบายสีให้สวยงามตามต้องการ 
 


ข้อมูลอ้างอิง 
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วัฒนา. (2531). ปัญหาของมือที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/998/Hand-Exercises

คำสารภาพของ วาเอล โกนิม (Wael Ghonim) ผู้นำอาหรับสปริง ในโลกโซเชียลของอียิปต์

ในปี ค.ศ. 2011 วิศวกรคอมพิวเตอร์หนุ่มวัย 28 ปี (ในขณะนั้น) วาเอล โกนิม ยังทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือให้กับบริษัท Google แม้ว่าเขาจะเป็นชายหนุ่มที่อายุยังน้อยในความคิดของใคร ๆ แต่สิ่งที่เขาได้ทำนั้นกลับสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ได้อย่างเหลือเชื่อ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังพลังแห่งโซเชียลมีเดียที่โค่นอำนาจเผด็จการในอียิปต์และโลกอาหรับ เมื่อเขาได้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการปลุกกระแสปฏิวัติในอียิปต์ให้เกิดขึ้น จนกลายเป็นอาหรับสปริงในอียิปต์บ้านเกิดของเขา ด้วยการตั้งเพจ Facebook ง่าย ๆ โพสต์ข้อความเรียกร้องให้ประชาชนชาวอียิปต์ออกไปชุมนุมกันกว่า 1 ล้านคน ในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2011 จนสามารถขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัคที่อยู่ในตำแหน่งนานกว่า 30 ปี ได้สำเร็จ

ต่อมาเขาได้เปิดเผยว่า เมื่อการปฏิวัติเกิดขึ้นบนท้องถนน มันกลับเปลี่ยนความหวังเป็นความยุ่งเหยิง จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นความน่ารังเกียจเดียรฉันท์อันแสนจะเจ็บปวด และการใช้โซเชียลมีเดียที่ตามมาทำให้โลกอินเตอร์เน็ตซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งสำหรับ การรวบรวมข้อมูล การมีส่วนร่วม และการแบ่งปัน กลับกลายเป็นสมรภูมิที่มีการแบ่งขั้วแบ่งข้างอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และหลังจากนั้นแล้วในที่สุดเขาได้ออกมาพูด และสารภาพถึงความผิดหวังต่อสิ่งที่เขาได้ทำลงไป จากคลิป “วาเอล โกนิม กับความจริงที่เขาตระหนักรู้หลังจากที่ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จนั้นผ่านไป” ดังนี้

25 มกราคม ค.ศ. 2011 ชาวอียิปต์ก็ออกมาเดินจนเต็มถนนในกรุงไคโร และเมืองอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ทำลายกำแพงแห่งความกลัว และประกาศศักราชใหม่ และแล้วที่สุดมันก็ได้ผล

ผมเคยพูดว่า “ถ้าเราต้องการปลดปล่อยสังคม สิ่งที่เราจำเป็นต้องมีก็แค่อินเตอร์เน็ต” แต่ผมคิดผิด ผมเคยพูดประโยคนี้เมื่อ ปี ค.ศ. 2011 ตอนที่ผมสร้างเพจบน Facebook โดยไม่เปิดเผยตัวตน แล้วมันก็ช่วยจุดชนวนการปฏิวัติในอียิปต์ เหตุการณ์อาหรับสปริงไม่เพียงเผยให้เห็นถึงความสามารถสูงสุดของสื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงจุดที่แย่ที่สุดของมันด้วย เครื่องมือเดียวกันที่ช่วยให้เราสามารถรวบรวมกำลังเพื่อล้มล้างเหล่าผู้นำเผด็จการ แต่สุดท้ายก็ทำให้เราต้องแตกแยกกัน ผมขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และพูดเกี่ยวกับความยากลำบาก และความท้าทายต่าง ๆ ที่ผมเจอมาเองกับตัว และเราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง 

วาเอล โกนิม ได้สร้างเพจบน Facebook และตั้งชื่อเพจว่า “เราทุกคนคือ คาเลด ซาอิส” (We are all Khaled Said) เพียงแค่ 3 วัน มีคนเข้ามาติดตามเพจนี้เกิน 100,000 คน

ในช่วงต้นปี 2000 บรรดาเว็บของชาวอาหรับกำลังปั่นป่วนเว็บ มีความรู้สึกกระหายความรู้และโอกาส และอยากติดต่อกับผู้คนทั่วโลก เราหนีความจริงเกี่ยวกับการเมืองอันหน้าผิดหวัง และไปใช้ชีวิตอยู่บนโลกเสมือนจริงซึ่งแตกต่าง ผมก็เหมือนชาวอาหรับเหล่านั้นที่ไม่เคยสนใจการเมืองจนกระทั่งปี ค.ศ. 2009 เมื่อผมได้ล็อกอินเข้าใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผมเริ่มเห็นชาวอียิปต์มากขึ้นและมากขึ้นเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2010 อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนของชีวิตผมไปตลอดกาล ขณะที่กำลังเล่น Facebook ผมก็เห็นรูปถ่ายถ่ายอันน่าสยดสยอง ศพที่ผ่านทารุณกรรมของชายหนุ่มอียิปต์คนหนึ่ง เขาชื่อ “คาเลด ซาอิส” (Khaled Said) ชายหนุ่มวัย 29 ปี ชาวเมืองอเล็กซานเดรียซึ่งถูกตำรวจสังหาร ผมรู้สึกว่าเหมือนเห็นตัวเองในรูปเหล่านั้น ผมคิดว่า “เราก็อาจเป็นเหมือนคาเลดได้” คืนนั้นผมนอนไม่หลับ และตัดสินใจทำบางอย่าง ผมสร้างเพจบน Facebook และตั้งชื่อเพจว่า “เราทุกคนคือ คาเลด ซาอิส” (We are all Khaled Said) เพียงแค่ 3 วัน มีคนเข้ามาติดตามเพจนี้เกิน 100,000 คน ซึ่งเป็นเหล่ามิตรสหายชาวอียิปต์ที่มีความเห็นร่วมกันเช่นเดียวกับผมในประเด็นนี้ เราต้องหยุดการกระทำอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ 

มกราคม ค.ศ. 2011 Zine El Abidine Ben Ali อดีตประธานาธิบดีของตูนีเซียต้องหนีออกจากประเทศตัวเอง หลังจากพ่ายแพ้ต่อกลุ่มผู้ชุมนุต่อต้านรัฐบาล

ผมรับเอา อับเดล ราห์มัน แมนเซอร์ (Abdel Rahman Mansour) มาช่วยดูแลเพจนี้ ผมทำงานร่วมกับเขาตลอดเวลา เราร่วมกันสร้างสรรค์กลุ่มคน เพื่อเสาะหาแนวคิดจากผู้คน เรายอมให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วม เราได้รวมตัวกันเรียกร้องให้มีการทำอะไรสักอย่าง และแชร์ข่าวที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ชาวอียิปต์รับรู้ จนกลายเป็นเพจที่คนติดตามมากที่สุดในโลกอาหรับ มีจำนวนลูกเพจมากกว่าองค์กรสื่อที่เคยจัดตั้งมาก่อนหน้านี้ และยังมากกว่าเพจคนดัง ๆ แถวหน้าเสียอีก ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2011 เมื่อ Zine El Abidine Ben Ali อดีตประธานาธิบดีของตูนีเซียต้องหนีออกจากประเทศตัวเอง หลังจากพ่ายแพ้ต่อกลุ่มผู้ชุมนุต่อต้านรัฐบาล ผมได้เห็นประกายแสงแห่งความหวัง ชาวอียิปต์ในสื่อสังคมออนไลน์กำลังสงสัยว่า “ถ้าตูนีเซีย ทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้?” ผมจึงโพสต์งานกิจกรรมการเคลื่อนไหวลงใน  Facebook โดยตั้งชื่อว่า “การปฏิวัติต่อต้าน การคอรัปชั่น ความไม่เป็นธรรม และอำนาจเผด็จการ” ผมตั้งคำถามกับผู้ใช้งานในเพจจำนวน 300,000 คน ณ ตอนนั้นว่า วันนี้คือ วันที่ 14 มกราคม และวันที่ 25 มกราคมเป็นวันตำรวจแห่งชาติ เป็นวันหยุดประจำชาติ ถ้าพวกเรา 100,000 คนออกไปเดินบนท้องถนนทั่วกรุงไคโร คงไม่มีใครเข้ามาหยุดเราได้ ผมอยากรู้ว่า พวกเราจะทำได้มั้ย เพียงแค่ไม่กี่วัน มีการส่งคำเชิญนี้ไปยังผู้คนกว่า 1 ล้านคน และมีผู้คนกว่า 100,000 คน ตอบยืนยันการเข้าร่วมกิจกรรม โดยสื่อสังคมออนไลน์มีความสำคัญต่อการรณรงค์ครั้งนี้เป็นอย่างมาก มันช่วยปลุกระดมการเคลื่อนไหวของผู้คนตามจุดต่าง ๆ ทำให้ผู้คนตระหนักว่า พวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ทำให้เห็นว่า เรามีโอกาสหยุดรัฐบาลได้ แม้ว่าเวลานั้นพวกเขายังไม่เข้าใจนักว่า มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2011 ชาวอียิปต์ก็ออกมาเดินจนเต็มถนนในกรุงไคโร และเมืองอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ทำลายกำแพงแห่งความกลัว และประกาศศักราชใหม่ และแล้วที่สุดมันก็ได้ผล

ประธานาธิบดี Hosni Mubarak ถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่ง

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนรัฐบาลจะทำการตัดสัญญาณ โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต ประมาณเที่ยงคืน ขณะที่ผมกำลังเดินบนถนนที่มืดมิดในกรุงไคโร ผมพึ่งจะทวิตไปว่า “ขอพระเจ้าคุ้มครองอียิปต์ รัฐบาลคงเตรียมการสังหารหมู่ในวันพรุ่งนี้แน่ ๆ” ผมก็ถูกตีเข้าที่หัวอย่างแรง ผมสูญเสียการทรงตัวและล้มลง ทำให้รู้ว่า มีชายติดอาวุธ 4 คนล้อมผมอยู่ คนหนึ่งปิดปากผม ส่วนคนอื่น ๆ จับผมไว้ ผมรู้ตัวว่า กำลังโดนอุ้มโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาล ผมรู้ตัวอีกทีก็อยู่ในคุกแล้ว ถูกสวมกุญแจมือ ปิดตา ผมรู้สึกกลัวมาก ครอบครัวผมก็เช่นกัน พวกเขาพยายามตามหาผม ทั้งโรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือแม้แต่ในห้องดับจิต เพื่อนร่วมงานผมส่วนหนึ่งที่รู้ว่า ผมเป็นแอดมินของเพจนั้น ได้บอกกับสื่อเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของผมกับเพจนั้น และผมน่าจะถูกอุ้มโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาล เพื่อนร่วมงานของผมที่บริษัท Google เริ่มการรณรงค์เพื่อหาตัวผม และเพื่อน ๆ ซึ่งชุมนุมที่จัตุรัสก็เรียกร้องให้ปล่อยตัวผม หลังจาก 11 วันที่ต้องอยู่กับความมืดมิด ผมถูกปล่อยเป็นอิสระ และ 3 วันให้หลังประธานาธิบดี Hosni Mubarak ถูกกดดันจนต้องลงจากตำแหน่ง มันเป็นช่วงเวลาที่ให้แรงบันดาลใจ และทำให้ผมมีพลังมากที่สุดในชีวิต มันเป็นเวลาของความหวังอันยิ่งใหญ่ ชาวอียิปต์ใช้เวลาอันสงบสุขบนสังคมในอุดมคติเป็นเวลา 18 วันในระหว่างการปฏิวัติ พวกเขามีความเชื่อร่วมกันว่า พวกเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าพวกเราจะแตกต่างกัน อียิปต์หลังจากยุค Mubarak จะเป็นของทุก ๆ คน

13 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทหารก็เข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตย หลังจากสามวันที่มีการชุมนุมประท้วงอันดุเดือด และเรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่ง

แต่โชคร้าย เหตุการณ์หลังการปฏิวัติเหมือนกับการถูกตุ้ยท้อง ความสงบได้หายไป เราไม่สามารถทำประชามติกันได้ และความขัดข้องทางการเมืองนำไปสู่การแบ่งขั้วอำนาจ สื่อสังคมออนไลน์ก็แค่ทำให้สถานการณ์ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยใช้เป็นที่เผยแพร่ ข้อมูลเท็จ ข่าวลือ การรับข้อมูลด้านเดียว และการใช้คำในการสร้างความเกลียดชัง สภาพแวดล้อมตอนนั้นเป็นพิษอย่างรุนแรง โลกออนไลน์ของผมกลายเป็นสนามรบ เต็มไปด้วย พวกเกรียน คำโกหก และการใช้คำในการสร้างความเกลียดชัง ผมเริ่มกังวลในความปลอดภัยของครอบครัวของผม แต่ที่แน่ ๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องของผมคนเดียว การแบ่งขั้วอำนาจเดินไปจนถึงขีดสุดระหว่างสองขั้วอำนาจหลัก คือ ผู้สนับสนุนทหาร กับกลุ่มมุสลิม คนที่อยู่ตรงกลางเช่นผม เริ่มรู้สึกไร้ที่พึ่ง ทั้งสองกลุ่มต้องการให้เราเลือกข้าง ไม่อยู่ฝั่งเดียวกับพวกเขาก็ต้องอยู่ฝั่งตรงข้าม และวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทหารก็เข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตย หลังจากสามวันที่มีการชุมนุมประท้วงอันดุเดือด และเรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่ง 

วันนั้นผมต้องตัดสินใจเรื่องที่ยากอย่างหนึ่ง ผมตัดสินใจที่จะเงียบ เงียบสนิท มันเป็นช่วงเวลาแห่งความพ่ายแพ้ ผมอยู่เงียบ ๆ เป็นเวลานานกว่า 2 ปี และผมได้ใช้เวลานั้นครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด พยายามทำความเข้าใจว่า มันเกิดขึ้นได้ยังไง มันทำให้ผมได้เข้าใจว่า ขณะที่มันเป็นเรื่องจริงที่หลัก ๆ แล้วการขับเคลื่อนจนเกิดการแบ่งขั้วอำนาจนั้น มาจากพฤติกรรมของมนุษย์ สื่อสังคมออนไลน์นั้นทำให้พฤติกรรมดังกล่าวกลายเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และขยายผลกระทบเป็นวงกว้าง สมมติว่า คุณอยากพูดบางอย่างซึ่งไม่ได้มาจากข้อเท็จจริง การรับคำท้าหรือเมินเฉยต่อคนบางคนที่คุณไม่ชอบ เหล่านี้คือ แรงกระตุ้นโดยธรรมชาติของมนุษย์ แต่เพราะด้วยเทคโนโลยี การสนองตอบต่อแรงกระตุ้นนี้ก็แค่ใช้เพียงคลิกเดียวเท่านั้น 

ผมมองว่า มีความท้าทายที่เข้าขั้นวิกฤตอยู่ 5 เรื่อง ในการเผชิญต่อสื่อสังคมออนไลน์เช่นทุกวันนี้ 

เรื่องแรก พวกเราไม่รู้ว่า จะจัดการพวกข่าวลือยังไง ข่าวลือที่ออกมาสนองตอบต่ออคติของผู้เสพ กลายเป็นข่าวที่คนเชื่อและแพร่กระจายไปยังผู้คนนับล้าน 

เรื่องที่สอง เราสร้างการรับข่าวสารข้างเดียวของเราเอง เรามักเลือกที่จะสื่อสารเฉพาะกับกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเรา และต้องขอบคุณสื่อสังคมออนไลน์ เพราะ เราสามารถ ปิดการแจ้งเตือน ยกเลิกการติดตาม และปิดกั้นใครก็ได้ 

เรื่องที่สาม การสนทนาออนไลน์ลุกลามรวดเร็วจนกลายเป็นกลุ่มผู้ประท้วงที่เกี้ยวกราด เราทุกคนน่าจะรู้อยู่แก่ใจว่า มันเหมือนราวกับ พวกเราลืมไปแล้วว่า คนที่อยู่เบื้องหลังจอนั้น ก็คือคนจริง ๆ นั่นแหละ ไม่ใช่แค่รูปตัวแทน 

เรื่องที่สี่ มันยากมากมากที่จะเปลี่ยนความคิดเห็นของพวกเรา เพราะว่า ความรวดเร็วและกระชับของสื่อสังคมออนไลน์ เราถูกบังคับให้พุ่งประเด็นไปที่ข้อสรุป และเขียนความเห็นสั้น ๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ซับซ้อนบนโลก และเมื่อเราเขียนมันแล้ว มันจะปรากฏอยู่บนอินเตอร์เน็ตตลอดกาล และเรามีแรงน้อยมากในการเปลี่ยนแปลงมุมมองเหล่านี้ แม้ว่าจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ ก็ตาม 

เรื่องที่ห้า และในมุมมองของผมนี่คือ เรื่องที่วิกฤตที่สุด ทุกวันนี้ประสบการณ์ในการใช้สังคมออนไลน์ถูกออกแบบด้วยแนวทางที่เน้นการแพร่กระจายข่าวสารมากกว่าการมีส่วนร่วมกับผู้ชม ชอบการโพสต์มากกว่าการถกประเด็น ชอบความเห็นอันตื้นเขินมากกว่าการสนทนาที่ลึกซึ้ง เหมือนกับเรายอมรับว่า เราอยู่ตรงนี้เพื่อพูดจาใส่กัน แทนที่จะพูดคุยร่วมกัน ผมได้เห็นเป็นพยานแล้วว่า เรื่องท้าทายนี้ส่งผลอย่างไรต่อสังคมอียิปต์ที่แตกแยกไปเรียบร้อยแล้ว แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของอียิปต์เพียงประเทศเดียว การแบ่งขั้วอำนาจ แบ่งข้าง แบ่งฝ่าย กำลังเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก 

ในปี ค.ศ. 2011 นิตยสารไทม์ได้ใส่ วาเอล โกนิม ไว้ในรายชื่อ 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดประจำปี ค.ศ. 2011

เราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาวิธีว่า จะนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร มากกว่าที่จะให้เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ทุกวันนี้มีการโต้กันมากมายว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถต่อสู้กับการคุกคามทางออนไลน์ และต่อกรกับพวกเกรียนได้ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่เราจำเป็นต้องคิดด้วยว่า จะออกแบบประสบการณ์ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างไร จึงจะส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี และให้รางวัลแก่ความมีวิจารณญาณ ผมทราบความจริงอย่างหนึ่งว่า ถ้าหากผมเขียนโพสต์ที่กระทบความรู้สึกมากขึ้น เขียนในมุมมองด้านเดียวมากขึ้น และในบางครั้งโกรธและก้าวร้าวมากขึ้น ผมต้องได้คนมาเห็นโพสต์นั้นเป็นแน่ ผมจะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราเน้นคุณภาพมากขึ้น อะไรสำคัญกว่า : จำนวนคนอ่านโพสต์ที่คุณเขียน หรือ ใครคือคนที่ได้รับผลกระทบหลังจากอ่านที่คุณเขียน ทำไมเราไม่ทำเพียงแค่กระตุ้นให้ผู้คนเข้าร่วมในบทสนทนามากขึ้น แทนที่จะเอาแต่เผยแพร่ความคิดเห็นอยู่ตลอด หรือให้รางวัลกับคนที่อ่าน และตอบกลับในมุมมองที่พวกเขาก็ไม่เห็นด้วย และทำให้มันเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วยว่า เราเปลี่ยนความคิดเขา หรืออาจแม้แต่จะให้รางวัล ถ้าเรามีเงื่อนไขที่วัดได้ว่า มีคนจำนวนกี่คนที่เปลี่ยนความคิด และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเรา ถ้าผมสามารถติดตามว่า มีจำนวนคนกี่คนที่กำลังจะเปลี่ยนความคิด ผมอาจจะเขียนโพสต์บนสื่อโซเชียลอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น ผมจะพยายามทำอย่างนั้นแทนที่จะดึงดูดกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับผมอยู่แล้ว “กดไลค์” จะกลายเป็นด้วยว่า ผมไปสนองอคติของเขา

เราจำเป็นต้องคิดกลไกการร่วมสร้างกลุ่มคนที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ และให้รางวัลแก่ผู้คนเหล่านั้นที่เข้ามามีส่วนร่วม สิ่งสำคัญคือ เราต้องคิดเรื่องระบบนิเวศน์ของสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันใหม่ และออกแบบประสบการณ์การใช้งานใหม่ด้วย  เพื่อให้รางวัลแก่ความมีวิจารณญาณ ความเป็นพลเมืองดี และความเข้าใจร่วมกัน ในฐานะที่ผมเชื่อในอินเตอร์เน็ต ผมรวบรวมทีมจากกลุ่มเพื่อนไม่กี่คน เพื่อพยายามหาคำตอบและสำรวจความเป็นไปได้ ผลิตภัณฑ์แรกของเราคือ แพลตฟอร์มของสื่อแบบใหม่เพื่อการสนทนา เรากำลังให้บริการการสนทนาที่ส่งเสริมความเข้าใจร่วมกัน และหวังว่า จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิด เราไม่อวดอ้างว่า เราได้พบคำตอบ แต่เราได้เริ่มทดลองกับการสนทนาที่แตกต่างกันเกี่ยวกับปัญหาการแตกแยกที่รุนแรงต่าง ๆ เช่น การโต้วาทีในเรื่อง ชาติพันธุ์ การควบคุมอาวุธปืน ผู้ลี้ภัย ความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมและการก่อการร้าย เหล่านี้คือ บทสนทนาที่สำคัญ ทุกวันนี้อย่างน้อยหนึ่งในสามของคนบนโลกสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ แต่ส่วนหนึ่งของอินเตอร์เน็ตกำลังถูกจองจำโดยด้านที่มืดบอดของคุณธรรมด้วยพฤติกรรมของมนุษย์เรา เมื่อก่อนผมเคยพูดว่า “ถ้าคุณต้องการปลดปล่อยสังคม สิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีก็แค่อินเตอร์เน็ต” แต่วันนี้ผมเชื่อว่า “ถ้าเราต้องการปลดปล่อยสังคม เราต้องเริ่มจากการปลดปล่อยอินเตอร์เน็ตก่อน” ขอบคุณมากครับ

ตอนนี้เราทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับพฤติกรรมออนไลน์ เราจะใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความสุภาพ และการโต้แย้งอย่างมีเหตุผลได้อย่างไร URL คลิปที่วาเอล โกนิมพูดเรื่องนี้ (พร้อม Sub Title ไทย) ได้ที่ http://https://youtu.be/HiwJ0hNl1Fw

Revolution 2.0: The Power of the People Is Greater Than the People in Power: A Memoir แต่งโดย วาเอล โกนิม

วาเอล โกนิม ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่สามารถอธิบายข้อสงสัยเกี่ยวกับที่มาของ Facebook "We are all Khalid Said" ซึ่งเชื่อกันว่า มีผู้ริเริ่มสร้างเพจนี้มากกว่าหนึ่งคน ยิ่งไปกว่านั้นมีผู้คนมากกว่า 360,000 คนเข้าร่วม Facebook ส่วนตัวของเขา และอีกกว่า 3,000,000 คนเข้าร่วมเพจ Facebook "We are all Khaled Said" ซึ่งดำเนินการโดยเขา และผู้ดูแลระบบอีกคนคือ อับเดล ราห์มัน แมนเซอร์ (Abdel Rahman Mansour) และ Facebook "We are Khaled Said" มีส่วนอย่างสำคัญในการจุดประกายการปฏิวัติอียิปต์ ในปี ค.ศ. 2011 นิตยสารไทม์ได้ใส่ วาเอล โกนิม ไว้ในรายชื่อ 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดประจำปี ค.ศ. 2011 และ World Economic Forum ได้เลือกให้ วาเอล โกนิม เป็นหนึ่งใน Young Global Leaders ในปี ค.ศ. 2012 ด้วย

ด้วย “คำสารภาพของ วาเอล โกนิม” สังคมไทยจะต้องไม่ยอมให้อินเตอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังและโกรธแค้น แต่ต้องใช้เพื่อการสร้างสรรค์ ประเทืองปัญญา และจรรโลงสังคม ด้วยการแยกแยะ ผิด ชอบ ชั่ว ดี ในการแปลง “ข้อมูล” ให้เป็น “ข่าวสาร” พิจารณาใคร่ครวญให้ “ข่าวสาร” กลายเป็น “ความรู้” ใช้สติและศีลธรรมกำกับ “ความรู้” ให้เกิด “ปัญญา” เพื่อทำให้ สังคมไทย ประเทศชาติบ้านเมือง และโลก ได้มีความสงบสุข สวยสดและงดงาม เจริญรุ่งเรือง ด้วยความดีตลอดไป

ดอกประดู่กับสงกรานต์ในเมียนมาร์

โควิด-19 ได้พรากเทศกาลสงกรานต์ในเมียนมาร์หรือในภาษาพม่าเรียกว่า ตะจ่าน (Thingyan ภาษาเขียนออกเสียงว่าติงจ่าน) เทศกาลตะจ่าน เป็นวัฒนธรรมของชาวพม่าที่มีมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีแล้ว และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อกำหนดวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ถึง 16 เมษายน ช่วงนี้จะเป็นช่วงสิ้นปีมีการเล่นสาดน้ำต้อนรับปีใหม่ และในวันที่ 17 เมษายน จะถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ คนเมียนมาร์จะทำความสะอาดบ้าน และนิมนต์พระมาฉันที่บ้าน อีกทั้งมีการบริจาคอาหารหรือขนมให้เพื่อนบ้าน รวมถึงบางครอบครัวมีการผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านก็จะทำการสระผม ตัดเล็บให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว ยามเย็นจะมีการนิมนต์พระมาสวดขับไล่สิ่งไม่ดี โชคร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากสถานที่แห่งนี้

และในเทศกาลตะจ่านนี้เอง มีดอกไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลนี้นั่นคือ ดอกปะเด้าก์ (Padauk) หรือดอกประดู่นั่นเอง ชาวเมียนมาร์จะมีการนำดอกประดู่มาประดับประดาตามอาคารบ้านเรือน สำนักงาน รถโดยสาร และบางคนจะทัดช่อดอกประดู่ไว้ที่ผมดูน่าชม   

สาเหตุที่ดอกประดู่ถือเป็นดอกไม้ประจำเทศกาลตะจ่านก็เพราะว่า ก่อนเทศกาลตะจ่านในเมียนมาร์ทุกปีจะมีฝนโปรยปราย ในเวลานั้นเอง ต้นประดู่จะแทงดอกออกรับน้ำฝนซึ่งจะบานเต็มที่ในช่วงเดือนเมษายน ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของปีใหม่ ดั่งดอกประดู่ที่เกิดใหม่อีกครั้งโดยการแทงดอกจนเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งเมือง

และในช่วงเวลานี้คนพม่าจะนิยมทำขนมที่เรียกว่า โมน โลน เหย่บอว์ เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งข้าวเหนียวโดยใส่น้ำตาลโตนดไว้เป็นไส้ โดยทุกคนในบ้านหรือในชุมชนนนั้นจะช่วยกันในการปั้นขนมแล้วโยนลงไปในน้ำเดือดแต่สำหรับใครที่อยากจะแกล้งใครก็อาจจะใส่พริกเป็นไส้แทนน้ำตาลโตนดที่คนพม่าเรียกว่า ทันเนี่ยะ ก็ได้

และแม้ปีนี้ในเมียนมาร์ไม่ว่าจะมีการจัดเทศกาลตะจ่านหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ผมก็หวังว่าคนเมียนมาร์คงยังไม่สิ้นหวังและกลับมายืนขึ้นใหม่ได้อีกครั้งเหมือนดั่งดอกประดู่ที่กลับมาบานใหม่ทุกปี

สีจิ้นผิง ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง ‘เติ้ง’ และ ‘เหมา’

“มหาอำนาจ” คือคำที่ใช้เรียกรัฐที่ถูกยอมรับว่ามีความสามารถในการแผ่ขยายอิทธิพลได้ในระดับโลก ไม่มีหลักเกณฑ์หรือลักษณะจำกัดความของคำว่ามหาอำนาจ หากแต่เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัด ขาดรอย ซึ่งตัดสินได้จากลักษณะเชิงประสบการณ์ในตัวผู้ประเมิน อันคุณสมบัติร่วมของประเทศมหาอำนาจทั่วโลก คือการครอบครองอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ ตลอดจนอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการทูต

หากจะพูดถึงรัฐมหาอำนาจในปัจจุบันนอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็มีจีนในยุค ‘สี จิ้นผิง’ นี่แหละครับ ที่กำลังมาแรงและมีโอกาสลุ้นแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นรัฐมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกในอนาคต

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.macroviewblog.com

ต้องเกริ่นก่อนครับ ว่าสิ่งที่ทำให้รัฐใดรัฐหนึ่งก้าวขึ้นไปสู่การเป็นมหาอำนาจได้นั้นประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากร รวมถึงจำนวนและคุณภาพประชากร หากรัฐใดมีสิ่งเหล่านี้ครบถ้วน รัฐนั้นย่อมมีโอกาสในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ แต่อีกปัจจัยใจที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือ “ผู้นำที่ดี” หากรัฐใดอุดมไปด้วยทรัพยากรตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่อยู่ภายใต้การบริหารของผู้นำที่ไร้วิสัยทัศน์ ทรัพยากรที่มีมากไปก็ไร้ความหมาย

หากพูดถึงการเป็นผู้นำ (ทางการเมือง) ตามหลักการของ  Niccolo Machiavelli (ค.ศ. 1469-1527) ซึ่งเขียนตำราว่าด้วยผู้ปกครองที่ดี “The Prince” ผู้นำที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะ 3 ข้อ ได้แก่ ปัญญาที่ฉลาดเฉียบแหลม กระบวนการคิดที่เป็นระบบ และความกล้าหาญ 

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.amazon.com

“ผู้นำที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติของสิงโต และหมาป่าในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ก้าวร้าว ห้าวหาญ และสง่างามเหมือนสิงโต แต่ชาญฉลาดและแยบยล เหมือนหมาป่า”

สำหรับประเทศจีน มีตัวอย่างผู้นำทางการเมืองมากมายที่น่ายกย่อง ตั้งแต่จักรพรรดิเฉียนหลง เจียชิ่ง จิ๋นซีฮ่องเต้ ซุนยัดเซ็น ประธานเหมา ตลอดจนเติ้งเสี่ยวผิง แต่ในวันนี้ เราจะมาพูดถึง ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำคนปัจจุบันของจีน ในแง่ของความเป็นผู้นำที่มีส่วนผสมของทั้ง ‘เหมาเจ๋อตง’ และ ‘เติ้งเสี่ยวผิง’

หากจะพูดถึงระบบการปกครองของจีนในปัจจุบัน ก็ต้องพูดถึงบุคคลที่เปรียบดั่งบิดาผู้ให้กำเนิดจีนยุคคอมมิวนิสต์หรือยุค “จีนใหม่” อย่างประธานเหมา หรือเหมาเจ๋อตง หนึ่งในสมาชิกยุคก่อตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีคนแรกในยุคสาธารณะรัฐประชาชนจีน

ประธานเหมาเป็นผู้นำที่ทั้งห้าวหาญและสง่างาม ทั้งยังมีความคิดเฉียบแหลม โดยเฉพาะความสามารถในด้านของการบริหารอำนาจอันแสดงออกผ่านการตัดสินใจที่เด็ดขาด และให้แนวทางที่ชัดเจนต่อคนในชาติตั้งแต่ช่วงแรกของยุคจีนใหม่ ด้วยการเรียกร้องให้คนในชาติ “站起来 – จ้านฉี่หลาย” แปลว่า “จงลุกขึ้นยืน” หมายถึงการให้คนจีนร่วมกันยืนบนลำแข้งของตัวเองหลังจากถูกต่างชาติข่มเหงรังแกมาตลอดหลายร้อยปี

แต่กระนั้นการบริหารเศรษฐกิจของประธานเหมายังมีข้อบกพร่องอยู่มาก อีกทั้งยังก่อความผิดพลาดอย่างมหันต์ในการริเริ่มการปฏิวัติวัฒนธรรมอันทำให้การพัฒนาของประเทศต้องหยุดชะงักไปนานถึง 10 ปี

คาแรคเตอร์ของประธานเหมานั้นอยู่คนละขั้วกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นที่สองอย่างเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำและนักปฏิบัตินิยมผู้มีความคิดเปิดกว้างพอที่จะลดความเข้มงวดในวิถีการปกครองด้วยอุดมการณ์สังคมนิยม และใจกล้าพอที่จะปฏิรูปเปิดประเทศ รับระบบตลาดเสรีจากตะวันตกเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติจนทำให้จีนกลายเป็น “โรงงานของโลก” ในเวลาต่อมา

“富起来 - ฟู่ฉี่หลาย” มีความหมายประมาณว่า “สร้างเนื้อสร้างตัว” หลังจากคนจีนยืนบนลำแข้งตัวเองได้ตั้งแต่ในยุคของประธานเหมา ก็ถึงเวลาที่ประชาชนชาวจีนจะต้องลืมตาอ้าปาก หลุดพ้นจากความจน และกอบโกยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ซึ่งนโยบายของเติ้งเสี่ยวผิงก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นมามีบทบาทบนเวทีการค้าโลก แต่หากจะพูดถึงข้อเสียของเติ้งนั้น ก็เห็นจะเป็นการที่เขาเลือกที่จะอะลุ่มอล่วยต่อพฤติกรรมคดโกงและการคอรัปชั่นของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ในพรรค

สำหรับ ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำจีนในปัจจุบัน มีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากลยุทธ์การบริหารประเทศของสีจิ้นผิงมีความคล้ายคลึงกับเติ้งเสี่ยวผิง คือการยอมรับระบบตลาดแบบทุนนิยม แต่ยึดมั่นในอุดมการณ์หลักของความเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นการผสมผสานที่ถูกนิยามว่า “สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์ของจีน”

ในส่วนของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ หลังจากประธานสีขึ้นรับตำแหน่ง ก็ยึดเอายุทธศาสตร์ One Belt One Road เส้นทางสายไหมทางทะเล และใช้กลยุทธ์การเผยแพร่วัฒนธรรมด้วยการให้ทุนเรียนฟรีกับนักเรียนต่างชาติปีละหลักล้านคนจนเกิดเป็นกระแส “汉语热 - ฮั่นหยวี่เร่อ” ซึ่งเป็นกระแสที่นักเรียนทั่วโลกมีความต้องการมาศึกษาภาษาจีนที่ประเทศจีน โดยมีเป้าหมายในการใช้ภาษาจีนดำรงวิชาชีพหรือทำการค้าขายกับประเทศจีน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการอัดฉีดเงินในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร และยังประกาศชัดเจนว่าจะนำประเทศจีนให้เป็นผู้นำ 5G และกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี AI ปัญญาประดิษฐ์ของโลกในอนาคต

นั่นทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าวิธีการบริหารของสีจิ้นผิงนั้นเป็นไปในทิศทางใกล้เคียงกับในยุคของผู้นำเติ้ง..

แต่ก็มิพักจะสงสัยว่า ตัวตนของสีจิ้นผิง แท้จริงแล้วมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าผู้นำเติ้ง สังเกตได้จากการที่เขาบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีสังคมนิยม Marxist - Leninist ลงไปในหลักสูตรการศึกษาของเยาวชน และปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลต่าง ๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฟิลิปินส์ เวียดนาม และบรูไน รวมถึงการขัดขวางความพยายามของฮ่องกงและไต้หวันในการแบ่งแยกดินแดน เรียกได้ว่าแม้เพียงแค่ตารางนิ้วเดียวก็จะไม่ยอมให้สูญเสียไป

นอกจากนี้ สีจิ้นผิงมองว่าพฤติกรรมการคอรัปชั่นของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่พรรคนั้นถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งสิ่งที่อภัยไม่ได้ เขาใช้มาตรการในการกวาดล้างการคอรัปชั่นอย่างจริงจัง มีข่าวการจับกุมและลงโทษขั้นเด็ดขาดต่อผู้กระทำผิดฐานคดโกงนับร้อยคดี จนการคอรัปชั่นกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากมากในจีนปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้ทำให้สีจิ้นผิงสามารถรวมศูนย์อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ และผ่านการลงมติรับรองจากสภาประชาชนแห่งชาติให้เป็น "ประธานาธิบดีตลอดชีวิต" และกลายเป็นหนึ่งในผู้นำทางการเมืองที่ทรงอำนาจและมีอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ทำเอานักวิเคราะห์จากหลายสำนักเห็นตรงกันว่าสถานภาพของสีจิ้นผิง นับวันจะใกล้เคียงกับคำว่า “จักรพรรดิ” ขึ้นไปทุกที 

ในแง่ของการบริหารอำนาจ สีจิ้นผิงมีความคล้ายคลึงกับประธานเหมามากกว่าผู้นำเติ้ง....

อย่างไรก็ตามแต่ ไม่ว่าจะเป็นเหมาเจ๋อตงหรือเติ้งเสี่ยวผิง ทั้งคู่ต่างเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ที่หากไม่มีพวกเขา ก็คงจะไม่มีจีนวันนี้ ซึ่งตามทรรศนะของผู้เขียนเอง ผู้นำจีนคนปัจจุบันอย่างสีจิ้นผิงนั้นคือการนำจุดเด่นของทั้งประธานเหมาและผู้นำเติ้งมารวมเป็นคนเดียวกัน กล่าวคือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง “หยิน” กับ “หยาง” เป็นผู้นำแห่งแดนมังกรที่มีความเป็นสิงโต และหมาป่าในเวลาเดียวกัน

“强起来 – เฉียงฉี่หลาย” 
แปลว่า “จงแข็งแกร่ง” เป็นเป้าหมายและปรัชญาในการบริหารบ้านเมืองของสีจิ้นผิง ในขณะเดียวกันก็เป็นวลีที่ใช้ปลุกระดมให้คนในชาติให้ร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง การทูต และแสนยานุภาพทางทหาร อันเป็นสิ่งตอกย้ำชัดเจนในเป้าหมายละความทะเยอทยานของจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง หลังจากที่ยืนบนลำแข้งตัวเองได้ และค่อย ๆ สร้างเนื้อสร้างตัวจนมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ก้าวต่อไป จีนจะต้องเดินเกมเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างแน่นอน

หากพิจารณาจากคุณสมบัติความเป็นผู้นำของสีจิ้นผิงแล้ว ท่านผู้อ่านคิดว่าเขาจะสามารถพาประเทศจีนขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจได้จริงหรือไม่ 


ข้อมูลอ้างอิง 
ขอบคุณรูปภาพจาก : th.wikipedia.org
 

เหตุการณ์เรือ Ever Given กับการประกันภัยทางทะเล

ช่วงเดือนที่ผ่านมามีข่าวใหญ่เกี่ยวกับอุบัติเหตุการขนส่งทางทะเล นั้นคือการที่เรือคอนเทนเนอร์ขนาดยักษ์ Ever Given เกยตื้นแล้วขวางเส้นทางเดินเรือของคลองสุเอซ วันนี้จะขอมาเล่าเกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ เพราะการประกันภัยทางทะเลจัดได้ว่าเป็นการประกันวินาศภัยที่เก่าแก่ที่สุดและมีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง

เริ่มจากเรือที่มักจะทำประกันภัยตัวเรือและเครื่องจักร (Hull and machinery insurance) ที่ให้ความคุ้มครองทั้งตัวเรือ เครื่องจักร ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และค่าใช้จ่ายในการกู้ภัย แต่มีข้อแม้ว่าเจ้าของเรือต้องร่วมจ่ายค่าเสียหายด้วยบางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความประมาทในการดำเนินงาน 

ในบรรดาเจ้าของเรือก็มองว่าค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ต้องออกเองเมื่อเกิดความเสียหายนั้นจำนวนก็ไม่ใช่น้อย หากต้องชดใช้ด้วยตนเองทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของตน จึงรวมกลุ่มกันเพื่อก่อตั้งเป็นการประกันภัยแบบสหการ (Mutual insurance) เพื่อรับประกันภัยจากสมาชิกซึ่งเป็นเจ้าของเรือด้วยกัน และการรวมกลุ่มดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ P&I Club มาจากคำว่า Protection and indemnity insurance club ที่มีอยู่ทั้งหมด 13 แห่งทั่วโลก และในกรณีของ Ever Given นั้นเป็นสมาชิกอยู่ใน UK P&I Club และให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในวงเงินสูงถึง 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะมีการเรียกร้องค่าเสียหายจากเรือ Ever Given เป็นมูลค่าที่สูงมาก ทั้งจากความเสียหายของคลองสุเอซ การสูญเสียรายได้จากค่าผ่านคลอง หรือค่าใช้จ่ายของเรือลำอื่นที่ล่าช้า

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งหากมีการตกลงชดเชยค่าเสียหายกันได้แล้วทาง UK P&I Club ก็ไม่ได้ควักเงินจ่ายค่าเสียหายอยู่ฝ่ายเดียว เพราะมีการประกันภัยต่อไปยัง P&I Club อีก 12 แห่ง แห่งละไม่เกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนที่เหลือก็ส่งต่อให้บริษัทรับประกันภัยต่อระดับโลกอีก 20 บริษัท สาเหตุที่ต้องมีการรับประกันภัยต่อหลายรายเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในกรณีที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของสินค้าที่ขนมาบนเรือนั้นก็มักจะทำประกันภัยสินค้าโดยรูปแบบความคุ้มครองส่วนใหญ่อ้างอิงจากประกันภัย ICC (Institute cargo clauses) ที่จัดทำโดยกลุ่มผู้รับประกันภัยในประเทศอังกฤษ มีความคุ้มครอง 3 แบบ คุ้มครองมากที่สุดคือ ICC(A) รองลงมาคือ ICC(B) และน้อยสุดคือ ICC(C)  ถ้าหากสินค้าเสียหายจากเหตุการณ์นี้ก็สามารถได้รับเงินชดจากทั้งสามแบบ เพราะทุกแบบให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากเรือเกยตื้น

ถึงแม้สินค้าจะไม่ได้เสียหายจากเหตุการณ์นี้ เจ้าของสินค้าก็อาจต้องมีส่วนร่วมออกค่าใช้จ่ายในการกู้ภัยตามหลัก General average หรือความเสียหายทั่วไป โดยหลักการนี้มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมัน นั้นคือหากเรือเกิดอุบัติเหตุแล้วกัปตันตัดสินใจต้องทิ้งสินค้าบางส่วนลงน้ำเพื่อรักษาทรัพย์สินส่วนรวมให้รอดปลอดภัย ทรัพย์สินส่วนนั้นจะได้รับการชดใช้คืน โดยยึดถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบันตามที่ได้มีการปรับปรุงตามกฎ York-Antwerp Rules และในไทยเองก็มีกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องนี้ คือ พ.ร.บ.การเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปจากภยันตรายในการเดินเรือ พ.ศ. 2547 และให้ความหมายของความเสียหายทั่วไป คือ “ความสูญเสีย หรือความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นผลโดยตรงจากการเสียสละทรัพย์สิน หรือค่าใช้จ่ายเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจงใจกระทำขึ้นตามสมควรเพื่อปกป้องรักษาเรือและทรัพย์สินที่เผชิญภัยอันตรายร่วมกัน” ดังนั้นค่าใช้ในการกู้ภัยเรือจึงถือว่าเป็นความเสียหายทั่วไปด้วย หากเจ้าของเรือ Ever Given ประกาศว่ามีความเสียหายทั่วไปแล้ว จะมีการแบ่งส่วนเฉลี่ยคิดตามมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น และคาดการณ์ว่าน่าจะใช้เวลาเป็นปีในการสรุปค่าใช้จ่ายเพราะด้วยขนาดเรือที่ขนสินค้ามาจำนวนมากและมีเจ้าของสินค้าหลายราย

ขอยกตัวอย่างกรณีของเรือ Maersk Honam ที่เกิดเหตุไฟไหม้บนเรือในปี 2018 จากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้มีการเรียกเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปมากถึง 54% ของมูลค่าทรัพย์สิน นั้นคือหากเป็นเจ้าของสินค้ามูลค่า 1 ล้านบาท จะต้องร่วมเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป 540,000 บาท สินค้าของใครที่ทำประกันภัย ICC ก็สบายใจได้เพราะให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ใครที่ไม่ได้ทำก็คงต้องออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง และทางสายเรือจะกักสินค้าเอาไว้จนกว่ากว่าจะนำเงินส่วนนี้มาจ่าย

จากที่เล่ามาข้างต้นจะเห็นได้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติของการขนส่งสินค้าทางทะเลมีมาอย่างยาวนานและมีรูปแบบเฉพาะที่มีความแตกต่างจากการขนส่งด้วยวิธีอื่น ผู้นำเข้าส่งออกควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองสินค้า เพราะถึงแม้สินค้าของตนจะไม่เกิดความเสียหาย แต่อาจมีการเรียกเก็บส่วนเฉลี่ยค่าเสียหายทั่วไปที่มียอดเงินไม่น้อยเลยทีเดียว


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.agcs.allianz.com/news-and-insights/expert-risk-articles/suez-canal-marine-insurance-claims.html

https://www.hellenicshippingnews.com/suez-canal-insurance-claims-loom-as-ever-given-blocks-shipping/

https://theloadstar.com/lengthy-wait-for-cargo-as-ever-given-owner-declares-general-average/

เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 3

เช้าแสนอ้อยอิ่งผ่านไปพร้อมกับมื้อเช้าง่าย ๆ คือขนมและกาแฟ รอบนี้เอากาแฟคั่วจากสวนตัวเองลงมาด้วย ตั้งเตาต้มน้ำ พลางบดกาแฟ เทลงในหม้อ เติมน้ำเดือดลงไป รอราวสามนาทีก็นำช้อนเขี่ยผงกาแฟที่ลอยอยู่ให้จมลง ตักเอาฟองและเศษที่เหลือออก แค่นี้ก็พร้อมเสิร์ฟแล้ว นี่ถือว่าเป็นการชงกาแฟที่เรียบง่ายที่สุดและเป็นการเลียนแบบวิธีการทำคัปปิ้ง (อธิบายง่ายสั้นก็คือการดมชิมกาแฟ) นั่นเอง

“เอาเชือกรัดสัมภาระต่าง ๆ ในเรือ “แล้วก็อย่าลืมใส่ชูชีพด้วยนะพี่” บังบิ๊บบอกเช่นนั้น เสียงค้านในใจบอกไม่เห็นจะจำเป็นสักหน่อย น้ำไหลเอื่อยแบบนี้ไม่ต้องแน่นหนาขนาดนั้นก็ได้ แต่เอาน่ะ คนเขาอยู่ในพื้นที่ น่าจะมีเหตุผลมากพอหากเขาแนะนำเช่นนั้น ผมจึงหยิบเชือกออกมามัดกระเป๋าสองสามใบไว้

การพายคายักในวันนี้เริ่มต้นแบบไม่ต้องออกแรงจ้วงไม้พายมากนัก เพราะน้ำไหลเรื่อย สองฝั่งร่มรื่นไปด้วยแมกไม้เขียวขจี อากาศยามเช้าแสนจะเป็นใจ บางครั้งผ่านบ้านเรือนผู้คน เด็กน้อยโบกมือและวิ่งลงมาทักทายคนแปลกถิ่น เป็นภาพที่สวยงาม แต่มีสิ่งที่เห็นแล้วรกสายตามาก คือขยะทั้งหลายโดยเฉพาะพลาสติกที่ลอยไปติดอยู่ตามกิ่งก้านไม้ในช่วงน้ำหลาก เมื่อน้ำลดจึงค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เห็นแล้วรู้สึกขัดหูขัดตา สำหรับเผ่าพันธุ์มนุษย์แล้วขยะย่อยสลายยากอาจแค่ทำให้รู้สึกไม่สบายตา ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว ขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศค่อนข้างมาก และถ้าเพียงแค่เราต่างตระหนักว่าการกระทำของเราสามารถทำลายอีกหลายชีวิตโดยไม่ตั้งใจ เราอาจจะระมัดระวังการใช้ชีวิตในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ก็เป็นได้ เราอาจจะลดการสร้างขยะหรืออย่างน้อยก็พยายามรับผิดชอบด้วยการจัดการขยะที่เราสร้างขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม

เอาเถอะถือว่าเป็นการสะท้อนมุมมองและความรู้สึกบางด้านจากการพายเรือผ่านแม่น้ำปัตตานีละกัน 

กลับมาที่ไฮไลต์ประจำวันกันอีกครั้ง ซึ่งก็คือดีกรีความตื่นเต้นที่สายน้ำนี้มอบให้ มันค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามช่วงเวลาของวัน ยิ่งพายยิ่งเจอสิ่งที่ทำให้อะดรีนาลีนหลั่งมากขึ้น ก็แก่งทั้งหลายไงล่ะครับ ค่าที่ยังนับว่าเป็นมือใหม่หัดพาย จึงยังคงต้องสะสมชั่วโมงพายเรือ เพื่อสั่งสมความชำนาญและความมั่นใจในการอ่านสายน้ำไปทีละเล็กละน้อย การได้มาเจอโจทย์ประเภทแก่งน้ำเชี่ยวจึงเป็นทั้งเรื่องสนุกและในขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลด้วย ยิ่งไปก็ยิ่งเจอแก่งถี่ขึ้น ต้องคอยคัดซ้ายคัดขวาเพื่อให้เรือไหลไปตามร่องน้ำตามที่วางแผนไว้ในใจ พวกเราร้องตะโกนด้วยความดีใจเวลาที่สามารถผ่านแต่ละความท้าทายเล็ก ๆ เหล่านั้นได้ รู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กชายซน ๆ กันอีกครั้ง เชื่อว่าผู้ใหญ่จำนวนมากคงไม่ต่างจากผม ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งเคร่งขรึมเกินเหตุ หลงลืมการหัวเราะร่าเริงและการไม่ต้องจริงจังไปเสียทุกเรื่อง เป็นเหตุให้กลายเป็นพวกแบกโลกอยู่บ่อย ๆ จนกระทั่งเด็กน้อยถูกปลุกให้ตื่นอีกครั้งเมื่อได้กลับมาทำกิจกรรมกลางแจ้งหัวหกก้นขวิดแบบนี้

อย่างที่บอกว่าดีกรีความตื่นเต้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นเพราะลำธารสาขาไหลมาสมทบมากขึ้น ผมไม่แน่ใจนักว่าเขาจัดระดับความแรงหรือความเสี่ยงของแก่งกันอย่างไร จึงขอแบ่งแบบระดับตามความเผ็ดของพริกที่ใส่ลงไปในอาหารละกัน จากแก่งประเภทพริกเม็ดสองเม็ด พอคล้อยบ่ายจำนวนพริกขี้หนูหลายเม็ดเริ่มมากจนเผ็ดจัดจ้านแสบร้อนมากขึ้น น้ำลึกมากขึ้น สายน้ำแคบลง เพราะถูกบีบให้ไหลเข้าไปในโตรกหินผา รู้สึกได้ถึงพลังมหาศาลของมวลน้ำที่ทวีการไหลดุดันมากขึ้นตามลำดับ ผมไม่แน่ใจนัก ว่าการยอมปล่อยตัวเองและคายักผ่านลงไปในแก่งเชี่ยวกรากน้ำกระจายแตกฟองสีขาวโดยไม่ได้ตรวจสอบเสียก่อนนั้นเป็นเรื่องดีและสมควรหรือไม่ รู้แค่ว่าการไม่รู้อะไรล่วงหน้าส่งผลให้ยอมเสี่ยงกระโจนลงไปหาความท้าทายเหล่านั้น กระเด้งกระดอนคลอนแคลนเพราะเรือถูกน้ำซัดต่างระดับจนน้ำกระฉอกเข้าเรือแทบครึ่งค่อนลำ ต่อเมื่อพ้นแก่งพวกนั้นมาได้จึงยิ้มกริ่มด้วยความสะใจ ไม่ใช่เพราะชะล่าใจว่าสามารถเอาชนะหรือต่อกรกับธรรมชาติได้ ทว่าเป็นความภูมิใจลึก ๆ ที่สามารถสะสมทักษะการพายเรือได้มากขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้วนั่นเอง แต่สิ่งที่ตรงกันข้าม คือมีอย่างน้อยหนึ่งแก่งในวันนี้ที่ผมยอมเสียเวลากับการไปสำรวจโดยเทียบเรือแล้วเดินเลียบตลิ่งชันด้านข้าง เมื่อมองดูแก่งนั่นแล้วเกิดภาพน่ากลัวขึ้นในหัว กลายเป็นใจฝ่อไปเสียนั่น รำพึงในใจว่าถ้าไม่รู้เห็นก็สิ้นเรื่อง สู้ให้เรือพลิกคว่ำยังจะดีเสียกว่าไหม สรุปก็คือเมื่อภาพในหัวน่ากลัวกว่าความเป็นจริงผมก็เลยต้องยกสัมภาระทุกอย่างเลาะตลิ่งสูงดังกล่าว ลงไปยังท้ายแก่ง ในขณะที่บังบิ๊บอาจอาญกว่าผมหลายเท่า เขาอ่านทางน้ำแล้วตัดสินใจลุยและเขาก็ทำได้!

แล้วก็มาถึงจุดที่ผมได้รับประสบการณ์เรือคว่ำจนได้ ซึ่งก็ไม่ใช่แก่งใหญ่น่ากลัวแต่ประการใด ความท้าทายคือมันเป็นโค้งน้ำแคบหักศอก ต้องประคองตัวและวางตำแหน่งตัวเองให้ถูกต้องเพื่อให้สมดุล แต่ผมไม่รู้เทคนิค แค่แม่น้ำตบเบา ๆ ทำเอาเรือพลิก ทุกอย่างรวมทั้งตัวผมลอยตุ๊บป่อง ดีที่ใส่ชูชีพไว้ตามคำแนะนำของเพื่อน จึงลอยตัวได้สบาย พยายามคว้าเรือไว้ ส่วนรองเท้าแตะจำปล่อยให้ลอยหายไป บังบิ๊บตามมาช่วยด้วยอีกแรง เพราะถ้าเลยไปอีกหน่อยก็จะเจออีกแก่งหนึ่งแล้วนั่นเอง

โหดสุดของวันนี้คือมหาแก่ง แค่ระยะสั้น ๆ ราวยี่สิบเมตร แต่ต่างระดับราวห้าเมตรในแนวดิ่ง มันคือน้ำตกดี ๆ นี่เอง ที่สำคัญแก่งนี้ยังอยู่ในโตรกแคบ หมายถึงระดับความเผ็ดน่าจะถึงขั้นอุจจาระราดกันได้เลยทีเดียวหากริจะเล่นกับมัน ผมน่ะยอมศิโรราบแต่โดยดีอยู่แล้ว ในขณะที่บังบิ๊บเห็นว่าหากอุปกรณ์และทีมพร้อมเขาอยากวัดใจกับแก่งนี้ดูสักครั้ง ที่แน่ ๆ ไม่ใช่รอบนี้แน่นอน พวกเราจึงแบกเรือและสัมภาระลงไปยังท้ายแก่งกัน จากนั้นจึงประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้วออกพายต่อ ผ่านจุดนี้มาแล้วแม่น้ำปัตตานีก็เปิดกว้าง โตรกผาค่อย ๆ หายไป กลายเป็นตลิ่งที่เห็นไกลออกไป แม่น้ำก็เปิดกว้างขึ้น ทว่าก็ยังคงมีแก่งให้ผ่านกันอีกหลายแก่ง อากาศเริ่มเย็น อาทิตย์ลับขอบฟ้า ความมืดเริ่มปกคลุมทั่วบริเวณ พวกเรายังคงไม่

“เมื่อ...เลือกทำในสิ่งที่รัก ไม่ใช่สิ่งที่เรียนมา”

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ประโยคที่ทุกคนในวัยเด็กต้องผ่านการตอบคำถามนี้ ประกอบกับท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และจนถึงวันนี้ที่เราต้องอยู่ในสภาวะปกติใหม่ (New Normal) ทำให้อาชีพทุกวันนี้ หลากหลายและมีทางเลือกมากขึ้น บางคนได้ทำในสิ่งที่เรียนมาตรงสาย บางคนอาจจะค้นพบตัวเองหลังจากที่เรียนจบแล้ว ในความเป็นจริงไม่มีสูตรตายตัวสำหรับโลกของการทำงาน

แต่เราต้องทำตัวเองให้พร้อม เพื่อจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ศิลปิน ดารา นักแสดงหลาย ๆ คน ก็ไม่ได้เรียนมาทางนิเทศศาสตร์ แต่ผันตัวเองมาสู่การทำงานในวงการบันเทิง เช่น โดม จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม จบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์

แต่ด้วยความรักในเสียงเพลง ทำให้โดม ก็มุ่งมั่นงานวงการบันเทิง จนปัจจุบันเปิดค่ายเพลงเป็นของตัวเองกับค่าย LIT ENTERTAINMENT ปั้นเด็กใหม่ให้วงการ T-POP แม้เจ้าตัวจะไม่ได้เรียนทางสายดนตรีมา แต่เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์การทำงานมาใช้ในการบริการค่ายเพลง และยังได้นำความรู้จากตอนเรียนมาช่วยเรื่องการทำสัญญา เรื่องลิขสิทธิ์เพลง และแนวคิดในการใช้ชีวิตเรื่องของเหตุและผลต่าง ๆ ที่ปรับเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน

จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าองค์ความรู้ที่เราเรียนมาก็ไม่ได้หล่นหายไปไหน เพียงแค่ความรู้ถูกแปลงไปใช้งานตามสถานการณ์ที่เราได้เจอ เช่นเดียวกันกับอีกหนึ่งศิลปินที่เรียนมาคนละสายกับงานที่ทำในปัจจุบัน ได้แก่ ณัฐ ศักดาทร จบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และก้าวเข้ามาสู่วงการบันเทิง ในการเป็นนักร้อง นักแสดง โดยในงานประชุมวิชาการ “นักเศรษฐศาสตร์และผองเพื่อน” ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศีนครินทร์วิโรฒ ณัฐ ศักดาทร ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ตอนที่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เป็นสาขาที่คิดว่าน่าจะสามารถไปประยุกต์ใช้กับสิ่งที่ต่าง ๆ ได้ง่ายในชีวิต โดยสิ่งที่เรียนมาแล้วได้ใช้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ ทุกวันเลยคือเรื่อง opportunity cost (ต้นทุนค่าเสียโอกาส) การเลือกซื้อของบางอย่าง เราก็จะต้องแลกกับเงินที่จะไม่ได้ซื้อของบางอย่าง เพราะเรามีทรัพยากรที่จำกัด ซึ่งทรัพยากรตรงนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่รวมถึงเรื่องเวลาด้วย คนเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน อยู่ที่เราเลือกที่จะทำอะไร ถ้าเราเลือกที่จะเล่นโซเชียลมีเดีย เราก็อาจจะเสียโอกาสในการออกกำลังกาย หรือการพัฒนาทักษะอื่น ๆ” ซึ่งก่อนหน้านี้ ในรายการตามสัญญา ทางช่อง PPTV ณัฐ ศักดาทร ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เคยติดโซเชียลมีเดีย ถึงขั้นต้องพบจิตแพทย์มาแล้ว ดังนั้น การนำหลักคิดเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาสมาใช้ บางทีก็ทำให้เราแยกออกว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรที่จะต้องทำมากกว่ากัน

ณัฐ ศักดาทร ยังทิ้งท้ายไว้ในงานประชุมวิชาการว่า “การเรียนเศรษศาสตร์มาทำให้เรามีความคิดแบบนี้ตลอดเวลา ในการคิดเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาส และการเรียนเศรษฐศาสตร์พอเข้ามาทำงานในวงการบันเทิง มันยังอยู่ในกระบวนการคิดทุก ๆ วัน และการทำงานในวงการบันเทิงมันมีอะไรที่สนับสนุนกันอยู่”

แม้วันนี้ หลาย ๆ คนที่เรียนจบไปแล้ว เราอาจจะไม่ได้เรียนมาตรงกับสิ่งที่เราชอบ หรือไม่ได้ทำตามคำตอบของคำถามที่ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” แต่เราสามารถพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งที่เราชอบได้ ฝึกฝน เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เพื่อให้เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก และความรู้ที่เกิดขึ้นที่เราได้สั่งสมมา วันนี้อาจจะยังไม่ได้หยิบมันขึ้นมาใช้งาน แต่ไม่แน่ว่าอนาคตข้างหน้า เราอาจจะได้รื้อฟื้นกล่องความทรงจำความรู้นั้น ๆ มาใช้แบบไม่รู้ตัว ...


ข้อมูลอ้างอิง

สัมภาษณ์ : จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม

https://www.pptvhd36.com/programs/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B9%89/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2/79328#part-1

https://www.sanook.com/campus/1404051/

Game Changer ของวิกฤติ Covid-19

อินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก 60% ของวัคซีนที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ผลิตในอินเดีย และ 2 ใน 3 ของเด็ก และ ทารกทั่วโลก ต้องเคยได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 ชนิดที่ผลิตในอินเดีย

และวันนี้ อินเดียกำลังจะกลายเป็นผู้ผลิตวัคซีน Covid - 19 ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว ที่คาดหมายว่าจะเป็นจุดพลิกชะตา จบเกมส์ Covid-19 ได้เลยทีเดียว ที่หลายฝ่ายมั่นใจเช่นนี้ เพราะปรัชญาการผลิตเวชภัณฑ์ของรัฐบาลอินเดีย มีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกระดับชั้น โดยเฉพาะ ชาวอินเดียที่มีความหลากหลายในวรรณะ และชาติพันธุ์ ที่อยู่รวมกันมากถึง 1.3 พันล้านคน

ซึ่งปรัชญานี้ ก็ใช้กับการผลิตวัคซีน Covid-19 วัคซีนซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลกแล้วในขณะนี้

และหากพูดถึงการผลิตวัคซีน Covid-19 ในอินเดีย บริษัทที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลยก็คือ Serum Institute of India หรือ SII บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย และเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญที่ร่วมในการทดลองและพัฒนาวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca

SII ตั้งเป้าหมายในการผลิตวัคซีน AstraZeneca ให้ได้ถึง 1 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2021 รวมทั้ง ยังต้องผลิตวัคซีนเข้าโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกถึง 200 ล้านโดส เพื่อแจกจ่ายให้กับประเทศในโลกที่ 3

บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่เข้ามารับภารกิจระดับโลกครั้งนี้ มีที่มาเช่นไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก Serum Institute of India - SII กัน

จุดเริ่มต้นของบริษัท Serum Institute of India เกิดจาก ครอบครัวผู้เพาะพันธุ์ม้าในเมืองปูเน่ รัฐมหาราษฎระ ทางตะวันตกของอินเดีย โดยนาย ไซปรัส ปูนะวัลลา รับหน้าที่ดูแลคอกม้าให้พ่อ แต่มาวันหนึ่ง แม่ม้าตัวหนึ่งของเขาโดนงูกัด แล้วเขาได้พยายามติดต่อสัตวแพทย์ หาเซรุ่มแก้พิษงูมาฉีดให้ม้า แต่ปรากฏว่าทั้งเมืองหาเซรุ่มไม่ได้ ศูนย์เซรุ่มที่อยู่ใกล้ที่สุดคือบอมเบย์ ที่ห่างไปไกลเกิน 100 กิโลเมตร และต้องรอเจ้าหน้าที่รัฐอนุมัติเสียก่อนถึงจะเบิกเซรุ่มมาใช้ได้

การสื่อสารก็ติดขัด หน่วยงานราชการทำงานล่าช้ามาก และหากจำเป็นต้องสั่งเซรุ่มจากต่างประเทศ ก็ราคาสูงมาก จนเขาไม่คิดว่าคนยากจน ที่ถูกงูกัดจะสามารถซื้อได้

และกว่าจะได้เซรุ่มมา ใช้เวลานานถึง 4 วัน ซึ่งไม่ทันที่จะช่วยชีวิตแม่ม้าของเขาได้ ความเสียใจนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปณิธานของเขาว่า เขาจะตั้งโรงงานผลิตวัคซีน และเซรุ่ม ในราคาถูก มีคุณภาพดี และมีปริมาณเพียงพอให้ชาวอินเดียสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ไม่ว่าจะยากจนแค่ไหน

ครอบครัวปูนะวัลลา ก็ได้ลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีน Serum Institute of India (SII) ในปี 1966 ที่ผลิตตั้งแต่เซรุ่มแก้พิษงู วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ บาดทะยัก โรคหัด ไข้หวัดใหญ่ และอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ในราคาประหยัด แต่ได้มาตรฐานสูง รับประกันคุณภาพผลงานด้วยการได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตยา และวัคซีนให้แก่องค์กรระดับโลก อย่างองค์การอนามัยโลก Unicef Pan American Health Organization และอีกหลายองค์กร

จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2020 ทางบริษัทก็ได้รับการติดต่อจาก AstraZeneca ที่กำลังพัฒนาวัคซีนต้าน Covid-19 และต้องการให้ SII ร่วมทดสอบวัคซีน และเป็นฐานการผลิตให้กับ AstraZeneca หลังจากผ่านการทดสอบขั้นสุดท้าย

ซึ่งทางครอบครัวปูนะวัลลา ที่ปัจจุบัน อดาร์ ปูนะวัลลา บุตรชายของนาย ไซปรัส ผู้ก่อตั้ง เป็นผู้สืบทอดกิจการ และดำรงตำแหน่งประธานบริหารสูงสุด ก็รู้ทันทีว่าข้อตกลงครั้งนี้ พ่วงมาด้วยความกดดันในทุกขั้นตอนของการผลิต โดยต้องประสานงานกับโรงพยาบาลกลางในเมืองปูเน่ ในการทดลองวัคซีนให้กับ AstraZeneca ในเฟส 2 และ 3 เพื่อดูผลการทดสอบอย่างใกล้ชิด

เมื่อมีการรับรองผลการทดสอบวัคซีนในขั้นสุดท้ายแล้ว SII ก็ได้รับใบอนุญาตในการผลิตวัคซีน AstraZenca ทันทีภายใต้ชื่อวัคซีน Covashield ในช่วงที่อินเดียกำลังเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่ ของการแพร่ระบาดของ Covid-19 พอดี ที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ของโลก

SII ต้องเร่งขยายฐานการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณที่ต้องผลิตวัคซีน Covid-19 ที่ไม่ใช่แค่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ต้องผลิตให้มากพอที่จะส่งให้กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย

อดาร์ ปูนะวัลลา เล่าว่า แค่เพิ่มสต็อคขวดบรรจุวัคซีนเพียงอย่างเดียว ทางบริษัทต้องลงทุนเพิ่มอีกหลายสิบล้านดอลลาร์ ยังไม่รวมการเพิ่มแรงงาน ที่ทำงานกันไม่หยุด 7 วัน 24 ชั่วโมง และทุกวันก่อนเที่ยงคืน ก็จะมีข้อความผ่านทาง WhatApp จาก ด็อกเตอร์ เค. วิชัยราฆวัน ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ เพื่อติดตามรายงานความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนให้กับรัฐบาลเป็นประจำ ถึงจะมีการเตรียมงานอย่างดี และมีประสบการณ์ในด้านการผลิตวัคซีนมานานกว่า 50 ปี แต่กลับมีอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อโรงงานหลังหนึ่งของ SII ถูกไฟไหม้! เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2021

ความรุนแรงของเหตุไฟไหม้ ทำลายบางส่วนของอาคารโรงงาน และมีผู้เสียชีวิตในโรงงานถึง 5 คน ซึ่งโรงงานนั้นก็เป็นหนึ่งในฝ่ายการผลิตวัคซีน AstraZeneca

แม้จะไม่ทราบสาเหตุของต้นเพลิง แต่ SII ยังต้องเดินหน้าการผลิตวัคซีนตามเป้าหมายต่อไป ยังโชคดีที่สามารถควบคุมเพลิงได้เร็ว ทำให้โรงงานส่วนใหญ่ไม่เสียหายมากนัก จึงยังคงดำเนินการผลิตต่อไปได้

แม้ในวันนี้ SII ยังคงเร่งผลิตวัคซีน AstraZenca อย่างต่อเนื่องด้วยความเร็ว 5,000 ขวดต่อนาที กับแรงงานของพนักงานหลายร้อยชีวิตที่นี่ ต่างทำงานอย่างขมักเขม้น ที่พวกเขาต่างตระหนักรู้ว่า นี่ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อผลิตสินค้า แต่เป็นการต่อสู้กับภัยโรคระบาดระดับโลก ซึ่งทาง SII มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตวัคซีนให้ได้ 1 พันล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน

และนอกจากจะผลิตวัคซีน AstraZeneca แล้ว SII ก็เพิ่งเซ็นข้อตกลงร่วมพัฒนาวัคซีน Covid-19 ให้อีก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Novavax ที่อยู่ขั้นการทดลองวัคซีนช่วงสุดท้ายแล้ว และคาดหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของวัคซีนราคาประหยัด และสามารถเก็บได้ในตู้แช่ทั่วไปได้ เช่นเดียวกับ AstraZeneca และ ล่าสุด Codagenix วัคซีน Covid-19 รุ่นใหม่ ที่ใช้หยอดทางจมูกแทนการฉีดเข้าร่างกาย

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่ไปในทิศทางเดียวกันทั้งภาครัฐ และ เอกชน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมอินเดีย ถึงได้รับฉายาว่าเป็นคลังวัคซีนโลก แต่จะเป็นผู้ปิดเกมส์เจ้าไวรัส Covid-19 ได้จริง ๆ อย่างที่หลายคนคาดไว้หรือไม่ คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ที่สามารถยืนยันได้แล้วในตอนนี้ คือ อินเดีย สามารถพลิกวิกฤติ Covid-19 ให้กลายเป็นโอกาสให้กับเศรษฐกิจอินเดีย และเป็นหนึ่งในผู้ที่มอบแสงสว่างในปลายอุโมงค์ให้แก่ประชาชนในประเทศยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน Covid-19 ได้นับล้านคนทั่วโลกทีเดียว


อ้างอิง

https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-india-serum-insigh/how-one-indian-company-could-be-worlds-door-to-a-covid-19-vaccine-idINKBN22Y2BI?edition-redirect=in

https://www.straitstimes.com/asia/south-asia/indias-serum-institute-a-look-inside-the-worlds-biggest-covid-19-vaccine-factory

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/03/18/978065736/indias-role-in-covid-19-vaccine-production-is-getting-even-bigger

https://en.wikipedia.org/wiki/Serum_Institute_of_India

8 ท่าโยคะอย่างง่าย ทำเองได้ที่บ้าน ป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม

ในยุคที่มีการแข่งขันสูง การใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ การทำงานด้วยความเครียด และการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆทำให้ทุกคนใช้เวลาในแต่ละวันอย่างน้อย 8 - 9 ชั่วโมงในการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ใช้มือถือ แทปเลต ประกอบกับท่านั่งที่ไม่เหมาะสม จึงเกิดการใช้งานกล้ามเนื้อแบบผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อสูญเสียความยืดหยุ่น ร่วมกับการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน ส่งผลไปยังข้อต่อและกระดูกต่าง ๆ บางคนอาจมีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจากการปวดบริเวณกล้ามเนื้อคอลุกลามไปยังกล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ โดยการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจากการทำงานเรียกว่า “โรคออฟฟิศซินโดรม”

ข้อแนะนำสำหรับผู้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

พักยืดเส้นยืดสาย หรือลุกขึ้นจากเก้าอี้และเปลี่ยนอิริยาบททุก 1 ชั่วโมง เปลี่ยนจากการจ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วมองไปยังพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้

ปรับสภาพโต๊ะทำงานให้เหมาะสม ระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์, คีย์บอร์ดและการวางเม้าส์อยู่ในองศาการใช้งานที่ถูกต้องตามสรีระ

ปรับความสูงของเก้าอี้พนักพิง มีการเสริมหมอนหนุนหลังเพื่อให้นั่งสบายขึ้นและเลือกใช้เก้าอี้ที่มีที่วางแขน

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ไม่นั่งหลังค่อม ไม่ห่อไหล่

ท่าโยคะอย่างง่ายป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม

ท่าแรก

: นอนคว่ำ วางแขนห่างกันเท่าความกว้างของหัวไหล่ ใช้มือดันตัวขึ้น

: เหยียดข้อศอก ยกศีรษะ ไหล่ หน้าอก เอว ให้สูงขึ้นเงยหน้าไปด้านหลัง

: สะโพกด้านหน้า ต้นขา และเท้า วางราบกับพื้น

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณหลังและหน้าท้องเล็กน้อย หายใจเข้าออกปกติ ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

ท่าที่สอง

: นอนหงาย ยกขาขึ้น2ข้าง (ถ้าตึงมากให้ยกทีละข้าง)

: พยายามใช้มือแตะปลายเท้า ถ้าไม่ถึงให้ใช้ผ้าขนหนูคล้องปลายเท้า

: ออกแรงดึงขายกสูงขึ้นมาทางศีรษะโดยให้เข่าเหยียดตรงตลอด

: สะโพกลอยพ้นพื้นเล็กน้อย คอและไหล่วางบนพื้นด้วยความผ่อนคลาย

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อขาโดยเฉพาะด้านหลังของเข่า ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

ท่าที่สาม

: นั่งขัดสมาธิ หลังตรง มือสอดใต้สะโพก (นั่งทับ)

: ก้มศีรษะเล็กน้อย เอียงศีรษะทางซ้าย มือซ้ายจับศีรษะ กางศอกออก กดลงเบาๆ

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อคอและบ่าด้านตรงข้าม ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน

ท่าที่สี่ : นั่งขัดสมาธิ หลังตรง มือสอดใต้สะโพก (นั่งทับ)

: ก้มศีรษะลงกดคางชิดอก เอียงศีรษะทางซ้าย มือซ้ายจับศีรษะ กดศอกเอียงด้านหน้า

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณคอสะบักขวา ค้างไว้ 10 - 20 วินาที แล้วตั้งศีรษะตรง ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน นั่งทับมือซ้าย แล้วก้มเอียงศีรษะทางขวา มือขวาออกแรงกดเบาๆ

ท่าที่ห้า : นั่งขัดสมาธิ หลังตรง พาดแขนซ้ายมาด้านหน้าอก

: นำศอกขวากดศอกซ้าย เข้าหาไหล่ขวา หันหน้าไปทางด้านซ้าย

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณต้นแขนด้านหลังและสะบัก ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน แขนขวาพาดด้านหน้า ศอกซ้ายกดหาไหล่ซ้าย หันหน้าไปทางขวา

ท่าที่หก : นั่งขัดสมาธิ หลังตรง ประสานมือทั้ง 2 ข้างด้านหลัง บีบมือเข้าหากันให้แน่น

: ยืดอก ยืดหลังขึ้น บีบสะบักเข้าหากัน ดันแขนออกไปไกลลำตัวให้มากที่สุด

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณต้นแขน หน้าอกและสะบัก ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

ท่าที่เจ็ด : นั่งหลังตรง เหยียดขาซ้ายไปด้านหน้า ขาขวาข้ามวางข้างเข่าซ้ายด้านนอก

: ศอกซ้ายออกแรงดันเข่าขวาไปทางซ้าย บิดตัวไปทางขวาให้มากที่สุด

: มือขวาวางด้านหลัง หันหน้ามองข้ามไหล่ขวาไปด้านหลัง

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณสะโพกและลำตัวด้านข้างขวา ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน เหยียดขาขวา งอเข่าซ้าย ศอกขวาออกแรงดัน บิดตัวไปทางซ้าย

ท่าที่แปด : นั่งขัดสมาธิ หลังตรง จากนั้นเหยียดขาขวาออกไปด้านข้างให้ตั้งฉากมากที่สุด

: มือขวาจับเข่าซ้าย บิดตัวไปทางซ้าย ยกมือซ้ายขึ้นแนบหู เอื้อมหลังศีรษะไปจับปลายเท้าขวา

: ถ้าตึงขาหรือลำตัวมาก จับไม่ถึง ให้ใช้ผ้าคล้องปลายเท้าขวาช่วยได้

: ท่านี้จะรู้สึกตึงลำตัวและต้นแขนซ้าย ต้นขาหลังและน่องขวา ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน งอเข่าขวา เหยียดขาซ้าย มือซ้ายจับเข่าขวา มือขวาจับปลายเท้าซ้าย

นาคในพม่า ตำนานที่มีตัวตน

“นาค” เป็นสัตว์ที่มีอยู่ในตำนานของพระพุทธศาสนา และผูกพันกับคนไทย ลาว และเขมรหรือเราเรียกว่าผู้คนลุ่มน้ำโขงมาช้านาน ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้พิทักษ์ศาสนสถานและโบราณสถานต่าง ๆ แต่ต้นกำเนิดของคำว่านาคนั้นห่างไทย ลาว และเขมรมาก ลึกเข้าไปในดินแดนที่เป็นพรมแดนอินเดียและเมียนมาร์ในปัจจุบัน และพวกเขายังมีตัวตนอยู่ พวกเขาคือ “เหล่านาคา”

เผ่านาคา หรือนากา เป็นชนเผ่าโบราณเชื่อว่ามีมาก่อนสมัยพุทธกาลอาศัยอยู่บริเวณรัฐมณีปุระ (Manipur) รัฐอรัณาจัล ประเทศ (Arunachal Pradesh) และรัฐอัสสัม (Assam) ในอินเดีย จวบจนถึงรัฐสะกาย (Sagaing) และรัฐคะฉิ่น (Kachin) ในเมียนมาร์แต่สถานที่ที่มีชาวนาคาอยู่มากที่สุดคือ นากานาคาแลนด์ได้รับการจัดตั้ง ขึ้นเป็นรัฐที่ 16 ของประเทศอินเดียในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2506

โดยแบ่งการปกครองภายในออกเป็น 11 เขต อันได้แก่ Kohima (เมืองหลวง), Phek, Mokokchung, Wokha, Zunheboto, Tuensang, Mon, Dimapur, Kiphire, Longleng และ Peren สภาพภูมิประเทศของนากาแลนด์ส่วนใหญ่มีพื้นที่เป็นภูเขา โดยมีเทือกเขา Naga Hills เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียง ใต้ของรัฐนาคาแลนด์ มีจุดที่สูงที่สุด คือ ภูเขาสรามาติ (Mount Saramati) ซึ่งมีความสูง 3,826 เมตร อีกทั้งเทือกเขานากา นี้ยังเชื่อมต่อกับทิวเขา Patkai ของประเทศเมียนม่าร์อีกด้วย เผ่านาคาไม่ใช่ชนเผ่าศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

เผ่านากาก็เฉกเช่นชนกลุ่มน้อยทั่วไปซึ่งมีหลายกลุ่ม โดยจะแบ่งเผ่านากาใหญ่ ๆ ในเมียนมาร์ได้เป็น 8 กลุ่มแยกตามภาษาที่สื่อสารคือ Konyak, Lainong, Makury, Nokko, Para, Somra Tangkhul, Tangshang, Anal Naga นอกจาก 8 กลุ่มนี้แล้วยังมีกลุ่มย่อย ๆ อีกมากมาย ส่วนชาวนากาในอินเดียนั้นประกอบไปด้วยประชากรที่เป็น ชนเผ่า หลัก 16 เผ่า และ เผ่าย่อย ๆ อีกมากมาย ภาษา ท้องถิ่นที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างชาวนากาแลนด์จึงมีมากถึง 60 ภาษา ทั้งหมดอยู่ในตระกูลภาษา Tibeto – Burman ดังนั้นการสื่อสารระหว่างเผ่า และ ภาษาราชการในนากาแลนด์จึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสาร

สาเหตุว่าทำไมคนในอดีตถึงเรียกเผ่านี้ว่าเผ่านากา มีปรากฎในงานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวไว้ในความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2519 อธิบายความหมายของคำว่า “นากา” หรือ “นาค” ไว้ดังนี้ คือ ‘ชาวอารยันยุคโบราณ สมัยที่ยังไม่เกิดเป็นรัฐประชาชาตินั้น มีการเหยียดหยามดูถูกพวกนาคมาก ถือเป็นพวกลักขะพวกหนึ่ง และคำเรียกชื่อชนชาติก็กล่าวกันว่ามาจากภาษาอัสสัม ซึ่งเขียน naga แต่อ่านออกเสียงเป็น นอค (noga) แปลว่า เปลือย แก้ผ้า บ้างก็มาจากภาษาฮินดูสตานีว่า นัค (nag) แปลว่า คนชาวเขา ในขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ในนาคในประวัติศาสตร์อุษาอาคเนย์ ตีพิมพ์โดยมติชน เมื่อปี พ.ศ. 2546 สรุปความว่า สังคมอินเดียเมื่อสมัยพุทธกาลมีการเหยียดหยามคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่มีอารยธรรมด้อยกว่าตน เหยียดลงให้เป็นผี เป็นสัตว์ เป็นยักษ์ ไม่อาจเทียบชั้นกับพวกตนที่เป็นมนุษย์ได้ โดยเฉพาะการไม่ยอมรับชนเผ่านาคหรือนาคาว่าเป็นมนุษย์ แม้จะพูดคุยภาษามนุษย์ด้วยกันรู้เรื่อง โดยมองพวกเขาเป็นเพียงสัตว์อย่างลิงค่างบ่างชะนีป่าเถื่อน จึงไม่ยอมรับให้ชนเผ่านาคหรือนาคาเข้าอุปสมบทในพุทธศาสนา

เป็นความเชื่อกันว่า คำว่า “นากา” หรือ “นาค” เป็นคำในภาษาอินเดียซึ่งใช้เรียกชนกลุ่มน้อยของตนที่ถูกมองว่ามีอารยธรรมต่ำต้อยกว่าในเชิงดูถูก ในขณะที่บางท่านเชื่อว่า คำว่า “นากา หรือ นาค” นี้ ชาวอินเดียหมายถึงผู้คนในแถบอุษาคเนย์ทั้งหลายด้วย เป็นลักษณะของพวกคนเถื่อนไม่นุ่งผ้าไร้อารยธรรมนั่นเอง แต่ก็ได้หลักฐานทางวิชาการอีกฝ่ายกล่าวว่า คำว่า “นากา” (Naga) เป็นคำที่มาจากคำว่า “Naka” ในภาษาพม่า แปลว่า “ผู้ที่เจาะจมูก”… ก็เพราะชาวนาคาในอดีตเจาะจมูกห้อยห่วงไว้ตามขนบประเพณีของพวกเขานั่นเอง

แต่หากมองจากอีกมุมจะเห็นว่าเผ่านากา หรือ นาคนั้นเป็นชนเผ่าที่มีการรักษาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่นผ่านกาลเวลาและภูมิประเทศแม้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 แผ่นดินแต่มิอาจแบ่งแยกวัฒนธรรมของเผ่านากาได้

ปัจจุบันมีพิธี Hornbill Festival ในอินเดียเป็นงานมหกรรมวัฒนธรรมประจำรัฐที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวนากาแลนด์ จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 1 - 7 ธ.ค.ของทุกปี (วันที่ 1 ธ.ค.เป็นวันก่อตั้งรัฐนากาแลนด์) ชื่องานนี้แปลตรงตัวว่า “เทศกาลนกเงือก” ส่วนในเมียนมาร์นั้นมีงานเทศกาลปีใหม่ของชาวนากาที่จัดขึ้นทุกเดือนมกราคมของทุกปีช่วงหลังเก็บเกี่ยว

ในอดีตก่อนที่จะมีนากาแลนด์ชาวนากาคือนักรบผู้ยิ่งใหญ่หลายคนรู้จักพวกเขาในนามนักล่าหัวคนและหลังจากที่อินเดียพยายามผนวกดินแดนนากาแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียนั้น พวกเขาก็ต่อสู้เพื่อเอกราชของเขามาตลอดจนอินเดียเลือกที่จะทำสนธิสัญญาหยุดยิงและให้มอบนากาแลนด์ให้เป็นเขตพื้นที่ปกครองตนเองเช่นเดียวกับฝั่งเมียนมาร์ที่มอบพื้นที่ให้เป็นเขตปกครองตนเองนากาเช่นกัน


ขอบคุณข้อมูลจาก

1. เพจศิลปะวัฒธรรมเวปไซต์วิกิพีเดีย

2. เวปไซต์วิกิพีเดีย

3. เวปไซต์สถานทูตไทยในกรุงเดลฮี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top